ภารกิจที่มากกว่าในห้องเรียน

“ผมรู้ว่าตัวเองได้รับการศึกษาที่ดี เลยอยากตอบแทนคืนระบบการศึกษา ประกอบกับในอนาคตอาจจะไม่ได้ทำอะไรแบบนี้ที่ท้าทายอีกแล้ว”

วอลนัท ศุภณัฐ เลิศประเสริฐภากร ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่น 2 แบ่งปันเกี่ยวกับการทำงานเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 2 ปี วอลนัทได้ไปสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนฉิมพลี เขตตลิ่งชัน จังหวัดกรุงเทพ และทำให้นักเรียนมีผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ดีขึ้น จากเดิมที่หลายคนยังคำนวณขั้นพื้นฐานไม่เป็น

     “2 ปีนี้เป็นสองปีที่ผมได้ทำเต็มความสามารถตนเอง ได้เข้าไปเป็นครูของเด็ก ๆ จริง ๆ ทั้งที่เราไม่ได้จบครูมาโดยตรง” วอลนัทเล่า “พอเข้าไปในโครงการ เราก็เป็นเหมือนครูอีกคนที่ช่วยสอนแบ่งเบาภาระครูท่านอื่น”

     “ตอนนั้นเราไฟแรง และเห็นว่ามีหลาย ๆ อย่างที่อยากทำเพื่อเสริมการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน” วอลนัทนึกย้อนกลับไป “มีปัญหาหนึ่งคือ เด็กนักเรียนมีพื้นฐานต่างกัน แต่เด็กเก่งต้องเรียนปนกับเด็กที่พื้นฐานไม่ดี  เนื้อหาในหลักสูตรก็ค่อนข้างยาก ทั้งที่บางคนยังบวก ลบ คูณ หาร ไม่ได้”

     จากปัญหานี้ วอลนัทจึงคิดวิธีเสริมความรู้พื้นฐานให้แก่นักเรียน ด้วยกิจกรรมแจกโจทย์คณิตศาสตร์ต้นคาบเรียน ให้นักเรียนฝึกทำทีละน้อย

     “การบวก ลบ คูณ หาร แค่สอนทบทวนในคาบยังไม่เพียงพอ ผมเลยสร้างกิจกรรมที่ใช้เวลาในห้องเรียนไม่เยอะ โดยแจกโจทย์คณิตศาสตร์ 12 ระดับ ให้นักเรียนมาหยิบตอนต้นคาบ คาบละ 1 ใบ  เด็กทุกคนจะมาหยิบโจทย์ที่ตรงกับระดับของตนเอง”

     “โจทย์นี้ให้นำกลับไปทำนอกเวลาเรียน และพอทำเสร็จก็ส่งมาตรวจ จะมีตราปั๊มให้ว่าใครผ่านระดับไหนแล้วโชว์ไว้ในบอร์ดของห้องเรียน ผมก็จะตรวจโจทย์พวกนี้นอกเวลาเรียน เพื่อดูว่าใครผ่านหรือยังไม่ผ่านตรงไหน”

     จากกิจกรรมนี้ ทำให้นักเรียนพร้อมเรียนในเนื้อหาหลักของห้องเรียนมากขึ้น

     “เมื่อผ่านไป 2 เทอม พบว่าสามารถพัฒนาเด็กที่ บวก ลบ คูณ หาร ได้เพิ่มเป็นจำนวนเกือบ 2 เท่า” วอลนัทเล่าด้วยความภูมิใจ

     นอกจากการเสริมความรู้ด้านคณิตศาสตร์แล้ว วอลนัทและเพื่อนครูผู้นำฯ ที่โรงเรียนยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรมช่วยให้นักเรียนค้นพบตนเอง ผ่านการรู้จักอาชีพต่าง ๆ

     “ผมคิดว่ากิจกรรมเสริมแรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอย่างตัวผมเอง ตอนเรียนก็ยังไม่รู้จักตนเองว่าต้องการอะไร โลกนี้มีอาชีพอะไรอีกบ้าง”

     วอลนัทและเพื่อนได้เชิญคนต้นแบบจากอาชีพต่าง ๆ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และจัดอบรม 10 สัปดาห์ที่โรงเรียน

     “แต่ละสัปดาห์จะมีวิทยากรจาก 1 อาชีพมาสอน และมีกิจกรรมเล็ก ๆ ให้เด็ก ๆ ลองลงมือทำอะไรเกี่ยวกับอาชีพนั้น ๆ “

     “มีครั้งหนึ่ง พวกเราเชิญนักร้องจากรายการ The Voice มา เด็ก ๆ หลายคนได้เห็นก็ตั้งใจ อยากเล่นดนตรี ร้องเพลง เลยรวมกลุ่มตั้งวงดนตรีขึ้นมา”

     “มีอีกสัปดาห์หนึ่งเป็นธีมของดีไซน์เนอร์ ก็มีการจัดแฟชันโชว์ เอาพวกวัสดุใกล้ตัวมาให้เด็กลองออกแบบชุด” วอลนัทเสริม “กิจกรรมพวกนี้ทำให้นักเรียนสนใจเรียนจริง ๆ ไม่ได้ถูกบังคับให้เรียนในห้องเรียน และทุกคนก็ดูตั้งใจในการทำกิจกรรมจริง ๆ ”

     การเป็นครูผู้นำฯ ไม่ได้หมายถึงการสอนแต่วิชาการเท่านั้น แต่รวมถึงการดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  สิ่งที่วอลนัททำ เป็นหนึ่งในการสานภารกิจเพื่อให้นักเรียนบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเอง  เพื่อที่วันหนึ่ง เขาจะสามารถกำหนดอนาคตตนเอง และเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้  ตามเป้าหมายของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่ต้องการให้นักเรียนทุกคนทั่วประเทศเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมในอนาคต