ต้นกล้าที่แข็งแรง เติบโตได้จากเมล็ดพันธุ์คุณภาพ

วันครอบครัวสากล (International Day of Families) ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่ก่อตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และเห็นถึงความสำคัญของครอบครัว เพราะสังคมที่ดีเริ่มต้นได้จากครอบครัวที่อบอุ่น และครอบครัวยังเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมความคิดและการกระทำของเด็กให้เป็นไปในรูปแบบที่แตกต่างกันได้อีกด้วย

     เช่นเดียวกับ การศึกษา ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและอนาคตของเด็กคนหนึ่งได้เช่นกัน และทิศทางที่จะต่อยอดให้อนาคตของเด็กสมบูรณ์แบบได้นั้น ไม่ได้เกิดจากความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งครอบครัว สถาบันการศึกษา สังคม สภาพแวดล้อม ตลอดจนตัวเด็กเองที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการกำหนดอนาคตของตัวเอง

     เด็กคนหนึ่งจะเลือกทางเดินชีวิตแบบใด ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เขาจะได้พบเจอ ซึ่งครอบครัวและสังคมก็มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้เด็กเลือกทางเดินชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างกัน

     ตัสกีน เหล็มหนู (กีน) ศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์รุ่นที่ 3 และมูนา สันหรน (มูนา) คุณครูพิเศษคณิตศาสตร์โรงเรียนเจริญศึกษา จ.สงขลา ศิษย์เก่าฯ รุ่นที่ 5 ทั้งสองเป็นผู้ก่อตั้ง ‘Islamic Parental Community – ชุมชนเเห่งการเเลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันของพ่อเเม่มุสลิม’ community สำหรับแม่และเด็กในอำเภอหาดใหญ่ และยังทำหน้าที่เป็นแม่เต็มเวลา ด้วยบทบาทดังกล่าว ทั้งกีนและมูนาจึงให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว และเล็งเห็นว่า ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในห้องเรียน หรือวิธีการเรียนรู้ของเด็ก ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากครอบครัวและสังคมรอบข้าง

     “การเป็นครู ไม่ใช่แค่สอนตัววิชาแล้วจบ แต่ยังมีวิชาชีวิตที่เราต้องสอนเขาเหมือนกัน วิชาชีวิต มันไม่ได้จบแค่ในห้องเรียน แต่มันจะเชื่อมโยงไปในชีวิตประจำวันของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือสังคมที่เขาเจอมันส่งผลโดยตรงกับตัวเขาทั้งหมด การที่เด็กมาโรงเรียนแล้วมีอารมณ์แบบนี้ มีความคิดหรือพฤติกรรมแบบนี้ มันเกิดจากสิ่งที่เขาเจอมาจากที่บ้านทั้งนั้น พอเรื่องพวกนี้มันเชื่อมโยงกัน เราเลยรู้ว่าต้องเริ่มออกจากบริบทนอกห้องเรียน ไปทำความเข้าใจสิ่งที่เขาเจอมา เพื่อจะได้เข้าใจวิธีการเรียนรู้ของเขา” กีนเล่า

     นอกจากครอบครัวและสังคมจะมีอิทธิพลต่อความคิด วิธีการเรียนรู้ และพฤติกรรมของเด็กแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตของเด็กด้วย เด็กบางกลุ่มอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีต้นแบบที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา จึงไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา เลือกที่จะมองพ่อแม่ หรือคนรอบตัวที่ไม่ได้เรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นต้นแบบ และมีความคิดที่ว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนจบถึงปริญญาตรี ก็ออกมาทำงานได้เหมือนกัน ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่มูนาพบขณะเป็นครูผู้นำฯ ภายใต้โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงของมูลนิธิฯ 

     “พอเราเห็นปัญหานี้ เราเลยเริ่มเรียกเด็กมาคุยหลังคาบเรียน ถามถึงเรื่องที่บ้าน สภาพครอบครัว และปัญหาที่เขาเจอมา เริ่มเก็บข้อมูลและไปเยี่ยมบ้านเด็ก ทำเป็นแฟ้มสะสมประวัติ และหาทางซัพพอร์ต สร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากเรียนต่อ แม้ว่าจะมีอุปสรรคเป็นปัจจัยแวดล้อม เราก็ให้คำปรึกษาเขา หาทุนให้ยืมเงินมาโรงเรียน ช่วยเขาให้ได้มากที่สุด” 

     “เลยต่อยอดมาจนเกิดโครงการ Family Talk – สื่อสารด้วยใจ ให้ผู้ปกครองนักเรียนม.ต้น ประมาณ 60 คนเข้าร่วม และจัดกิจกรรมที่เน้นการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ให้พ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กในช่วงวัยแรกเริ่มก่อนเข้าสู่วัยรุ่น เข้าใจวิธีการสื่อสารกับเขา เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย ส่งเสริมให้เด็กมีความคิดเป็นของตัวเอง รู้จักตัวเอง และสอนให้เขารู้จักใช้ชีวิต ที่สำคัญยังช่วยปรับทัศนคติของผู้ปกครอง ให้เห็นว่าการศึกษาสำคัญกับตัวเด็ก เป็นสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกๆ ของเขาได้ ซึ่งพ่อแม่ก็ตื่นเต้นกับกิจกรรมที่เราจัดมาก เพราะเขาไม่เคยทำอะไรแบบนี้ แล้วเขาก็ขอบคุณที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ เปิดมุมมอง และเข้าใจอะไรในมุมใหม่ๆ มากขึ้น” มูนาเล่า

     จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของครอบครัว สังคม และสภาพแวดล้อมที่ส่งผลโดยตรงมาสู่ตัวเด็ก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งกีนและมูนาต้องการต่อยอดโปรเจกต์ Community Group สำหรับแม่และเด็กขึ้นด้วยกัน ณ ชุมชนมุสลิม ในอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของทั้งสอง

     “โปรเจกต์นี้เริ่มประกอบร่างมาจากช่วงที่สอนทีชฯ พอสอนทีชฯ จบ กีนก็ได้ใกล้ชิดกับเด็กมากขึ้น เพราะมีโอกาสได้ทำงานออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กที่สถานพินิจแห่งหนึ่ง พอได้คุยกับเด็กเหล่านี้ก็รู้สึกว่าเขาเหมือนกับเด็กทั่วไปที่เราเคยเจอมาในโรงเรียน แต่ความคิดและการกระทำที่ผลักดันให้เขามาอยู่ตรงนี้ ส่วนหนึ่งมันมาจากครอบครัวที่หล่อหลอมให้เกิดความคิดและการกระทำที่ผิดๆ ลงไป ณ ขณะนั้น ซึ่งสำหรับเด็กมันอาจจะเป็นความคิดที่ make sense สำหรับเขาตอนนั้นก็ได้ เราเลยต้องพยายามทำความเข้าใจเขาด้วยการวางทิฐิลงและรับฟัง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเองก็มีส่วน ถ้าเขาได้รับการปลูกฝังจากครอบครัว โรงเรียน หรือสังคมมาอีกแบบ ก็อาจทำให้เขาคิดและทำอะไรในแบบที่แตกต่างออกไปก็ได้ ทุกอย่างมันเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันหมด” กีนเล่าถึงแนวคิดในการก่อร่าง Community Group แม่และเด็ก

      ทางด้านมูนาเล่าว่า “หลังสอนทีชฯ จบ เราเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพอสมควร และคิดว่าครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญที่จะ shape ให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาได้อย่างมีคุณภาพ ถ้ามีพ่อแม่คอยซัพพอร์ต รับฟัง และไม่ตัดสิน ก็จะช่วยได้มาก เพราะเมล็ดพันธุ์ต้องดีก่อน ถึงจะช่วยให้ต้นกล้าแข็งแรงได้”

     “บวกกับพอจบทีชแล้วก็ยังได้เป็นครูมาเรื่อยๆ แล้วตอนนั้นก็เป็นแม่คนแล้ว เลยรู้สึกใกล้ชิดกับเด็กพอสมควร เราเลยอยากหา community ไว้แชร์ประสบการณ์เลี้ยงลูก เลยเริ่มทำ community ‘Mom for Kids’ แชร์ประสบการณ์เลี้ยงลูกผ่านกลุ่มไลน์ และมีวิทยากรมาให้ข้อมูลแลกเปลี่ยน ต่อยอดโปรเจกต์มาเรื่อยๆ ตามช่วงวัยของลูกเรา จนได้มาเป็นโปรเจกต์ community onsite ที่ทำด้วยกันกับเพื่อนๆ มีพี่กีน แล้วก็เพื่อนๆ ที่ทีชฯ จะให้พ่อแม่ลูกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ส่งเสริมให้ลูกฝึกการเรียนรู้ สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก”

     กีนเสริมว่า “เราอยากให้ลูกได้เล่นในสิ่งที่เขาอยากเล่น ผ่านกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ สอดแทรกแนวทางการเลี้ยงลูกผ่านธรรมชาติ และให้พ่อแม่ได้มีพื้นที่คุยกัน แชร์ประสบการณ์การเลี้ยงลูก มีสังคมไว้แลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่เขาเจอมา ได้คลายเครียดจากการเลี้ยงลูกบ้าง เพราะเราเองก็เป็นแม่ เราเข้าใจว่าแม่ทุกคนจะค่อนข้างมีความเครียดในการเลี้ยงลูก และต้องการหาคนพูดคุยแลกเปลี่ยน แชร์สิ่งที่เจอมาตลอดเวลาที่อยู่กับลูก”

