สร้างระบบ เพื่อผลกระทบที่กว้างกว่า

จากนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล ‘มิว’ -- วัชร เดโชพลชัย ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 1 เล่าถึงผลกระทบที่เขาสร้างให้กับองค์กรและเด็กๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบัน มิวทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายข้อมูลและผลกระทบเชิงบวก ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และงานที่เขาภูมิใจ คือการสร้างระบบเพื่อจัดระเบียบข้อมูลจากครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงซึ่งทำงานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอดสร้างผลกระทบทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ

     การสร้างผลกระทบของมิวเริ่มมาตั้งแต่เขายังเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง สอนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยมปุรณาวาส 

     “สมัยนั้นยังมีการสอบโอเน็ตอยู่ แล้วเป็นเรื่องปกติมากที่โรงเรียนในสังกัด กทม. จะมีคะแนนในวิชาวิทย์ คณิต อังกฤษต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ แต่นักเรียนรุ่นที่ผมเข้าไปสอน เป็นรุ่นแรกที่คะแนนเฉลี่ยวิชาวิทยาศาสตร์เกินระดับประเทศ” มิวเล่าถึงพัฒนาการที่เขาสร้างในห้องเรียน

     “คุณครูก็ชื่นชมเด็กรุ่นนี้ว่าเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ มีความอดทน มีความขยัน เขาจะใช้คําว่า เด็กรุ่นนี้ใช้งานได้ ซึ่งหมายถึง เด็กๆ มีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมสูงมาก”

     นักเรียนบางคนของมิว ยังสอบติดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อีกด้วย

     หลังจบโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง มิวได้ทำงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมและสนับสนุน (Training and Support) เป็นผู้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ เพื่อให้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ใช้อบรมครูผู้นำรุ่นต่างๆ นอกจากนั้น ยังวางระบบเก็บข้อมูลหลายอย่างในมูลนิธิฯ

     “ตอนนั้น ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ไม่ได้มีโครงสร้างที่เฉพาะเจาะจงกับประเทศไทย เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องวางระบบ วางโครงสร้างต่างๆ ให้กับทีม เริ่มต้นตั้งแต่การชวนคิดว่า การพัฒนานักเรียน คือ พัฒนาอะไรบ้าง หรือ ความเป็นผู้นำที่เราอยากได้มีหน้าตาอย่างไร  สิ่งเหล่านี้ได้มาจากประสบการณ์การเป็นครูผู้นำฯ ที่ผ่านมาด้วย”

     “ผลกระทบอีกส่วนคือ การทำวงเรียนรู้ร่วมกัน (Learning Circle) ช่วงที่ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 4-5 ปฏิบัติงาน เริ่มมีการกระจายไปยังต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ เราก็พยายามชวนทุกคนมาทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคมากขึ้น”

     หลังจากทำงานพัฒนาครูผู้นำฯ มา 4 ปี  มิวได้เปลี่ยนมาดูแลระบบข้อมูลของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เพื่อให้มูลนิธิฯ นำข้อมูลจากครูผู้นำฯ ในพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

     “สมัยก่อนที่จะมีระบบ ครูผู้นำฯ จะต้องส่งข้อมูลการสอบก่อนและหลังเรียน (Pre/Post Test) ของนักเรียนให้กับทางมูลนิธิฯ ซึ่งครูของเรามีเป็นร้อยๆ คน ดังนั้นหากทำข้อมูลเสร็จแล้วถ้ามีการเปลี่ยนแปลง จะต้องทำข้อมูลใหม่หมดเหรือทิ้งข้อมูลนั้นไป” มิวเล่า

     “เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ ผมได้สร้างระบบข้อมูลที่ครูผู้นำสามารถทำและอัปโหลดข้อมูลของตนเองเข้าระบบส่วนกลาง จากนั้นระบบจะอัปเดตข้อมูลอัตโนมัติ ทำให้ประหยัดเวลาในการจัดการตรงนี้ไปได้มาก”

     ข้อมูลที่มิวทำถูกนำไปใช้ประเมินผลและวางแผน เพื่อให้โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโรงเรียนทั่วประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

     เมื่อถามว่า มิวรู้สึกอย่างไรที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ครบรอบ 10 ปีแล้ว เขาตอบว่า

     “จริงๆ ก็ตื่นเต้น เพราะก่อนที่จะมี ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ใครจะเชื่อว่าจะมีคนที่มาลงมือ ใช้เวลาสองปีทําเรื่องการศึกษา คลุกคลีในพื้นที่อย่างจริงจัง โดยที่คนกลุ่มนี้ หลายคนเป็นคนต้นแบบที่มีตัวเลือกเยอะในการทําอะไรก็ได้  ถ้าก่อนหน้านี้คงไม่มีใครเชื่อว่าจะมีคนเยอะขนาดนี้ที่พร้อมจะมาแก้ปัญหาการศึกษา แล้วก็ยังทําอยู่ในทุกวันตลอด 10 ปี”

     “จำนวนคนกว่า 500 คนมันทำให้เราเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ มีคนที่อยากจะมาทําจริงๆ แค่เราจะต้องหาวิธีรวบรวมให้คน 500 คนนี้มาร่วมมือกัน สร้างสิ่งที่เป็นรูปธรรมออกมาให้ได้”

     มิวเป็นหนึ่งในบุคคลากรของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่เดินทางร่วมกับเรามาตลอด  ใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มุ่งมั่นผลักดันการศึกษาไทยไปข้างหน้า เพราะเรามีความเชื่อร่วมกันว่า สักวันหนึ่ง เด็กไทยในชุมชนทั่วประเทศจะเข้าถึงการศึกษาคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน