มุมมองจากนักเรียนสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง: เสริมพลังเยาวชนในเมืองแห่งการเรียนรู้

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2567 ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership) ได้จัดงาน “TEP Forum สร้างประเทศไทยเป็นสังคมการเรียนรู้ : เรียนรู้สู่สมรรถนะอย่างไร้รอยต่อ” เป็นเวทีที่ภาคีเครือข่ายการศึกษาได้ร่วมออกแบบแสดงความคิดเห็น และสะท้อนความต้องการจากผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไปยังผู้กำหนดนโยบาย ในงานนี้ “บุ๊คบิ๊ก” – เติมพงศ์​ กิจจานุลักษ์ ศิษย์เก่าครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 5 ได้ร่วมเป็นผู้พูด (speaker) ในช่วง TEP Talk ภายใต้หัวข้อ “มุมมองจากนักเรียนสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง: เสริมพลังเยาวชนในเมืองแห่งการเรียนรู้” บอกเล่าเรื่องราวการเดินทาง 2 ปีในฐานะครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่นำมาสู่การทำงานพัฒนาศักยภาพเยาวชนในปัจจุบัน

     “เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเข้าค่าย Youth Camp ซึ่งได้กลายเป็นแรงสนับสนุน (support system) ทำให้ผมมีความมั่นใจ กล้าผิดพลาดและเรียนรู้เสมอมา”

     “เมื่อเรียนจบปี 4 ผมได้เข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง 2 ปีของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และได้ชวนนักเรียนของผมตั้งชมรม ‘TED Club’ ภายใต้การดูแลของ TEDxBangkok เพื่อให้นักเรียนมีพื้นที่ปลอดภัย ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง และมีพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้ครูและเพื่อนๆ ได้รับฟัง” บุ๊คบิ๊กเล่าถึงประสบการณ์การทำงานกับนักเรียน ที่โรงเรียนมัธยมวัดดาวคนอง จังหวัดกรุงเทพมหานคร 

     “ในตอนท้าย สมาชิกชมรมมีความกล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมกับงานของโรงเรียนมากขึ้น มีนักเรียนคนหนึ่งที่สร้างอาชีพจากการแสดงความสามารถของตนเองได้ด้วย”

     ปัจจุบัน บุ๊คบิ๊กเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารโครงการ บริษัท ‘Youth Plus Thailand’ ธุรกิจเพื่อสังคมที่เสริมพลังและพัฒนาศักยภาพเยาวชน

     บุ๊คบิ๊ก ได้ให้ความคิดเห็นต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อพัฒนาและสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนไว้ว่า ต้องมีองค์ประกอบ 3 ข้อ โดยเปรียบเทียบกับ “สนามเด็กเล่น” เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน

     “ข้อแรก คือ ความสงสัยใคร่รู้ (curiosity) ที่เราสามารถสร้างให้กับเด็ก ๆ ผมมองว่าในยุคนี้ สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นความอยากรู้ ผมมองว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เราทำได้มากกว่าการให้ความรู้ในห้องเรียน แต่เราจะสร้างประสบการณ์อย่างไรเพื่อให้นักเรียนอยากรู้ว่าตนเองสนใจอะไร”

     “ข้อที่สอง คือ บริบท (context) ซึ่งเป็นได้ทั้งพื้นที่จริง หรือพื้นที่ออนไลน์ เมื่อเรามีเครื่องเล่นและเพื่อนที่มาเล่นด้วยกัน เราก็จะสนุกมากกว่า อยากเล่นซนบ่อยๆ เป็นสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมพลังให้กันและกัน”

     “และข้อสุดท้าย คือ พื้นที่ให้ผิดพลาด (Try to Fail) ในตอนที่เยาวชนทดลองเล่นเครื่องเล่นครั้งแรกและตกลงมา จะดีกว่าไหมหากเขามีคนที่สนับสนุนให้เขากล้าที่จะลองอีกรอบหนึ่ง มากกว่าการถูกต่อว่าที่ผลลัพธ์ว่าทำไมถึงตกลงมา จะดีกว่าไหมหากเราเป็น ‘กระบะทราย’ ที่แม้เขาจะตกลงมาจากเครื่องเล่นก็จะไม่มีบาดแผล และอยากจะลองใหม่ซ้ำๆ อีกครั้งหนึ่ง”

     ทุกวันนี้ บุ๊คบิ๊กและ Youth Plus Thailand ได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนกว่า 120 โรงเรียน และมีโครงการที่คิดค้นและดำเนินการโดยเยาวชนกว่า 28 โครงการ ซึ่งหลายโครงการยังมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

     “จะดีกว่าไหมครับ หากเราทุกคนในฐานะครู ผู้กำหนดนโยบาย หรือแม้แต่ผู้ปกครอง หันมาทบทวนบทบาทของพวกเรา ว่าจะสามารถเป็นแรงสนับสนุน (support system) ให้กับเยาวชนอย่างไรได้บ้าง โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้” บุ๊คบิ๊กทิ้งท้าย

     การศึกษาเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง และศิษย์เก่า ฯ เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่ยั่งยืนเป็นไปได้และสามารถเกิดขึ้นได้ แต่จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากผู้นำ บุคลากร และประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทย สามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพได้อย่างเสมอภาค และกำหนดอนาคตของตนเองได้

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเพื่อการศึกษาไทย ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่นี่