เสียงสะท้อนจากโรงเรียนและชุมชน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“บนเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนั้น ทำให้โรงเรียนเห็นว่าแต่ละฝ่ายมีความต้องการอะไร ต้องขอขอบคุณ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่ถอดบทเรียนความต้องการของทุกคนออกมา” ผอ. ภัทรนันท์ เพิ่มพูน ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคม จังหวัดกาญจนบุรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566

     ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้จัดกิจกรรมสร้างวิสัยทัศน์ร่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กร โรงเรียน และชุมชน สามารถทำงานร่วมกันได้ บนวิสัยทัศน์ร่วม

     “หลายฝ่ายได้บอกเล่าความต้องการออกมา เช่น ต้องการให้ติดพัดลมเพิ่มในห้องเรียน ผู้ปกครองหลายคนอยากให้โรงเรียนมีรั้ว ซึ่งนำไปสู่การจัดทอดผ้าป่า (เพื่อระดมทุน) โดยผู้ปกครองและศิษย์เก่า เป็นต้น” ผอ. ภัทรนันท์เสริม

     คุณนิพนธ์ ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลห้วยกระเจา ได้เล่าประสบการณ์การเข้าร่วมเวทีสร้างวิสัยทัศน์ร่วมว่า

     “เวทีนี้ เป็นการประชุมออกแบบวิสัยทัศน์กับทางโรงเรียนและชุมชน ได้คุยกันถึงอนาคตของโรงเรียนร่วมกัน ทำให้โรงเรียนและชุมชนได้รู้แนวความคิดการพัฒนาต่อ ทางโรงพยาบาลก็ได้ทราบความวิสัยทัศน์นี้ด้วย”

     “การเปิดเวทีนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะปกติไม่เคยมีการเปิดเวทีที่ให้หน่วยงานระดับอำเภอเข้าไปมีส่วนร่วม” คุณนิพรธ์เสริม

     คุณอุเทน อาจคงหาญ หัวหน้าเครือข่ายผู้ปกครอง ได้เสริมว่า

     “ในเวที หลายภาคส่วนได้พูดคุยและรับฟังคำแนะนำซึ่งกันและกัน มีการแสดงความคิดเห็น และโรงเรียนก็ได้ขอความช่วยเหลือ เช่น มีปัญหาฝุ่นเยอะ ก็ได้ประสานให้ทางเครือข่ายผู้ปกครองสนับสนุนรถขนน้ำฉีดระงับฝุ่น”

     “ทีมฝ่ายบริหารได้แสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน นักเรียน และชุมชน” ว่าที่ร้อยตรีกมล นิลโรจน์ ครูในโรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคมกล่าว “ในเวทีมีการแบ่งกลุ่มออกเป็นฝ่ายบริหาร นักเรียน และชุมชน โดยใช้ “จิ๊กซอว์ โมเดล” (Jigsaw model) ออกแบบว่าอยากให้โรงเรียนเป็นแบบไหน แล้วนำมาต่อให้เป็นภาพเดียวกัน ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และยอมรับข้อแตกต่างเพื่อหาจุดร่วมกัน”

     “เช่น มีการแสดงความเห็นจากคุณครูว่า อยากอยู่ในห้องเรียนกับเด็ก แต่ภาระงานเยอะมากจึงทำไม่ได้ ส่วนนักเรียนก็อยากให้คืนครูสู่ห้องเรียนเช่นกัน”

     คุณลาวัลย์ เวชอภิกุล รองผู้อำนวยการ โครงการร้อยพลังการศึกษา ได้เล่าถึงการร่วมออกแบบเวทีแลกเปลี่ยนนี้ว่า

     “ร้อยพลังการศึกษาได้ทำงานร่วมกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เราเชื่อในการทำงานแบบมีส่วนร่วมและการผลักดันให้โรงเรียนทำงานกับชุมชน  ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์เป็นภาคีสำคัญที่ร่วมกันผลักดันการทำวิสัยทัศน์ร่วม ชวนให้โรงเรียนขยายขอบเขตวิสัยทัศน์ให้กว้างขึ้น”

     “เรามีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผนกระบวนการ ก่อนหน้านี้ เราเคยทำ Community Engagement กับโรงเรียนเพื่อพัฒนาทักษะทางอาชีพให้แก่นักเรียนมาแล้ว จากโครงการนั้น เราอยากต่อยอดด้วยการพาโรงเรียนมาคุยให้เป็นภาพเดียวกัน และได้ร่วมมือกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในการขยายขอบเขตวิสัยทัศน์ร่วมให้ครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น” คุณลาวัลย์กล่าว

     ในการจัดเวทีสร้างวิสัยทัศน์ร่วมทุกครั้ง ทุกฝ่ายจะได้ส่งเสียงของตัวเองออกมาเสมอ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ อยากให้เกิด เพราะเมื่อทุกคนมีวิสัยทัศน์ร่วมกันแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่ภาพอนาคตทางการศึกษาที่ทั้งครู นักเรียน โรงเรียน ชุมชน ร่วมกันทำให้การศึกษาไทยเสมอภาคสำหรับทุกคนได้ต่อไป