ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

เมื่อซานต้ามาเยือน
เพี้ยนพินอนุสรณ์

ครูมีส (ลมีส สาดและ)
ครูเหมียว (ปุญชรัสมิ์ บุญมา)

By กัฑลี กนกคีขรินทร์

คริสต์มาสที่โรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ในปีนี้พิเศษยิ่งกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา เพราะการมาร่วมทำกิจกรรมของตัวแทนจากบริษัทแมรีกอท จิวเวลรี่ (ประเทศไทย) ในเครือสวารอฟสกี ที่ทำให้ทั้งครู อาจารย์ และนักเรียนทุกคนได้รู้สึกหัวใจพองโต

ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มุ่งมั่นในการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีระหว่างผู้สนับสนุนโรงเรียนกับโรงเรียน รวมถึงครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ทุกคน เพราะเราเชื่อมั่นว่าการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพต้องอาศัยความร่วมมือที่มั่นคง ยั่งยืน และต่อเนื่องจากหลายภาคส่วน หน่วยงาน และองค์กรในสังคมที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกันเปรียบเสมือนมือหลายๆ มือที่ร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ออกมาเป็นภาพใหญ่ที่สำเร็จสวยงาม

เพี้ยนพินอนุสรณ์เป็นหนึ่งในโรงเรียนขยายโอกาสร้อยกว่าแห่งของกรุงเทพมหานคร ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างใหญ่ในเขตบางนาชายขอบกรุงเทพ จากเดิมที่มีแต่ชั้นประถม ปัจจุบันมีการจัดการสอนถึงชั้นมัธยมต้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆในชุมชนรอบข้างถึง 7 ชุมชนได้รับการศึกษา

เด็กส่วนใหญ่ที่นี่มาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะดีนักและโรงเรียนเองก็มีทรัพยากรที่จำกัด การมีผู้สนับสนุนจากภายนอกเข้ามาจัดกิจกรรมวันคริสต์มาสท่ามกลางสถานการณ์โควิดจึงสร้างความตื่นเต้นครึกครื้น และนำความสุขมาให้ทั้งเด็กนักเรียนและครูอาจารย์ทุกคนในโรงเรียนแห่งนี้

จุดเริ่มต้นของกิจกรรม

บริษัท แมรีกอทจิวเวลรี่ (ประเทศไทย) ในเครือสวารอฟสกี ได้แสดงความสนใจที่จะจัดกิจกรรมวันคริสต์มาสให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

ครูมีสเล่าถึงที่มาว่า “เพราะว่าอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด เราจึงต้องประชุมวางแผนกันว่าจะจัดกิจกรรมแบบไหน ซึ่งตอนนั้นมีสกับเหมียวช่วยกันคิดไว้ 3 ตัวเลือก คือ แบบเต็มวัน แบบครึ่งวัน และจัดแบบออนไลน์ หากสถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้น เมื่อบริษัทแจ้งว่าสะดวกที่จะทำกิจกรรมครึ่งวัน เราก็ประสานงานกับทางผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายภาษาต่างประเทศ”

“กิจกรรมวันนั้น มีทั้งกิจกรรมคริสต์มาสบนเวที โชว์การแสดงจากนักเรียน กิจกรรมแนะแนวอาชีพจากบริษัท โดยคุณสเตฟาโนซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทนำทีมเจ้าหน้าที่อาวุโส และหัวหน้าแผนกต่างๆ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานในแต่ละตำแหน่ง พร้อมทั้งร่วมแจกของขวัญคริสต์มาส มีการพาผู้สนับสนุนเยี่ยมชมโรงเรียน พูดคุยกับผู้บริหาร และชมบรรยากาศการเรียนการสอนในห้องเรียน” ครูเหมียวเล่าเกี่ยวกับกิจกรรมในวันนั้น

อุปสรรคในการจัดงาน

ครูทั้งสองคนเล่าว่า ถึงจะมีเวลาเตรียมงานไม่นานแต่กิจกรรมทุกอย่างก็ผ่านไปอย่างราบรื่น แม้จะมีงบประมาณในการเตรียมงานที่จำกัดแต่ทั้งผู้อำนวยการ ครูในโรงเรียน และนักเรียนต่างร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานอย่างเต็มที่

