ทำงานกับชุมชน: โครงการไม้ไผ่สู่ผลกระทบที่ยั่งยืนในชุมชน

“โครงการนี้ไม่ได้เริ่มจากไม้ไผ่ แต่เป็นโครงการสร้างคน พัฒนาคน”

ครูทิ้ง ศุภชัย บำรุง ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 7 กล่าวถึง “ยุ้มมาฉ่า” โครงการแปรรูปไม้ไผ่ที่เขาริเริ่มกับเพื่อน ๆ ที่ชุมชนป่าซางนาเงิน จังหวัดเชียงราย

“โครงการนี้เกิดจากช่วงปีแรก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมอบหมายให้ครูในพื้นที่หาวิธีสร้างการเรียนรู้แบบ Problem-based Learning (PBL) เน้นการประยุกต์ใช้ทักษะศตวรรษที่ 21 และการเรียนรู้แบบมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรด้วย”

     “ผมก็เลยถามเด็ก ๆ ว่า เราจะทำอะไรกันดี เด็ก ๆ เสนอว่าอยากทำไม้ไผ่ นำมาพัฒนาเพื่อสร้างรายได้  ชุมชนแถวนั้นเขาเรียกว่าป่าไม้ไผ่ซาง และมีไผ่อยู่จำนวนมาก  ก็ให้เด็ก ๆ คิดโครงการ โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา”

     จากการศึกษาเรื่องไม้ไผ่ ครูทิ้งพบว่าไม้ไผ่เป็นวัสดุที่ยั่งยืนมาก สามารถแก้ปัญหามอดได้ และเป็นพืชหมุนเวียนที่ช่วยด้านสิ่งแวดล้อมและดูดซับคาร์บอนได้ดีมาก  หลังจากริเริ่มโครงการจากเด็ก ๆ ครูทิ้งก็ได้รับโจทย์จาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ให้ทำโครงการ Community Impact เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน

     “ผมเริ่มต้นจากการประสานกับเพื่อน ๆ ใน TFT ที่อยากทำโปรเจกต์เพื่อชุมชน เช่น ครูทีม จากลพบุรี จากนั้น เราเริ่มสร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้าน ให้ความต้องการของพวกเขาเป็นศูนย์กลางของโครงการและออกแบบงานไม้ไผ่ตั้งแต่แรก มีการสร้างองค์ความรู้การยืดอายุไม้ไผ่ และพบว่าการทำโครงการนี้ช่วยแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายของชาวบ้าน เพราะปกติการขนส่งวัสดุสมัยใหม่ขึ้นไปบนดอยมีต้นทุนสูงกว่าปกติถึง 50%  พอใช้ไม้ไผ่ก็ตัดค่าขนส่งตรงนี้ไปได้”

     หลังจากนั้น ครูทิ้งและเพื่อน ๆ เริ่มระดมทุนและสะสมองค์ความรู้ โดยได้ทีมงานจาก “Bamboosaurus” กลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มุ่งเน้นเผยแพร่องค์ความรู้และดีไซน์จากไม้ไผ่ มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการยืดอายุไม้ไผ่และการออกแบบ มี Workshop การออกแบบที่ให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการทำโมเดลบ้านไม้ไผ่ และให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมด้วย

     หลังจากผ่านอุปสรรคหลายอย่างอันเกิดจากต้นทุนและทรัพยากรที่จำกัด บ้านไม้ไผ่ต้นแบบก็สร้างขึ้นได้สำเร็จ

     “คำว่ายุ้มมาฉ่า มาจากภาษาอาข่าคือคำว่า ‘ยุ้มมาส่า’ แปลว่าบ้านไม้ไผ่” ครูทิ้งบอก “โครงการนี้ทำให้เราเห็นว่า ถ้าจะสร้างความยั่งยืน ต้องสร้างจากชาวบ้านจริงๆ บ้านไม้ไผ่นี้จะอยู่กับชาวบ้าน ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ปกครอง ซึ่งแน่นอนว่านักเรียนก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย นั่นคือทำให้สามารถมาโรงเรียน และเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

     จิรัชญา ผาลา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน ได้เล่าข้อดีของโครงการนี้ว่า

     “นักเรียนได้รับความรู้และทักษะที่ไม่มีสอนในตำรา และชุมชนก็ได้พึ่งพาอาศัยบุคลากรในโรงเรียน มีการพัฒนากิจกรรมร่วมกัน”

     “ทางโรงเรียนได้ผลักดันให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้และสืบค้นข้อมูล ซึ่งเป็นทักษะของ PBL ตั้งแต่ระดับ ป. 1 ถึง ม. 3”

     วีรยุทธ์ ฤกษ์เชิดชู ประธานกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน ได้แบ่งปันว่า

     “แต่ก่อนมีการใช้ไม้ไผ่มาก่อน แต่ไม่เคยมีอายุใช้งานได้นานขนาดนี้ ผมได้ยินจากชุมชนว่ามีคนสนใจโครงการนี้เพิ่มขึ้น และชาวบ้านสามารถสร้างรายได้จากการแช่ไผ่แล้วนำไปขาย กลับเป็นเม็ดเงินสนับสนุนชุมชน”

     ในอนาคต โครงการยุ้มมาฉ่ามีแผนที่จะสร้างเป็นวิสาหกิจชุมชน พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายใน 2 ปี ต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ในชื่อ “มหา’ลัยไม้ไผ่” ที่ให้คนในพื้นที่โดยรอบมาศึกษาเรื่องนี้ได้

     “นอกจากชีวิตของผู้ปกครองในพื้นที่จะดีขึ้นแล้ว เด็ก ๆ ในพื้นที่ยังได้มาร่วมเรียนรู้และพัฒนา เกิดความเข้าใจว่าโรงเรียนและชุมชนขาดกันไม่ได้ ต่อยอดเป็นความรู้หลังจบการศึกษาได้อีก”

     “เป็นครั้งแรกที่ชุมชนได้ทำงานร่วมกับโรงเรียน โดยมีผู้ปกครองเป็นผู้ให้ความรู้ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนั้นชุมชนยังเห็นข้อดีของการทำให้เด็ก ๆ ได้มีความรู้กลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง ผู้ปกครองเข้าใจมากขึ้นว่า การส่งลูกหลานไปเรียนให้มีความรู้กลับมาเป็นเรื่องดี” ครูทิ้งทิ้งท้าย