บทเรียน ล้มแล้วลุกเร็วจากห้องเรียนสู่โลกของ EdTech

“มองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าเรื่องที่เจอมันหนักเรายังผ่านมาได้ แล้วทำไมสิ่งที่เจออยู่ตรงหน้าจะผ่านมันไปไม่ได้”

“มองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าเรื่องที่เจอมันหนักเรายังผ่านมาได้ แล้วทำไมสิ่งที่เจออยู่ตรงหน้าจะผ่านมันไปไม่ได้”

     วาล์ว ศรนันท์ แก้วอนุ  ปัจจุบันทำงานเป็น Venture Associate ในบริษัท X-Lab Digital ซึ่งวาล์วได้ดูแล Learning Online Platform ที่ชื่อว่า The Master Academy ช่องทางการเรียนรู้ให้แก่คนทุกเพศทุกวัยเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้ Upskill, Reskill เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมทำงานต่อไป

“ทั้งเรื่องการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็มีเป้าหมายเหมือนกัน
คือการพัฒนาคนเหล่านั้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

     ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเราจะขยับมาดูการพัฒนาการสอนผู้ใหญ่ แต่กระบวนการออกแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ 2 ปีในบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้สอนและบ่มเพาะเรามา และยังสามารถปรับใช้และต่อยอดได้อยู่มาก การทำ EdTech* แพลตฟอร์มการเรียนรู้  The Master Academy อาจจะยังไม่ได้พัฒนาการศึกษากับกลุ่มเดิมอย่างที่ทำมาโดยตรง แต่จริง ๆ ในอนาคตก็มีการเปิดโอกาสให้เข้าถึงได้ง่าย กลุ่มนักเรียนหรือคนทำงานที่มีความสนใจก็สามารถเข้ามาอบรมได้ ถือเป็นอการพัฒนาบุคลากรในประเทศซึ่งเป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง ในอนาคตมันก็จะส่งผลต่อลูกหลานของคนกลุ่มนั้นให้พวกเขาได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียมได้มากขึ้น

“จุดเริ่มต้นของบทบาท ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

     จริง ๆ ย้อนกลับไป เราเป็นคนให้คุณค่ากับเรื่องความอิสระและเท่าเทียม เราเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ได้เล่นในสิ่งที่อยากเล่น รวมถึงสมัยเด็ก ๆ เราเองก็เป็นคนนึงที่พบเจอความเหลื่อมล้ำกับตัว เราเห็นแม่ทำงานในโรงเรียนรัฐ ขณะที่เราได้รับโอกาสไปเรียนโรงเรียนเอกชน ซึ่งมันมีความแตกต่างกันในทุก ๆ แง่มุม ตั้งแต่ อุปกรณ์ คุณภาพการศึกษา หรือการเข้าถึงการศึกษา เราเลยตั้งคำถามเกี่ยวกับห่วงโซ่การศึกษามาโดยตลอด เราเลยมองว่านอกจากหาคำตอบแล้วเราทำอะไรได้บ้าง จนมาเจอ Teach For Thailand อ่านวิสัยทัศน์องค์กร แล้วสนใจเลยสมัครเข้าร่วมโครงการ

“Resilience บทเรียนล้ำค่าจากบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

   คงพูดไม่ได้ว่าทุก ๆ วันที่ไปสอนเราจะเจอแต่ห้องเรียนที่ประสบความสำเร็จ หลายครั้งเราเองก็เจอกับห้องเรียนที่ท้าทาย ซึ่งอาจเกิดจากความคาดหวังที่เรามีต่อนักเรียน หรือการที่นักเรียนไม่มีส่วนร่วมกับเรา ตอนแรกเราสนใจผลลัพธ์เป็นหลัก  ทำให้กดทับความรู้สึกอยู่นาน แต่ในการทำงานตอนนั้น มันทำให้เราเจอความท้าทายอยู่ตลอดเวลา  ทำให้เราต้องหาวิธีให้ตัวเองลุกขึ้นจากความรู้สึกเหล่านั้นให้ได้เร็วเพื่อที่จะเดินหน้าต่อ เราเลยเริ่มที่จะยอมรับความรู้สึกตัวเองให้ได้ และหาทางออกให้เจอ ซึ่งเมื่อมองกลับมา ทักษะเหล่านี้สามารถช่วยเราในการทำงานปัจจุบันมาก ๆ เพราะการทำงานเอกชน มันคือการทำงานภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ หรือการที่ต้อง Focus ที่ผลลัพธ์ค่อนข้างเยอะ และมันยังมีปัจจัยภายนอกมากมายที่เราควบคุมไม่ได้ การล้มแล้วลุกไวมันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราได้ทักษะนี้จากการทำงาน 2 ปีกับ Teach For Thailand แน่นอน มั่นคง ไม่มีงานไหนที่เอื้อต่อการเติบโตผ่านการทำงานที่ท้าทายขนาดนั้นอีกแล้ว

 

“ภาพสำเร็จก่อนออกจากโรงเรียนและคำตอบที่ตามหา”

ภาพสำเร็จสำหรับเราคือ การที่วันสุดท้ายที่เราออกจากโรงเรียน เราไม่รู้สึกเสียดายอะไรเลย เรารู้สึกได้ทำทุกอย่างเต็มที่ไปหมดแล้วและความหวังที่เรามีในนักเรียนมันไม่เคยลดลง เราเชื่อว่าพวกเขาจะเติบโตมาอย่างดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน ถ้าถามถึงคำตอบที่ว่า อะไรที่ทำให้เกิดปัญหาการศึกษา เรามองว่าเราได้คำตอบว่า ปัญหาเหล่านี้มันซับซ้อนและมีปัจจัยมากมายหลากหลายที่ส่งผลให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น การศึกษาจึงต้องอาศัยการช่วยเหลือและขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน มันจึงย้อนกลับมาว่าในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เราจะสามารถหาบทบาทที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงนี้ยังไงได้บ้าง

“อยากบอกอะไรกับน้อง ๆ ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้?”

ถ้าอยากรู้ว่าเราจะจัดการความหงุดหงิดใจ และความโกรธต่อการศึกษาไทยได้ยังไง อยากให้ลองมาเรียนรู้ปัญหาเชิงลึก และมาหาคำตอบได้ที่นี่ นอกจากหาสาเหตุแล้ว ก็อย่าลืมหาบทบาทของตัวเองว่าสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org