ครูมีสเล่าว่า “เราพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด
อะไรที่ทำเองได้ก็ทำ เช่น ตกแต่งเวทีด้วยการ์ด
วันคริสต์มาสที่เด็กๆ ทำขึ้นในวิชาภาษาอังกฤษ”

“ชุดในการแสดง เราก็พยายามใช้เสื้อผ้าที่เด็กๆ
มีอยู่แล้ว เช่น เสื้อขาว กางเกงดำ ส่วนเครื่องสำอาง
ก็ใช้ของเหมียว และอะไรที่เราพอช่วยเหลือนักเรียนได้
เราก็ช่วย” ครูเหมียวเสริม

ประโยชน์ที่ได้รับ

ครูทั้งสองคนเล่าว่า เมื่อจบกิจกรรมได้สัมภาษณ์นักเรียน 20 กว่าคน นักเรียนทุกคนชอบมาก รู้สึกตื่นเต้น สนุก เพราะเทอมนี้ไม่มีกิจกรรมเลยเนื่องจากโควิด

“เมื่อวันที่พี่ๆ ได้มาบอกความรู้เกี่ยวกับงานที่พี่ๆ
ได้ทำมันเหมือนการได้เปิดโอกาสกับการรู้เรื่องงานใน
หลายๆ ตำแหน่ง และหนูก็ได้ความรู้เกี่ยวกับการเลือก
สายที่จะเรียนและการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นให้คุ้มค่าที่สุด
และในเรื่องการเรียนก็ทำให้เต็มที่ที่สุด อยากขอบคุณ
พี่ๆ มากๆ เลยค่ะ ที่ได้มาให้ความรู้และให้สิ่งของเล็กๆ
น้อยๆ ถึงแม้ว่าเราจะได้เจอกันแค่ครั้งเดียวแต่หนูหวัง
ว่าเราจะได้กลับมาพบกันอีกครั้งค่ะ” ด.ญ. ปิยะฉัตร
เขียนขอบคุณ

นักเรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษจริงๆ ได้ลองฟังชาวต่างชาติจริงๆช่วงกิจกรรมหน้าเวที มีการเตะฟุตบอลร่วมกันระหว่างนักเรียน กับ คุณสเตฟาโนและคุณอัลฟอนโซ นักเรียนได้ลองฝึกพูดภาษาอังกฤษ ช่วยสร้างความมั่นใจให้พวกเขา

นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดพื้นที่แสดงออกของนักเรียนเด็กๆ ได้พัฒนาความเป็นผู้นำ มีรุ่นพี่มาสอนน้องม. 1 พัฒนาทักษะให้กล้าแสดงออก เด็กบางคนที่ขี้อายมากพอได้รับโอกาสในการแสดงออกก็ทำเต็มที่

ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเองก็ได้ความรู้ในเรื่องการเตรียมงานรูปแบบพิธีการในการจัดกิจกรรม ฝึกทักษะการประสานงานกับหลายฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ โรงเรียน และผู้สนับสนุน เพราะมีการประชุมร่วมกันทั้งสามฝ่ายทำให้เข้าใจเป้าหมายที่มีร่วมกันได้ตรงกัน

โครงการในอนาคต

ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้น ผู้สนับสนุนมีแผนที่จะเชิญนักเรียนไปทัศนศึกษาโรงงานของบริษัท แมรีกอท จิวเวลรี่ ในจังหวัดอยุธยา ซึ่งจะเป็นการสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจ รวมถึงให้ความรู้ในด้านสายงานอาชีพที่หลากหลายให้นักเรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางโรงเรียนก็ยินดีที่จะจัดกิจกรรมร่วมกับผู้สนับสนุนจากภายนอกอีก

โอกาสในการกำหนดอนาคตที่ดี

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนทรัพย์เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยจริงๆหลายครั้งที่หัวใจเราเองพร้อมที่จะสนับสนุน ผลักดันนักเรียนเต็มที่มีไอเดียในการจัดกิจกรรมในห้องเรียนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการเรียนรู้สูงสุดแต่ทำตามที่ตั้งใจไว้ไม่ได้ เพราะมีอุปสรรคเป็นค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การสอน เครื่องมือต่างๆ จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียม

