คุณค่าของหนึ่งชีวิตที่ได้เป็นผู้ลงมือทำ

สำหรับ หนุงหนิง-ณัฐชญา แดนโพธิ์ แล้ว เพียงแค่ความรู้และความเข้าใจในปัญหาของสังคมไทยนั้นถือว่ายังไม่เพียงพอ เพราะหากให้นั่งไล่เรียงว่าปัญหามีอะไรบ้าง และนำเสนอวิธีการแก้ไขนั้น เธอเชื่อว่ามีหลายคนที่พร้อมออกความเห็น แต่ “จะมีสักกี่คน ที่พร้อมจะลงมือทำจริง?” หลังจากที่หนุงหนิงได้ศึกษาจบจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอจึงไม่รอช้าที่จะหาโอกาสเป็นคนลงมือทำ และเริ่มต้นหาข้อมูลของหลากหลายองค์กรที่ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม จนได้มารู้จักกับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง

สำหรับ หนุงหนิง-ณัฐชญา แดนโพธิ์ แล้ว เพียงแค่ความรู้และความเข้าใจในปัญหาของสังคมไทยนั้นถือว่ายังไม่เพียงพอ เพราะหากให้นั่งไล่เรียงว่าปัญหามีอะไรบ้าง และนำเสนอวิธีการแก้ไขนั้น เธอเชื่อว่ามีหลายคนที่พร้อมออกความเห็น แต่ “จะมีสักกี่คน ที่พร้อมจะลงมือทำจริง?” หลังจากที่หนุงหนิงได้ศึกษาจบจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอจึงไม่รอช้าที่จะหาโอกาสเป็นคนลงมือทำ และเริ่มต้นหาข้อมูลของหลากหลายองค์กรที่ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม จนได้มารู้จักกับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง

พลังบวกที่รู้สึกได้

หนุงหนิงยังจำได้ดีถึงกระบวนสมัครที่เข้มข้นและโอกาสในการสัมภาษณ์กับ CEO ของมูลนิธิฯ เธอเล่าว่า “พลังบวกของคนใน Teach For Thailand มันส่งมาถึงเราจริงๆ” และยิ่งเมื่อได้เข้าใจถึงโอกาสจากการเป็นหนึ่งในเครือผู้นำที่มีอยู่ทั่วโลก ที่จะช่วยให้เธอได้เรียนรู้ เติบโต และสร้างผลกระทบให้กับนักเรียนอีกหลายร้อยชีวิต หนุงหนิงจึงมั่นใจว่าบทถัดไปในชีวิตของเธอคือการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เมื่อความท้าทายกลายเป็นเรื่องสนุก เมื่ออุปสรรคกลายเป็นโอกาส

เมื่อได้เข้ามาสอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสะเมิงพิทยาคม ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นผู้ให้ ผู้ลงมือทำ หนุงหนิงกลับค้นพบว่า ตัวผู้ให้เองกลับได้รับอะไรมากมายตลอดการเดินทาง เพราะความท้าทายจากการทำงานผลักดันให้เธอต้องพัฒนาตัวเองในทุกแง่มุม เธอจึงกลายเป็นคนที่มี Growth Mindset ซึ่งเธอมองว่าเป็นเพราะ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มี support system ที่ดี และเค้าจะ plant seed ในตัวคุณว่าคุณจะสามารถ cope with any challenge in the world ได้ จริงๆนะ ไม่ได้เว่อร์” 

 

การมี Growth Mindset ทำให้หนุงหนิงเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาได้ ความท้าทายจึงกลายเป็นเรื่องสนุกและอุปสรรคจึงกลายเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง เมื่อเริ่มต้นสอนแรกๆนั้น เธอสงสัยในความสามารถของตัวเอง เธอจึงได้โอกาสในการเรียนรู้ที่จะรู้เท่าทันความรู้สึก และดูแลตัวเองเป็นอย่างแรก ซึ่งส่งผลให้เธอเป็นคนที่ดีขึ้น และเป็นครูที่ดีขึ้นตามไปด้วย เมื่อเธอประสบปัญหาในการสอน เธอจึงได้โอกาสใช้ประโยชน์จากการมีทีมงานและกลุ่มเพื่อนครูผู้นำฯในรุ่น และนำเอาวิธีการแก้ปัญหาของเพื่อนๆมาประยุกต์ใช้ เพื่อดึงตัวเองกลับมาจากความผิดหวังและเดินหน้าต่อเพื่อนักเรียนของเธอ เมื่อเธอต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในที่ใหม่ บริบทใหม่ กับคนกลุ่มใหม่ เธอจึงได้โอกาสในการนำเอาทักษะการชะลอการตัดสินคนและชะลอการตัดสินใจที่เธอได้จากการอบรมเตรียมพร้อม มาใช้รับฟังและเข้าใจผู้รู้ในท้องถิ่น ก่อนออกแบบทางแก้ที่ตอบโจทย์ของพื้นที่มากที่สุด และเมื่อความเหนื่อยล้าทำให้เธอต้องท้อถอย เธอเรียนรู้ที่จะใช้ความรักและความห่วงใยที่เธอมีต่อนักเรียนของเธอเป็นพลังและแรงบันดาลใจที่จะกลับมาสู้ใหม่อีกครั้ง