     จากประสบการณ์ทั้งหมดที่กีนและมูนาได้รับมาตลอดระยะเวลาการทำงาน ทำให้พวกเธอเห็นความสำคัญของการศึกษาที่เชื่อมโยงกับบริบทรอบข้างอย่างครอบครัวและสังคม จนผลักดันให้เกิดกิจกรรมทั้งหมดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย เก็บข้อมูล การเยี่ยมบ้านเด็กในช่วงที่ยังเป็นครูผู้นำฯ ต่อยอดมาสู่โครงการ Family Talk ของมูนา การได้คลุกคลีกับเด็กในช่วงที่ทำงานในสถานพินิจของกีน หรือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เลี้ยงลูกในโปรเจกต์ Mom for Kids ของมูนา มาจนถึง community onsite สำหรับแม่และเด็กในปัจจุบัน ในชื่อ ‘Islamic Parental Community – ชุมชนเเห่งการเเลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันของพ่อเเม่มุสลิม’ ที่ทั้งสองได้ทำร่วมกัน และเริ่มโปรเจกต์อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา

     แม้ว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ของคนตัวเล็กๆ ที่ต้องการขับเคลื่อนเด็กในระบบการศึกษาไทยให้เติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้น และยังไม่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทยในวงกว้างก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทีละน้อย และส่งผลดีกับตัวเด็กได้อย่างแน่นอน

     “ตอนที่สอนทีชฯ แล้วได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านเด็ก มันทำให้พ่อแม่เข้าใจเรามากขึ้น สัมผัสได้ถึงความตั้งใจของเราที่อยากให้ลูกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วก็ยังเข้าใจลูกของเขาเองมากขึ้นด้วย เข้าใจความฝันของลูกที่อยากมีอาชีพดีๆ ในอนาคต เราพูดคุยกับพ่อแม่จนเขาเปลี่ยน mindset จนลูกของเขาได้เรียนต่อและจบปริญญาตรี มีอาชีพที่ดีตามที่เขาฝัน ได้อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ออกจากระบบไปเพราะฐานะทางบ้านที่ไม่เอื้ออำนวย มันทำให้เรารู้สึกดีที่หาทางออกและช่วยแก้ปัญหาที่บ้านให้เขาได้” กีนและมูนากล่าว

     “พอมาเป็นโปรเจกต์ Mom for Kids พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ค่อนข้างพร้อมกว่าพ่อแม่เด็กที่เราเจอตอนอยู่ทีชฯ พวกเขาอยากพัฒนาลูกอยู่แล้ว เลยง่ายกับการขับเคลื่อน ทุกคนมาจอยกัน แชร์เรื่องที่ตัวเองเจอมา เลยรู้สึกว่ามันอิมแพคกับการรับมือกับลูก การฝึกให้ลูกได้ทำอะไรเอง สิ่งเหล่านี้มันจะส่งผลเมื่อลูกเราโตขึ้น ถ้าพ่อแม่ปูพื้นด้วยสเต็ปที่ถูกต้อง จะทำให้เด็กเติบโตมามีภูมิคุ้มกันที่ดีในชีวิต กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ซึ่งมันเชื่อมโยงมาถึงเรื่องการศึกษา เมื่อพ่อแม่มีความเข้าใจลูก ก็จะเลือกผลักดันให้เขามีโอกาสทางการศึกษาได้” มูนาเสริม

     “การศึกษาไม่สามารถ fix การเรียนรู้ของเด็กได้ ถ้าเราเพิ่มโอกาส เสริมสร้างทักษะชีวิตให้เขา ปลูกฝังให้พ่อแม่เข้าใจว่าทักษะต่างๆ เสริมสร้างได้โดยเริ่มจากครอบครัว ก็จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เขาเกิดการเรียนรู้ได้โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัว ถ้าเด็กทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสที่ดีเหมือนๆ กันได้ และโรงเรียนสามารถตอบโจทย์เรื่องทักษะที่จำเป็น สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเมื่อไปเจอสังคมนอกโรงเรียนได้ ซึ่งถ้าช่วยกันทั้งสองฝ่ายระหว่างโรงเรียนและครอบครัว ก็จะยิ่งดีกับตัวเด็ก”

     “เราคาดหวังให้ผลของการสร้าง community แม่และเด็กในครั้งนี้ ค่อยๆ แทรกซึมและส่งผลดีกับการเรียนรู้ของเด็กไปเรื่อยๆ ถ้าเราปลูกฝังให้เขาไม่เปราะบาง มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจได้ตั้งแต่ช่วงประถม ช่วงที่เขายังไม่ฟอร์มตัวเองออกมาเต็มร้อย เขาก็จะสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างดีในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนก็ตาม” กีนปิดท้าย    

     จุดเริ่มต้นของการเล็งเห็นปัญหา และต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษา ครอบครัว และสังคม ของทั้งกีนและมูนานั้น เริ่มจากการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จนต่อยอดมาสู่การขับเคลื่อนในกิจกรรมต่างๆ เรื่อยมา คุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลผลิตที่ดีทางการศึกษาได้เช่นเดียวกับอดีตครูผู้นำฯ ทั้งสอง เพียงสมัครเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 11 กับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

ติดตามเรื่องราวของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้ที่ https://www.teachforthailand.org

สมัครโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 11 ได้ที่: https://tft-fellowship.org ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2567