2 ปีที่แสนทรงพลังและคุ้มค่าเกินราคาค่าตัว

ระหว่างศึกษาอยู่ที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทักทาย-อัฎฐ์ทิพร ประสาทไทย เดินสายเป็นครูอาสาตั้งแต่ปี 2 จนได้มาเจอครูพี่เลี้ยงท่านหนึ่งที่แนะนำให้เธอมาลองสมัครโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทักทายผู้ซึ่งมีความฝันที่จะเป็นครูอยู่แล้ว จึงได้ทำความรู้จักกับโครงการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนตอนจบปี 4 ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่มีโควิด-19 ทักทายจึงใช้เวลา 2 ปี ระหว่างที่เศรษฐกิจและอนาคตยังไม่แน่นอน ในการหาคำตอบร่วมกับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ว่าความฝันของเธอที่อยากเป็นครูนั้น จะหยุดอยู่แค่การเป็นเพียงความฝันหรือไม่

จุดเริ่มต้นในการค้นหาตัวเอง

ระหว่างศึกษาอยู่ที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทักทาย-อัฎฐ์ทิพร ประสาทไทย เดินสายเป็นครูอาสาตั้งแต่ปี 2 จนได้มาเจอครูพี่เลี้ยงท่านหนึ่งที่แนะนำให้เธอมาลองสมัครโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทักทายผู้ซึ่งมีความฝันที่จะเป็นครูอยู่แล้ว จึงได้ทำความรู้จักกับโครงการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนตอนจบปี 4 ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่มีโควิด-19 ทักทายจึงใช้เวลา 2 ปี ระหว่างที่เศรษฐกิจและอนาคตยังไม่แน่นอน ในการหาคำตอบร่วมกับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ว่าความฝันของเธอที่อยากเป็นครูนั้น จะหยุดอยู่แค่การเป็นเพียงความฝันหรือไม่

 

การได้เข้าร่วมโครงการในฐานะครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 8 ทำให้ทักทายได้มาลงเอยกับการเป็นครูวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้น ม.1 และ 2 ณ โรงเรียนบ้านเกาะรัง จังหวัดลพบุรี ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 เทอมในการค้นหาคำตอบนั้น ทักทายกลับได้เรียนรู้อะไรมากมายระหว่างการเดินทาง

บทเรียน ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้เก็บเกี่ยวระหว่างการเดินทาง

จากการอบรมและการโค้ชชิ่งของทีมงานมูลนิธิฯตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาของทักทาย ทำให้ทักทายได้เรียนรู้ที่จะมองปัญหาเป็นความท้าทาย “มันทำให้เรามี mindset ว่า ถ้าเราทำได้ ก็ถือว่าเราพิชิตอะไรบางอย่างได้ แต่ถ้าทำไม่ได้มันก็เป็นบทเรียนว่าถ้ามีโอกาสในครั้งหน้า เราจะทำยังไงต่อไป”

จากการสอนในห้องเรียนทำให้ทักทายได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งต้องอาศัยทักษะการวางแผน และการจัดลำดับความสำคัญ “เราต้องเรียบเรียงสิ่งที่เราจะพูด สิ่งที่เราจะทำ จนมันกลายเป็นทักษะที่เราเอามาใช้ในชีวิต เช่น ตอนนี้งานเราเดือดมาก เราก็มาทำ to do list มันให้เราดูมีระเบียบมากขึ้นในการใช้ชีวิต ในการทำงาน”

จากการเข้าไปอยู่ในโรงเรียนและชุมชน ทำให้ทักทายได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับกลุ่มคนที่แตกต่างจากสังคมที่เคยอยู่ “เราต้องเรียนรู้และปรับตัวเยอะมากๆ ทั้งการใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนๆพี่ๆครู เพราะครูแค่ต่างวิชากันก็คุยกันยากแล้ว ครูที่อายุต่างกันก็คุยกันยาก ครูที่ฝ่ายต่างกันก็คุยกันยาก เราต้องหาตรงกลาง หรือปรับตัวยังไงให้เข้ากับเค้า” การปรับตัวนี้ทำให้ทักทายได้เรียนรู้ว่าในบางครั้งก็มีความจำเป็นที่จะต้องลดความเป็นตัวเองลงบ้าง แต่ทักทายก็มองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต

