เมื่อการศึกษายุคนี้ต้องใช้การเข้าถึง เข้าใจ และกฎแห่งแรงดึงดูด

บทสนทนาที่น่าเอ็นดูและน่าขบขันระหว่างครูและนักเรียนผ่านแอปพลิเคชันอินสตาแกรมว่าด้วยเรื่องของข้อเสียของการกินขนมซึ่งถือเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สู่การหาหนทางแก้ไขว่าปัญหานี้จะหมดไปได้ถ้าหาก “ครูซื้อมาแบ่งนักเรียน” และปิดท้ายลงด้วย “ความหวังดี”

     บทสนทนาที่น่าเอ็นดูและน่าขบขันระหว่างครูและนักเรียนผ่านแอปพลิเคชันอินสตาแกรมว่าด้วยเรื่องของข้อเสียของการกินขนมซึ่งถือเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สู่การหาหนทางแก้ไขว่าปัญหานี้จะหมดไปได้ถ้าหาก “ครูซื้อมาแบ่งนักเรียน” และปิดท้ายลงด้วย “ความหวังดี” 

     บทสนทนานี้เป็นการพูดคุยกันระหว่างครูแบม (ฐิติชญา โพธิ์แก้ว) ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 และน้องปีเตอร์ ลูกศิษย์ห้องม. 2/1 จากโรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ จังหวัดกาญจนบุรี ครูแบมรับผิดชอบสอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก ๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 แต่ในขณะเดียวกัน ความรู้จากวิชาวิทยาศาสตร์ในห้องกลับกลายมาเป็นการพูดคุยหยอกล้อที่เมื่ออ่านแล้วก็อดยิ้มตามไม่ได้ และแม้ว่าจะเป็นเพียงการพูดคุยหยอกล้อกันสั้น ๆ แต่เรากลับเห็นความอบอุ่นในความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนแฝงอยู่ในนี้ไปด้วย

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนกลับใกล้ชิดกันมากขึ้น

     บทบาทของครูแบมในวันนี้ที่ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ ครูแบมมองว่าบทบาทของความเป็นครูมันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ย้อนเวลากลับไปเมื่อตอนที่ครูแบมยังคงเป็นเด็กนักเรียนที่นั่งฟังครูสอนอยู่ในห้อง ครูในตอนนั้นค่อนข้างวางตัวอยู่ในฐานะของความเป็นครูสูง และความใกล้ชิดระหว่างตัวครูและตัวเด็กนักเรียนเองจะไม่ได้ใกล้ชิดกันมาก แบ่งแยกบทบาทชัดเจนว่าครูคือผู้สอน และนักเรียนคือผู้เรียน พอมาตอนนี้ ครูแบมที่เคยเป็นเด็กนักเรียนในห้องกลายมาเป็นครูที่สอนอยู่หน้าห้องซะเอง ครูแบมมองเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะบทบาทของการเป็นครูในยุคนี้มันไม่ใช่แค่การสอนเพียงอย่างเดียว แต่มันต้องรวมไปถึงการเข้าถึงกันระหว่างครูและนักเรียนเองด้วย เราสามารถพูดคุยกันได้ เล่นกันได้ และแลกเปลี่ยนกันได้
     น้องปีเตอร์บอกว่านักเรียนยุคนี้ต้อง “รวดเร็ว สมาร์ท และมี Mindset ที่ทันต่อโลก” เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันโซเชียลมีเดียเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของเราทุกคนเป็นอย่างมาก ทำให้ทุกอย่างต้องรวดเร็วตามกันไป และเวลามีข้อสงสัยอะไรก็สามารถถามครูได้ตลอดทั้งในห้องและนอกห้องเรียน แต่ในขณะเดียวกัน ครูแบมเองก็รู้สึกว่าตัวเองต้องปรับตัวกับความรวดเร็วนี้เหมือนกัน เด็ก ๆ แสดงความคิดเห็นกันอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ครูก็มีหน้าที่ที่จะต้องจัดการกับความคิดของตัวเองให้สอดคล้องไปกันกับนักเรียนให้ได้ ครูแบมจึงเลือกเอาเหล่าเทคโนโลยีที่เด็ก ๆ ถนัดและใช้กันเป็นประจำมาใช้อำนวยความสะดวกสบายในการเรียนการสอน และทำให้เห็นว่าความรวดเร็วและเทคโนโลยีก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้เหมือนกัน

