ครูผู้นำฯ ที่สร้างวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลง
“วันแรกผมยังทักอยู่เลยว่า ตัวเล็กๆแบบนี้เด็กจะเกเรใส่มั้ย”
ผอ. ศิริพงษ์ จำใช้ ผู้อำนวยการโรงเรียนชิตใจชื่น ขำปนเอ็นดู เมื่อเล่าถึงวันแรกที่ได้เจอกับครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์
“แต่พอได้ไปสอน พลังเสียงเขาแน่นมาก โดยเฉพาะน้องฝน เสียงดังชัดเจน คุมเด็กๆได้”
โรงเรียนชิตใจชื่นที่ ผอ. ศิริพงษ์ดูแลอยู่ ตั้งอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดเล็กๆทางภาคตะวันออกที่ได้รับเลือกให้เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ ที่ร่วมมือกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์อย่างเหนียวแน่น ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ได้ส่งครูผู้นำไปยังจังหวัดนี้มาแล้วหลายรุ่น และโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงอีกโรงเรียนหนึ่งในพื้นที่นี้ ก็ได้ทำงานกับครูผู้นำฯมาแล้ว 2 รุ่น คือ รุ่น 7 และรุ่น 9
คำว่าผู้นำที่กระทบใจคน
“พี่รู้จักโครงการ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ช่วงปี 63-64 ได้รู้ว่าครูที่มาสอนมาในชื่อ ‘ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ พอได้ฟังคำนี้แล้วมันมีพลัง คำว่า ‘ครูผู้นำฯ’ เป็นคำที่กระชากใจเด็ก” ผอ. สาลี่ เชิดชู ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง ให้ความเห็นไว้
“อย่างมีน้องคนนึงจบจากรัฐศาสตร์ แล้วมาสอนคณิตศาสตร์ ตอนแรกเราคิดว่าวิชานี้จะเป็นข้อจำกัดของเด็กสายนี้ไหม ที่เขาไม่ถนัด แต่น้องเขาก็มุ่งมั่น ทำได้ดี พาทุกคนก้าวข้ามตรงจุดนี้ ทำให้เห็นว่าคนคนหนึ่งสามารถเรียนรู้ได้มากมาย ถ้าเราใส่ใจ”
ผู้อำนวยการทั้งสองโรงเรียนได้ทำงานร่วมกับครูผู้นำฯ อย่างใกล้ชิด และได้ติดตามการทำงานของครูผู้นำฯ ผ่านการพบปะพูดคุยโดยตรงและสอบถามครูพี่เลี้ยง ตลอดระยะเวลาที่ได้ร่วมงานกับครูผู้นำฯ ของโครงการ ทั้งสองโรงเรียนประทับใจอย่างมาก
“ครูมีการรับฟังเด็กๆ และออกแบบห้องเรียนได้ดี เป็นลักษณะที่ครูไม่ได้เหนือไปกว่านักเรียน นักเรียนก็เป็นหนังสือ เป็นการเรียนรู้ของคุณครูด้วยเหมือนกัน พูดได้ว่า นักเรียนทุกคนเป็นครูของครูทีชด้วย” ผอ. สาลี่กล่าว
“ผอ.เองก็เห็นครูทีชมีความสุขที่ได้เรียนรู้กับนักเรียน ก็จะมาแต่เช้า และแต่ละคนก็มาไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน อย่างครูคนหนึ่งในรุ่น 7 เขาจบมหาวิทยาลัยจากแคลิฟอร์เนีย มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจ แต่เขาก็เห็นห้องเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าจับต้อง เขาก็ขยันเข้าห้องเรียน” ผอ.สาลี่เสริม
การทำงานกับชุมชนอย่างเหนียวแน่น
ผอ. ศิริพงษ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “นอกจากครูทีชจะเป็นผู้นำทางวิชาการแล้ว เขายังทำให้เด็กยอมรับ และกับครูพี่เลี้ยงก็ทำงานกันได้โอเค การร่วมงานกับเพื่อนครูก็ดี และเขาก็มีบ้านพักอยู่ใกล้โรงเรียน เมื่อมีกิจกรรมต่างๆในชุมชนก็มาร่วม”
การทำงานกับชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจของครูผู้นำฯ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากห้องเรียนและบริบทแวดล้อม เมื่อมีกิจกรรมในชุมชน ครูผู้นำฯจึงไปร่วมเสมอ
“อย่างกิจกรรมลงทะเบียนแอพ Thai D ของกระทรวงมหาดไทย มีการมาใช้พื้นที่ของโรงเรียน ให้นักเรียนและคนในพื้นที่มาลงทะเบียนใช้บัตรประชาชนผ่านทางออนไลน์ ครูทีชก็มาช่วยลงทะเบียนให้นักเรียน หรือบางครั้งมีการติวช่วงเย็น ก็เห็นน้องเขากลับเย็นทุกวัน จนผมแซวว่ายังไม่กลับบ้านอีกหรอ” ผอ. ศิริพงษ์กล่าวติดตลก
ครูผู้นำฯบางคนที่โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง ได้ใช้ทุนชุมชนผสานเข้ากับบทเรียนของตนเอง เพื่อให้การเรียนรู้ผนวกเป็นเนื้อเดียวกับชุมชนมากยิ่งขึ้น
“มีครูคนหนึ่งสอนคณิตศาสตร์ เข้าก็ใช้ทุนชุมชนมาเกื้อกูลการศึกษา พานักเรียนไปเรียนที่สถานประกอบการทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แล้วสอนวางแผนทางการเงิน การลงทุน เจ้าของกิจการเองก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็กในชุมชน” ผอ. สาลี่เล่า
ผสานการทำงานกับวิสัยทัศน์โรงเรียน
เมื่อสอบถามว่าครูผู้นำฯ ช่วยทำให้วิสัยทัศน์ของโรงเรียนบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ผอ. ของทั้งสองโรงเรียนจึงได้แจกแจงวิสัยทัศน์ของโรงเรียนตนเอง
