ทำไมจึงต้องพัฒนาตั้งแต่เนิ่น?

“วัยประถมเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการศึกษา หากมีรากฐานที่ดีจะช่วยให้นักเรียนก้าวหน้า ในทางกลับกัน การขาดพื้นฐานดังกล่าวจะกลายเป็นความลำบากของเขา” เสียงสะท้อนจาก ‘ยี’ – อัมรีย์ สะแปอิง ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 10 ซึ่งสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 และสอนวิชา EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ในระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 และ 3 ที่โรงเรียนวัดมาบข่า จังหวัดระยอง สอดคล้องกับการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคของนักเรียนในระดับประถมศึกษา ที่ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ได้รวบรวมจากหน่วยงานที่ทำงานเรื่องการศึกษา เด็ก และเยาวชน

     จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการศึกษาของนักเรียนในระดับประถมมีรากมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม (socio-economic challenges) ซึ่งส่งผลต่อปัญหาทางด้านการเงิน การจ่ายค่าเล่าเรียน และความเป็นอยู่ของนักเรียน ผลจากการศึกษาโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.​) พบว่า มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาจำนวนมากที่ไม่สามารถเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

     “หลายครั้งบ้านนักเรียนมีปัญหาทางด้านการเงิน ผู้ปกครองบางท่านก็ไม่มีเวลาให้นักเรียน” ‘เนย’ – ศุภกานต์ มั่นใจ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 10 ซึ่งสอนวิชา คณิตศาสตร์ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านเจดีย์แม่ครัว จังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนอุปสรรคของนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ทำให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสได้ยาก

     เนื่องจากนักเรียนของเนยประกอบไปด้วยเด็กไทย เด็กไทใหญ่ และเด็กเมียนมา เนยพบว่า อุปสรรคทางเศรษฐกิจและสังคมยิ่งทำให้นักเรียนเหล่านั้นถูกจำกัดโอกาสยิ่งขึ้นไปอีก “การไม่มีสัญชาติไทย ทำให้เด็กๆ ไม่สามารถได้ทุนการศึกษาบางทุน เข้าร่วมการแข่งขันแสดงความสามารถ หรือเดินทางออกไปต่างจังหวัดไม่ได้ค่ะ” 

     ด้วยข้อจำกัดข้างต้น อุปสรรคทางเศรษฐกิจและสังคมก็ส่งผลต่อทัศนคติของนักเรียน ทำให้พวกเขาขาดความมั่นใจ ไม่กล้าพยายาม และไม่คิดว่าตนเองจะพัฒนาขึ้นได้ “การเอาแต่บอกนักเรียนว่าเขาทำไม่ได้ หรือไม่สามารถ [พัฒนา] เป็นอย่างอื่นได้ จะทำให้เขาไม่มั่นใจในตนเอง และไม่พยายามทำต่ออีกเลย”

     นอกจากอุปสรรคด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้ว การจัดการศึกษาในโรงเรียนประถมก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โดยกว่า 83% ของโรงเรียนประถมขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขาดครู ซึ่งทำให้ครูหนึ่งคนไม่สามารถให้ความสนใจกับพัฒนาการของนักเรียนได้เต็มที่

     “ครูหนึ่งคนต้องสอนทุกวิชาเลยครับ” ยีเล่า “เขาเลยต้องเข้มงวดกับนักเรียน แต่พอดุ นักเรียนก็ดื้อใส่ เถียง และไม่เปิดใจรับสิ่งที่สอน”

     เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ข้างต้น ทั้งยีและเนยให้ความเห็นตรงกันว่า การส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกของนักเรียนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขามีมุมมองที่ดีขึ้นต่อการศึกษาและการมาโรงเรียน อาทิ การปลูกฝังให้เห็นผลดีของการพยายามเพื่อไปสู่ผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่หวังไว้

     “ช่วงวัย 5-12 ปี เป็นช่วงที่นักเรียนเริ่มเรียนรู้เหตุและผลของการกระทำและความตั้งใจของเขา” เนยเล่า “ช่วงนี้เป็นช่วงที่เขาสามารถตระหนักได้ว่า แม้จะเขาจะไม่เก่งที่สุดในทุกทาง แต่เขาสามารถพยายามเพื่อให้เขาเก่งมากขึ้นได้ ประถมศึกษาจึงเป็นช่วงที่ต้องได้รับการพัฒนา รับฟัง และสนับสนุน เพื่อให้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้”

     การแสดงให้นักเรียนเห็นคุณค่าของความพยายามแม้ในเรื่องเล็กน้อยก็สำคัญ ในกรณีของยี ซึ่งทุกครั้งที่นักเรียนป. 1 ของเขาวาดรูปหรือทำงานส่ง ยีจะให้นักเรียนเล่าที่มาของภาพและฟังอย่างตั้งใจ และวาดรูปหรือเขียนข้อความกลับไปให้

     “พอนักเรียนเห็นว่าครูตั้งใจวาดให้ เขาก็จะให้คุณค่ากับงานชิ้นนั้นมาก ๆ และอยากเก็บไว้” ยีเสริม

     นอกจากนี้  การสร้างบริบทที่ปลอดภัยและการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี (healthy relationship) ระหว่างนักเรียนกับบริบทแวดล้อมของเขา ก็ช่วยบรรเทาปัญหาได้

     “วิธีเริ่มต้น [แก้ปัญหา] อย่างง่ายที่สุด คือการสร้าง healthy relationship กับครอบครัว ให้นักเรียนกล้าเล่าให้ผู้ปกครองฟังว่าเกิดปัญหาอะไรที่โรงเรียน ก็สามารถช่วยแก้ได้แล้วค่ะ” เนยสะท้อน

     ส่วนในบริบทของโรงเรียน เนยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นบริบทที่ดีของนักเรียน “เนยคอยรับฟังนักเรียน ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น รับฟังอย่างไม่ตัดสิน และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน เพื่อให้เขาเปิดใจในสิ่งที่เราจะสอนค่ะ”

     “อย่างวิชาคณิตศาสตร์ที่ทุกคนได้ยินก็แหยงแล้ว ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน กำแพงของเขาจะลดลงและกล้าเปิดรับมากขึ้น จนเขากล้าที่จะมาถามเนยว่า ข้อนี้ทำอย่างไร หรือขอแบบฝึกหัดเพิ่ม”

     “การเข้าไปพัฒนานักเรียนและเสริมพลังใจตั้งแต่ระดับประถม เด็กก็จะรู้จักตนเองมากขึ้น มีความอดทนที่จะทำสิ่งที่เขาอยากทำได้มากขึ้นค่ะ” เนยทิ้งท้าย

     ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อเริ่มขับเคลื่อนโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับประถมศึกษา เพื่อรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำและเสริมแรงขับเคลื่อนเชิงบวกให้นักเรียนแต่เนิ่น เพื่อให้วันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเสมอภาคและกำหนดอนาคตของตนเองได้

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในประเทศไทย ผ่านการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 11 ได้ ที่นี่