เมื่อเราเข้าใจในธรรมชาติของความเป็นเด็ก เราจะดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้

     ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นครู ครูแบมเองก็เคยเป็นเด็กนักเรียนมาก่อน ครูแบมจึงเลือกที่จะทำความเข้าใจกับธรรมชาติของเด็ก มองเด็กนักเรียนด้วยความเมตตาและความเข้าใจว่า พวกเขายังคงเป็นเด็กอยู่ แต่แน่นอนว่าพวกเขาก็จะเติบโตขึ้นไป ครูแบมจึงใช้ความใกล้ชิด การกล้าพูดคุย และการแสดงความเห็นซึ่งกันและกันในการทำความเข้าใจเด็กนักเรียน โดยผสมรวมทั้งความจริงจังและความเป็นกันเอง เพื่อให้เด็กสบายใจกับการเรียน ซึ่งวิธีการทำความเข้าใจของครูแบบคือ การใช้ใจกับพวกเขา

     แนวทางการสอนของครูแบมคือ ครูแบมเลือกเอาเหตุผลขึ้นมาว่าทำไมครูถึงต้องสอนและนักเรียนถึงต้องเรียนเรื่องนี้ก่อน เลือกที่จะให้เด็กเข้าใจถึงเหตุผลพร้อมกับหาตัวอย่างมาให้ดู พอระหว่างการสอน นักเรียนก็จะเริ่มมีคำถาม ซึ่งถ้าหากว่าครูแบมรู้คำตอบก็จะตอบเลย แต่ถ้ายังไม่รู้คำตอบ ครูแบมก็จะหาคำตอบมาให้ในภายหลัง ถือว่าเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ครูและนักเรียนต่างก็ร่วมแชร์สิ่งต่าง ๆ ไปด้วยกัน ครูแบมสอนด้วยการอธิบาย เพราะฉะนั้น ถ้านักเรียนมีคำถาม มันแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเห็นภาพตามไปกับเราแล้ว เพราะธรรมชาติของเด็กมักจะอยู่กับการพูดคุยและซักถาม ครูแบมจึงเลือกรักษาธรรมชาติของความเป็นเด็กนี้ไว้เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่และสบายใจมากที่สุด

     น้องปีเตอร์เองก็แสดงความเห็นว่า “ผมชอบแนวการสอนของครูแบม เพราะครูแบมกล้าคุยกับนักเรียน คุยเล่น เปิดโอกาสให้ตั้งคำถามได้ และมีลูกเล่นตลอดชั่วโมง” นอกจากนี้ วิชาวิทยาศาสตร์ของครูแบมที่เรียนในห้องเรียนยังสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้อีกด้วย เพราะวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเสมอ เราเจอกับมันทุกวันอยู่แล้ว แนวการสอนของครูแบมจึงทำให้เราเข้าใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น

ความเชื่อมั่นในกฎแห่งแรงดึงดูด (Law of Attraction)