กำลังใจจากนักเรียน กำลังใจจากชุมชน

นอกเหนือจากการเรียนรู้และทักษะมากมายที่ได้เก็บเกี่ยวระหว่างทางแล้ว ทักทายยังได้พบเจอเรื่องราวดีๆที่ช่วยเติมทั้งกำลังกายและกำลังใจตลอดการเดินทาง ทักทายเล่าว่าการนำเทคนิคการจัดกระบวนการสอนที่ได้เรียนรู้จากคณะมาปรับใช้ในห้องเรียน ทำให้นักเรียนของเธอนั้น ได้เล่นและเรียนไปพร้อมๆกัน ซึ่งนอกจากจะสนุกแล้ว ยังสามารถทำให้หนึ่งในนักเรียนของเธอซึ่งเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้เข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนแบบปกติได้ ทักทายยังจำได้ดีถึงครั้งหนึ่งที่เธอต้องทดสอบทักษะการพูดของนักเรียนคนนี้ “เราถามเค้าว่า What do you do in your freetime? ซึ่งพอเค้าจำได้ว่าคำว่า Freetime มันแปลว่าอะไร แล้วเค้าก็จำได้ว่า movement ที่เค้าทำมันคือการเตะบอล เค้าก็พูดออกมาได้ว่า play football ซึ่งมันว้าวสำหรับเรามาก เพราะแค่ A ถึง Z เค้ายังเขียนไม่ได้เลย อันนี้ดีใจจนร้องไห้เลยอ่ะ ดีที่สุดใน 3 เทอมที่ทำงานมาแล้ว ยังเป็น moment ที่จำได้ขึ้นใจ เป็นความรู้สึกที่จำไม่ลืมแน่นอน


แต่กำลังใจของทักทายไม่ได้มาเพียงจากภายในห้องเรียนเท่านั้น ทักทายได้ค้นพบว่าอีกกำลังใจสำคัญของเธอนั้นมาจากชุมชนและผู้ปกครองของนักเรียน “เค้ามองเราเป็นครูคนนึง เค้าฝากฝังลูกหลาน ฝากความหวัง หรือขอบคุณที่เราดูแล ที่สอนลูกเค้า มันมีคน appreciate สิ่งที่เรากำลังอยู่ มันให้รู้สึกจริงๆว่าชีวิตมีความหมาย”

คำตอบของชีวิตที่เหลือในเส้นทางการเป็นครู

ทั้งประสบการณ์ ทักษะ ความรู้ รวมถึงกำลังใจที่ทักทายได้รับ ทำให้เธอตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจแล้วว่า เธออยากเป็นครูจริงๆ เธอจึงตัดสินใจเรียน ป.บัณฑิต “สายงานที่จบไปแล้วทำแน่ๆคือการสอบบรรจุเป็นครู รับราชการไปเลยค่ะ” โดยทักทายมีความตั้งใจว่าอยากจะเป็นครูในโรงเรียนขยายโอกาสต่อ “เพราะเด็กในโรงเรียนเหล่านี้ไม่ค่อยมีโอกาส แล้วเรามั่นใจ เรามั่นหน้า ว่าเราสามารถเป็นโอกาสให้เค้าได้” ส่วนความฝันสูงสุดในชีวิตของเธอนั้น คือการเป็นผู้อำนวยการเพราะเธออยากจะวางแผน อยากจะเอานโยบายมาปรับใช้ อยากจัดโครงการเพื่อสร้างผลกระทบมากกว่าแค่ในห้องเรียน

คำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการหาคำตอบให้ชีวิตเช่นกัน

สำหรับคนที่กำลังลังเลว่าจะสมัครโครงการหรือไม่นั้น ทักทายแนะนำว่าถ้าคิดว่าจะเข้ามาสอนอย่างเดียว อาจต้องคิดดีๆ เพราะการเข้าร่วมโครงการนั้นคือการมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ต้องทำงานให้โรงเรียน ทำงานกับผู้ปกครอง ทำงานกับชุมชน “มันนอกเหนือขอบข่ายของคำว่าสอน ถ้าตั้งใจมา สอน สอบ จบ คือมันไม่ได้มีแค่นั้น … การสอนในห้องเรียนคิดเป็นประมาณ 60% ของทั้งหมดเท่านั้น”

 แต่ถ้าอยากได้ประสบการณ์การสอน ประสบการณ์การเป็นครู อยากรู้บริบทปัญหาการศึกษา เพื่อที่จะเอาไปต่อยอดในการเรียน หรือในการประกอบอาชีพต่างๆนั้น “อยากให้มาสมัครเลย เพราะว่า 2 ปีนี้เป็นอะไรที่หลากหลายมาก ท้าทายมาก และสนุกมากด้วยเช่นกัน”

ส่วนน้องๆคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่ได้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาการศึกษาหรือแนวทางความสำเร็จจากหลายๆประเทศมาแล้ว การมาทำโครงการนี้ จะทำให้ได้มาสัมผัสของจริงในบ้านเรา และเก็บประสบการณ์ไปเพื่อไปพัฒนาต่อได้ ถ้าอยากไปสายนโยบาย การมาเข้าโครงการนี้จะเปรียบเสมือนการมาออก Field Trip ภาคสนาม 2 ปี เหมือนมาทำวิจัยให้ได้รับรู้จริงๆว่าการศึกษา ณ ปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร ถ้าอยากไปสายการสอน อยากลองมาสอน ชอบสอน ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะจะได้ประสบการณ์ที่เธอใช้คำว่า “ทรงพลังมากๆ”

คงต้องถือประสบการณ์ที่แสนทรงพลัง และคุ้มค่าเกินราคาค่าตัวจริงๆสำหรับทักทาย เพราะเธอมองว่า “18,000 น้อยมั๊ย ก็น้อยอยู่แหละ แต่มาเพื่อมาเอาเงินเดือนหรอ เงินเดือนมันก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ว่าเราตั้งเป้าหมายมาแล้วว่ามาตามหาความฝัน แล้ว 18,000 คือผลพลอยได้”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org