ทักษะติดตัวตลอดชีวิต

นอกเหนือจากแนวคิดและทัศนคติใหม่ที่หนุงหนิงได้พัฒนาตลอดระยะเวลา 2 ปีแล้ว ยังมีทักษะอีกมากมายที่มีประโยชน์กับหน้าที่การงานในปัจจุบันของเธอ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการจัดการที่ได้มาจากการบริหารหลากหลายภาระหน้าที่ที่ครูผู้นำฯต้องรับผิดชอบ ทักษะการสะท้อนตนเองที่เธอนำมาใช้ประเมินการทำงานในทุกบทบาทที่ได้รับ ทักษะการสื่อสารกับคนทุกเพศทุกวัยที่ได้จากการสานสัมพันธ์กับนักเรียน ผู้อำนวยการ เพื่อนครูและคนในชุมชน และที่สำคัญคือทักษะความเป็นผู้นำที่รับฟังด้วยความเข้าใจ ให้การสนับสนุนเพื่อปลดล็อกศักยภาพของผู้อื่น และ สร้างแรงบันดาลใจด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี


พัฒนาการของหนุงหนิงทำให้เธอประสบความสำเร็จในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษอย่างมาก โดยเธอได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เธอยังจำได้ดีขึ้นใจ  “วันนั้นหนุงปั่นจักรยานกลับบ้านหลังโรงเรียนเลิก แล้วมีเด็กเข้ามาหาและถามอย่างมั่นใจว่า ‘Where are you going?’ ซึ่งมันเป็นแค่ประโยคสั้นๆนะ แต่มันเหมือนเป็นบทพิสูจน์ว่านักเรียนเค้ารู้สึกสบายใจในการพูดภาษาอังกฤษและอยากใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารจริงๆ”

หากสอนเด็กได้ ก็สอนคนอื่นได้

ปัจจุบันนี้ หนุงหนิงได้เข้าทำงานกับบริษัท Deloitte Consulting ในตำแหน่ง Business Analyst ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าการแข่งขันเข้าบริษัทในระดับนี้นั้นค่อนข้างสูงเลยทีเดียว แต่จากที่เธอได้สอบถามผู้สัมภาษณ์งานถึงสาเหตุที่รับเธอเข้าทำงานนั้น เธอพบว่านอกเหนือจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทักษะทางภาษาอังกฤษแล้ว การทำงานในฐานะครูผู้นำฯแสดงให้เห็นถึงความต้องการในการช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันพึงปรารถนา นอกเหนือจากนั้น ทักษะการสื่อสารที่ได้จากการเป็นครูยังเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะมันเป็นดั่งบทพิสูจน์ว่า “หากสอนเด็กได้ ก็สอนคนอื่นได้” สุดท้ายนั้น ประสบการณ์การทำงานในโรงเรียนและชุมชน แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสานสัมพันธ์กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการเข้าหาลูกค้า

 

บทที่สองของการทำงานที่ Deloitte Consulting สำหรับหนุงหนิงนั้น ตอบโจทย์ชีวิตของเธอในหลายแง่มุม เพราะนอกเหนือจากการได้ถูกรายล้อมไปด้วยกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยความสามารถซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของเธออย่างต่อเนื่องแล้ว Deloitte Consulting ยังเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยทางบริษัทนั้นมีหลากหลายโครงการที่ช่วยส่งเสริมการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกับความต้องการในการแก้ไขปัญหาสังคมของตัวเธอเอง

คุณค่าของหนึ่งชีวิตเรา

สำหรับคนที่สนใจสมัครโครงการฯนั้น หนุงหนิงอยากฝากว่า “การที่ได้มาสอนนักเรียนมันทำให้หนุงรู้ว่าชีวิตหนุงมีค่า มันทำให้รู้สึกว่าบางอย่างที่เราทำให้ มันเล็กน้อยมากสำหรับเรา แต่มันคือโลกทั้งใบของนักเรียนของเรา ทุกวันนี้หนุงยังรู้สึกขอบคุณที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Teach For Thailand หนุงหวังว่าคนที่มาสมัครจะได้พัฒนาตัวเองเหมือนอย่างที่หนุงได้ผ่านมา หนุงตื่นเต้นนะ ที่จะได้เห็นว่าประสบการณ์ 2 ปีจะพาน้องๆรุ่นถัดไป ไปในทิศทางไหน … Let’s take action now, for the betterment of the next generation.”

     ในชีวิตคนเรามีโอกาสไม่บ่อยนัก ที่จะได้สัมผัสและเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครสักคนหนึ่งให้เติบโตไปในทางที่ดีขึ้น โอกาสนี้อยู่ในมือของครูผู้นำฯ ทุกรุ่นของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และสร้างผลกระทบที่แตกต่างกันไป เรื่องราวของหนุงหนิง เป็นเพียงหนึ่งในแรงบันดาลใจจากศิษย์เก่าของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่มีความตั้งใจอยากเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษา พวกเขาทุกคนหวังเหมือนกันว่า ในวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค