เชื่อมสัมพันธ์
นักเรียน กับ ผู้ปกครอง
ด้วย “ใบงานสร้างสัมพันธ์”

ครูหนูนา (รจนา ประไพมาลี)

ครูผู้สอนและนักเรียนต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของปลายทางแห่งความสำเร็จทางการศึกษา แต่ พ่อแม่-ผู้ปกครอง คือตัวแปรสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการส่งเสริมให้การเรียนการสอนสัมฤทธิ์ผลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่นักเรียนส่วนใหญ่ต้องเรียนจากที่บ้านและใช้เวลาอยู่บ้านมากกว่าอยู่ในห้องเรียน

เมื่อพบว่าความไม่เข้าใจหรือความไม่รู้ เพราะขาดการสื่อสารกันระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครอง กับนักเรียน กลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน “ครูหนูนา-รจนา ประไพมาลี” ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่น 6 จึงนำเสียงสะท้อนเล็กๆ ของเด็กนักเรียนมาเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดหาวิธีแก้ไข เพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียนสื่อสารกันมากขึ้น เพราะความเข้าใจ การให้การสนับสนุน และการให้ความสำคัญในการเรียนการสอนจากพ่อแม่ คือพลังสำคัญไม่น้อยไปกว่าครูในโรงเรียน

“จากเสียงเล็กๆ ของนักเรียนที่ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยความรู้สึกอึดอัดใจให้ฟังว่า ‘หนูอยากเรียนเภสัช แต่ที่บ้านอยากให้เรียนบัญชีมากกว่า เพราะเขาเข้าใจว่าเรียนบัญชีจะมีโอกาสในการหางานทำได้มากกว่า’ สำหรับครูแล้ว มันคือปัญหาที่ไม่ควรวางเฉยและปล่อยให้เป็นเพียงเสียงเล่าผ่านหูที่สุดท้ายก็เลือนหายไป เราจึงนำเรื่องนี้มาไตร่ตรองทบทวนดู และพบว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจของผู้ปกครองที่น่าจะมาจากการขาดการสื่อสารและทำความเข้าใจระหว่างกันในครอบครัว”

ครูหนูนาเล่าถึงที่มาในการทำ “ใบงานสร้างสัมพันธ์” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เธอตั้งใจทำขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครองให้สามารถเชื่อมโยงและนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างความสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“เราเข้าใจดีว่า การได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนย่อมส่งผลที่ดีกว่า เพราะการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสนใจจะทำให้นักเรียนมีทั้งความตั้งใจ มีแรงจูงใจให้รู้สึกสนุก มีความสุขกับการเรียน และส่งผลให้ผลการเรียนออกมาได้ดี ซึ่งการที่ผู้ปกครองพูดกับเด็กแบบนั้น อาจเกิดจากความไม่เข้าใจ

ดังนั้น เราจึงพยายามสร้างความเข้าใจ โดยให้ผู้ปกครองได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการเรียนหนังสือของเด็ก ผ่าน ‘ใบงาน’ ที่เราออกแบบให้เด็กประเมินความเข้าใจบทเรียนของตัวเองว่า เขาเข้าใจมากน้อยแค่ไหน และให้เขาได้ประเมินการสอนของครูด้วยว่า สามารถถ่ายทอดให้เขาเข้าใจมากน้อยเพียงใด รวมถึงให้แสดงความคิดเห็นว่า นักเรียนต้องการให้ครูทำอะไรบ้าง

นอกจากใบงานนี้จะช่วยให้นักเรียนและตัวเราประเมินตัวเองได้แล้ว ยังเป็นสื่อที่ช่วยให้ผู้ปกครองรับรู้ทั้งสิ่งที่ลูกหลานได้เรียนและความคิดของเด็กๆ ด้วย พร้อมทั้งมีพื้นที่ให้ผู้ปกครองสามารถสื่อสารความคิดและความคาดหวังที่มีให้ครูและลูกหลานได้รับรู้ด้วยเช่นกัน”

ใบงานสร้างสัมพันธ์ที่ครูหนูนาสร้างสรรค์ขึ้นได้กลายเป็นสื่อกลาง ที่ช่วยให้นักเรียนรับรู้ได้ถึงความปรารถนาดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองมี และช่วยให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการเรียนของบุตรหลานด้วย

“ใบงานแต่ละครั้งจะออกแบบไปตามเนื้อหาของบทเรียน ซึ่งเนื้อหาไหนที่เราประเมินดูแล้วว่าสามารถให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วม เราก็จะพยายามดึงให้เขาเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น บทเรียนเรื่องพันธุกรรมซึ่งมีเรื่องของกรุ๊ปเลือดที่นักเรียนต้องเรียนรู้ เราจึงทำใบงานให้เขาได้สอบถามพูดคุยกับพ่อแม่ว่า แต่ละคนมีเลือดกรุ๊ปอะไร แม้ว่าเด็กบางคนจะไม่รู้กรุ๊ปเลือดของตัวเอง แต่เค้าก็สามารถอนุมานได้ว่าหากพ่อแม่มีเลือดกรุ๊ปนี้ ตัวเขาน่าจะมีเลือดกรุ๊ปอะไร แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ แต่ก็ช่วยให้เด็กและผู้ปกครองได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น”

ในช่วงที่มีการใช้ใบงานสร้างสัมพันธ์จึงทำให้เห็นได้ชัดว่า ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง เรียนรู้ที่จะสื่อสารกันชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้นักเรียนตั้งใจเรียน ทำการบ้าน และทบทวนบทเรียนมากขึ้น ครูผู้สอนได้รับรู้ความสัมฤทธิ์ผลในการสอนของตัวเอง และผู้ปกครองได้รับรู้ว่า ลูกเรียนสิ่งใดบ้าง อีกทั้งยังได้แสดงความรู้สึกให้ทั้งลูกและครูรู้ว่ามีความคาดหวังอะไร

ทั้งหมดนี้ แม้ครูหนูนาจะบอกว่าเป็นเพียงเรื่องราวเล็กๆ ที่อาจได้รับความร่วมมือจากทั้งนักเรียนและผู้ปกครองเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า

การจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จที่ตั้งใจไว้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยครูและนักเรียนเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยแรงสนับสนุน ความเข้าใจ และการให้ความร่วมมือของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นฟันเฟืองสำคัญด้วยเช่นกัน