“วิสัยทัศน์ของโรงเรียนชิตใจชื่น คือ ‘คิดเป็น ทำได้ ใส่ใจชีวิต ยึดติดคุณธรรม นำวิชาสู่สังคม’ ในด้านวิชาการ ครูทีชได้ทำให้เด็กคิดเป็น และเป็นผู้นำทำให้เห็นจริง ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของตนเอง และเน้นคุณธรรมตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียน” ผอ. ศิริพงษ์กล่าว
ส่วน ผอ. สาลี่ เล่าย้อนไปถึงที่มาของวิสัยทัศน์ของโรงเรียน มาจากทั้งภาคชุมชน และภาคราชการ จนรวมเป็นวิสัยทัศน์ร่วม
“วิสัยทัศน์ของโรงเรียนเรารวบรวมจากความต้องการด้านล่าง เป็น Bottom Up ผนวกกับนโยบายของทางราชการแบบ Top Down นำมาผสมกัน ด้วยความเป็นโรงเรียนท้องถิ่น เราก็จะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งสร้างผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
“เราอยากให้เด็กมีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน โดยใช้ทุกวิชาเป็นสื่อพาเด็กไปถึงจุดนั้น นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้เด็กมุ่งมั่นและมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะของศตวรรษที่ 21 ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”
ผอ. สาลี่เล่าว่า ตัวอย่างการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์นอกห้องเรียนข้างต้น ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆเช่นกัน
“การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมเป็นสิ่งจำเป็น เพราะครูทุกคนเข้ามาที่โรงเรียนแล้วก็อาจจะไป แต่โรงเรียนจะตั้งอยู่ในชุมชนตลอดกาล คุณลักษณะเด็กที่เกิดจากการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมเป็นภาพของคนในชุมชน ในส่วนนี้ ครูผู้นำฯก็ทำงานประสานกับครู ผู้บริหาร และชุมชนได้ดี”
สร้างแรงบันดาลใจ นำการเปลี่ยนแปลงในทุกคน
แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะสร้างผลกระทบได้มากที่สุด คือ การเข้ามาของครูผู้นำฯ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ทั้งในบรรยากาศของโรงเรียน และความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน
“พอเป็นคำว่า ‘ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เราก็คิดว่า ทำไมโรงเรียนต้องคาดหวังให้ครู 2 ท่านมาเปลี่ยนแปลงโรงเรียนตามลำพัง เราเองก็มีหน้าที่โดยตรง แล้วทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย” ผอ. สาลี่ให้ข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ
“ครูในโรงเรียนและตัว ผอ. เอง ก็ลุกขึ้นมาเติบโตไปพร้อมกับครูทีช ส่งต่อไปยังนักเรียน ทั้งครู และผู้บริหาร อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนศรีรักษ์ฯ นักเรียนเองก็ต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย เป็นบรรยากาศของการสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆกัน”
สำหรับโรงเรียนชิตใจชื่นได้รับครูผู้นำฯ คนหนึ่ง ซึ่งมาจากรุ่นที่ 7 ให้ทำงานสอนในโรงเรียนต่อ หลังจากครบระยะเวลาโครงการ 2 ปี เพราะเธออยากนำประสบการณ์ไปสอบเทียบวุฒิเพื่อเป็นครูต่อ
“ครูคนอื่นๆ บอกให้ ผอ. รับไว้ให้ครูลดาได้อยู่ต่อ และเราก็มีงบประมาณอยู่แล้ว เขาเป็นคนทุ่มเทมาก ถ้าเต็มใจอยู่ก็อยากให้อยู่ด้วยกันต่อไป และคิดไว้ว่า ถ้าเขาได้ไปสอบเทียบวุฒิ เขาจะสอบได้แน่นอน ตอนนี้เขาสอบผ่านภาคหนึ่งแล้ว เหลืออีกหนึ่งภาคก็จะได้เป็นครูผู้ช่วยตามที่ฝัน”
ในการเดินทางตลอดระยะเวลา 2 ปี เป็นโอกาสที่ครูผู้นำจะได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อระบบการศึกษา และไม่เพียงเท่านั้น ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อตนเอง ดังที่ ผอ. สาลี่ กล่าวไว้ว่า
“ตัวครูผู้นำ พอได้เข้ามาก็มีโอกาสพัฒนาตนเอง เป็นผู้นำนำการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดา แต่เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ จึงสามารถส่งต่อไปถึงเด็กได้ ครูแต่ละคนมีแนวคิด เจตคติที่ดี จึงพาจนเองเข้ามาสู่เส้นทางของการเปลี่ยนแปลงตรงนี้”
ด้วยพลังของการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เชื่อว่า ครูผู้นำและเครือข่ายผู้นำของเราจะสร้างผลกระทบต่อระบบการศึกษา จนในอนาคตข้างหน้า เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันได้ ดังที่มีความเปลี่ยนแปลงย่อยๆ เกิดขึ้นแล้วในสองโรงเรียนข้างต้น และโรงเรียนอีกนับร้อย