ครั้งแรกในภาคกลาง กับการคัดเลือกครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยชุมชน

การเป็นครูเป็นมากกว่าแค่การให้ความรู้ แต่คือการเปลี่ยนแปลงนักเรียนจากภายใน ครูที่ดีสามารถช่วยให้นักเรียนบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเอง หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงชีวิตนักเรียนได้ แต่งานของครูนั้นไม่ง่ายและต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เนื่องในโอกาสวันครู ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ขอนำเสนออีกหนึ่งโครงการ ที่สนับสนุนครู เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในห้องเรียนของตนเองได้สำเร็จ

“เพราะทุกชุมชนมีความรู้ ความสามารถ และความต้องการของตนเอง จะดีกว่าไหม หากชุมชนสามารถเลือกครู ที่จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของนักเรียนในชุมชนของพวกเขาเองได้เอง?”

ด้วยแนวคิดนี้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จึงริเริ่มจัด “โครงการคัดเลือกครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยชุมชน”  ในพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อปี 2565 โดยร่วมมือกับตัวแทนชุมชนคัดเลือกครูผู้นำฯ ที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงานในบริบทและมีความพร้อมทำงานกับคนในชุมชน เพื่อพัฒนาการศึกษาที่เหมาะสมต่อเยาวชนในพื้นที่เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งในปี 2567 นี้ ได้จัดโครงการเดียวกันในพื้นที่ภาคกลางเป็นครั้งแรก

“การที่มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ดึงคนจากชุมชนและคุณครูจากโรงเรียนมาร่วมคัดเลือกด้วยเป็นสิ่งที่ดี เพราะคุณครูจะรู้จักบริบทของโรงเรียนมากกว่า ทำให้เราสามารถถามเชิงลึกและช่วยคัดเลือกได้เหมาะสม เพื่อให้สามารถไปทำงานในโรงเรียนร่วมกันได้จริง” ครูธมลวรรณ รุ่งวิภูษณะ ครูชำนาญการจากโรงเรียนสามพรานวิทยา หนึ่งในคณะกรรมการ สะท้อนความคิดเห็นต่อโครงการ

วิธีการคัดเลือก ประกอบไปด้วยการสัมภาษณ์เดี่ยวและกลุ่ม การทดสอบสอน การสอบวัดการคิดวิเคราะห์ และการสะท้อนตนเอง เพื่อให้ผู้สมัครได้แสดงศักยภาพของตนเองมากที่สุด 

“ในการจัดโครงการนี้มีความท้าทายหลายข้อ ต้องคิดตลอดเวลาว่า เราจะสามารถจับคู่ความต้องการของผู้บริจาคกับความต้องการของครูผู้นำฯ และชุมชนได้อย่างไร รวมถึงมาตราฐานของการคัดเลือก กระบวนการคัดเลือกเพื่อให้สามารถคัดบุคลากรที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับทิศทางของโรงเรียน” กีรตา มุคขจี หัวหน้าทีมสรรหาและคัดเลือก สะท้อนความรู้สึกต่อการจัดโครงการในครั้งนี้

“เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่มีกรรมการจากชุมชนเข้าร่วมด้วย เพราะเป็นสิ่งใหม่สำหรับมูลนิธิฯ ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต” ศุลีย์ภัสร์ หอมระรื่น ศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 2 หนึ่งในคณะกรรมการ แสดงความเห็น

“ในฐานะศิษย์เก่า หากย้อนเวลากลับไปตอนเป็นครูผู้นำฯ ได้ เราก็จะพาชุมชนเข้ามาเลือกครูของพวกเขาเอง เขาก็เห็นเราบนเป้าหมายเดียวกัน และเราก็เห็นมุมมองของโรงเรียนในเวลาที่เขาตั้งคำถาม” 

“ไม่เคยสัมภาษณ์งานที่ไหนคัดเลือกเยอะขนาดนี้ เรารู้สึกว่าทีชฯ มีมาตรฐานการคัดเลือกที่เข้มงวด และเน้นให้ครูผู้นำฯ มีทักษะการสะท้อนตนเอง”

เธอเล่าต่อว่า เธอเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กำลังมองหาคนที่สามารถยืนระยะตลอดสองปี เพราะเราจะต้องมีการปรับตัวและความคิดตลอดเวลาเพื่อให้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง” 

“ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กำลังมองหาความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่ยั่งยืน และมีความยืดหยุ่น ไม่ใช่คนที่ยืนข้างหน้าเท่านั้น แต่สามารถรับฟังคนอื่น เห็นความหลากหลายได้ด้วย”

ด้วย “โครงการคัดเลือกครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 11 โดยชุมชน” นี้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เชื่อว่าเราจะได้ครูผู้นำฯ ที่ตรงกับความต้องการของชุมชน สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างแท้จริง ความสำเร็จของโครงการดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันว่า ทุกภาคส่วนของชุมชนและสังคมต่างเห็นความสำคัญของการศึกษา และสามารถร่วมมือกัน เพื่อให้วันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนมีการศึกษาคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน สามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้

บทสัมภาษณ์เพิ่มเติม

คณะกรรมการจากตัวแทนชุมชนพื้นที่ภาคกลาง

นายสมชาย  ศิริทอง 

ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์

“ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร รู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกครูทีช ฟอร์ไทยแลนด์  และรู้สึกว่าเป็นโครงการที่ดี ที่สามารถดึงบุคลากรที่ไม่ใช่ครูมามีส่วนช่วยในการศึกษา เป็นการดึงศักยภาพของอาชีพหลายๆ อาชีพ ที่อยากช่วยพัฒนาด้านการศึกษา พัฒนาศักยภาพเด็กไทย”

นางรัตนา คล้ายศรีโพธิ์

ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์

“รู้สึกดีมากเลยค่ะ รู้สึกว่าการทำอย่างนี้ตอบโจทย์สำหรับคนที่จะต้องรับคุณครูจากโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเข้าไป ทำให้มีโอกาสได้ทราบถึงวิธีการของการคัดสรรคุณครูผู้นำฯ ในโครงการ และยังเปิดโอกาสให้เราได้พัฒนาตัวเองด้านต่างๆ การตัดสินใจ การทำความเข้าใจความหลากหลายของคนอีกด้วย”

นางสาวสายถวิล แซ่ฮำ

ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนมักกะสันพิทยา

“รู้สึกดีและเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกจากชุมชน ใน 2 วันที่ผ่านมา ทำให้เราได้รู้ว่า กว่าที่จะได้เป็นคุณครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ทำให้เราได้รู้ขั้นตอนคัดเลือกของเขา ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เวลาที่เราต้องไปสื่อสารกับคุณครูในโรงเรียน จะได้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันกับทางมูลนิธิ”

นาวสาวยุพาวรรณ  กันธุระ

ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์โรงเรียนวัดรางบัว

“รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มาเป็นคณะกรรมการจากชุมชน จาก 2 วันที่ผ่านมาเห็นเกณฑ์ของทางมูลนิธิฯ ที่คิดมาอย่างเข้มข้น และคัดคนได้อย่างดี ผู้ที่เข้าร่วมโครงการก็มาจากหลากหลายสาขาวิชาและความถนัดมาก มีแต่คนเก่งๆ”