     หากมองไปรอบ ๆ ตัว เราอาจสังเกตเห็นว่า โลกมักเหวี่ยงให้เราไปเจอกับคนที่คล้ายกันกับเราอยู่เสมอ คนที่มักจะมีความชอบแบบเดียวกัน หรือมีความคิดที่คล้ายกัน เหมือนกับว่ามันมีแรงดึงดูดบางอย่างที่เชื่อมโยงเราหรือความคิดกับคนรอบตัวของเราได้จริง ๆ อย่างนั้นเลยล่ะ และหากเราค้นหาดี ๆ เราจะพบว่า แรงดึงดูดนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรู้สึกหรือเป็นเพียงแค่การคาดเดาของเราเท่านั้น แต่มันเป็นแนวคิดที่มีคนพูดถึงกันมาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งเรียกว่า “กฎแห่งแรงดึงดูด” นั่นเอง 

     “กฎแห่งแรงดึงดูด (Law of Attraction) เป็นแนวคิดเชิงปรัชญาที่มีมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ว่าด้วยเรื่องของการคิดในแง่บวกที่จะนำพาผลลัพธ์ที่ดีเข้ามาสู่ตัวของผู้คิดได้ ในขณะที่การคิดในแง่ลบก็จะนำพาผลลัพธ์ที่ไม่ดีเข้าสู่ตัวผู้คิดได้เช่นกัน” (Scott, 2022) 

     แนวคิดนี้กลายมาเป็นแนวคิดที่ทั้งครูแบมและน้องปีเตอร์ต่างก็เชื่อมั่น เพราะถ้าเราเชื่อมั่นในสิ่งใด เราก็จะสามารถเป็นแบบนั้นได้ เราจะสามารถทำสิ่ง ๆ นั้นได้โดยที่เราไม่ฝืน รวมไปถึงเรื่องของการศึกษาเอง น้องปีเตอร์ก็เชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ที่ใจที่ถ้าใจเรารักในการเรียนมันก็จะไปต่อได้ เราก็จะขวนขวายหาความรู้โดยไม่ต้องบังคับตัวเองเลย และในขณะเดียวกัน ครูแบมเองก็เชื่อว่า ถ้าคนเราเป็นคนขวนขวายเราก็จะมีแรงดึงดูดต่อสภาพแวดล้อมนั้น ๆ เราเป็นคนแบบไหนเราก็จะดึงดูดและได้อยู่ร่วมกับคนแบบเดียวกับเรา
การเข้ามาทำงานในโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ก็ถือเป็นการพาตัวเองเข้ามาอยู่ในห้องเรียนและในพื้นที่แห่งการศึกษา เราได้เห็นพัฒนาการของเด็กนักเรียน ไฟและพลังในตัวพวกเขา หรืออย่างน้องปีเตอร์เองก็เป็นคนที่เข้าหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ชอบการขวนขวายแล้วเอามาบอกต่อหรือแนะนำครูแบมด้วย มันทำให้ทั้งตัวครูแบมและเด็กนักเรียนร่วม ‘พัฒนา’ ไปด้วยกัน เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งในการสอนพวกเขาและเราก็ได้เรียนรู้ไปกับพวกเขาเช่นกัน

สิ่งที่อยากฝากถึงการศึกษาไทย

     สุดท้ายนี้ ครูแบมอยากฝากถึงระบบการศึกษาไทยว่า “เรายังไม่เห็นความเท่าเทียมในระบบการศึกษาหรอก แต่เราเป็นส่วนหนึ่งในความเท่าเทียมได้ โดยเราเริ่มจากตัวเองก่อน เราปรับใจตัวเองให้เท่าเทียมกับเด็ก เราปรับที่ตัวเองแล้วเราค่อยไปปรับที่อื่น และพอเราปรับตัวเองได้แล้ว เราก็จะเข้าใจคนอื่นและมองภาพที่กว้างขึ้นได้ เข้าใจมากขึ้นว่าเรากับเด็กสามารถเข้ากันได้ สร้างความเท่าเทียมให้กับตัวเราและคนที่อยู่กับเราก่อน”

อ้างอิงจาก

Scott, E. (2022, November 07). What is the Law of Attraction?. Verywell Mind. Retrieved from https://www.verywellmind.com/understanding-and-using-the-law-of-attraction-3144808