นักเรียนต้องการจะเล่นฟุตบอลแต่ไม่มีรองเท้า ก็ต้อง
ใช้เงิน นักเรียนใฝ่ฝันจะเป็นนักอบขนม แต่ไม่มีเตาอบ
ความฝันก็ค่อยๆ จางไป นี่คือข้อจำกัดเรื่องการเงิน
ผู้ปกครองหลายท่านลำพังค่าใช้จ่ายในครอบครัว
ก็ค่อนข้างมีภาระเยอะเพราะฉะนั้นอยากจะขอบคุณ
ผู้สนับสนุนจริงๆ ที่ช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาให้
เด็กอีกหลายๆคน” ครูมีสกล่าว

 “อีกมุมมองหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักเรียนคือทุนการศึกษา เด็กไทยส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ผู้ปกครองมีทั้งเสียชีวิต ตกงาน และต้องกักตัวเพราะโควิด การจะเรียนออนไลน์ได้ ต้องใช้ทั้งโทรศัพท์ ต้องเติมเงินซื้ออินเตอร์เน็ต

การที่จะให้เด็กคนนึงเข้าเรียนออนไลน์จึงเป็นเรื่องยากเพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้นักเรียนไม่ได้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะทั้งความเครียด ทั้งความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์และสภาพแวดล้อม เด็กบางคนต้องนอนรวมกับพ่อแม่ ไม่มีพื้นที่ในการเรียน

ถ้ามีการสนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กที่มีความเดือดร้อน
จริงๆ พ่อแม่ก็จะเบาใจในเรื่องค่าใช้จ่าย เด็กๆ ได้เรียน
หนังสือ เข้าถึงการเรียนที่ดีขึ้น หรืออาจจะเป็นทุนระดับ
ม. ปลาย เพราะเด็กหลายคนอยากเรียน ม. ปลาย แต่
ไม่มีโอกาส บางคนก็อยากเรียนสายอาชีพ แต่หลายคน
มองภาพตัวเองไม่ออกว่าจบ ม. 3 แล้วจะได้เรียนต่อ
ไหม ถ้ามีทุนให้ พวกเขาน่าจะมีโอกาสในอนาคตที่ดีขึ้น”
ครูเหมียวเล่าความในใจ

ความสัมพันธ์ที่มากกว่าการให้

มูลนิธิสวารอฟสกี (Swarovski Foundation) ร่วมเป็นพันธมิตรกับทีช ฟอร์ ไทยแลนด์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยทางมูลนิธิมีวิสัยทัศน์และพันธกิจในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากการเล็งเห็นว่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มีวิสัยทัศน์เดียวกันในการสร้างความเท่าเทียมเพื่อให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้มูลนิธิสวารอฟสกีให้การสนับสนุนครูในโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ไม่เพียงแต่ให้ทุนสนับสนุนในการดำเนินงานของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เท่านั้น แต่บริษัท แมรีกอท จิวเวลรี่ (ประเทศไทย) ในเครือสวารอฟสกียังมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมในโรงเรียน หรือการเปิดพื้นที่โรงงานให้นักเรียนได้ทัศนศึกษา ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจและสร้างโอกาส รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้นักเรียนหลายๆ คนกล้าที่จะฝัน และกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ในอนาคต  

การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาไทยที่ทุกคนมีบทบาท ร่วมกันได้

การศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและลดช่องว่างทางรายได้ ดังที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้เป็นเป้าหมายที่ 4 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความ
ร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่โรงเรียน อาจารย์ นักเรียน
แต่เป็นการมีส่วนร่วมของทั้งผู้ปกครอง ชุมชนโดยรอบ
องค์กรต่างๆ ภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เข้ามามีบทบาทในการสร้าง
เสริมประสบการณ์ทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งในและนอก
ห้องเรียนในระยะยาว ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุน
การศึกษาไทยได้ ผ่านลงมือทำ โดยเริ่มจากก้าวเล็กๆ ที่อาจเป็น
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เหมือนการที่
ซานต้าได้มาเยือนโรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ และทำให้ภาพความ
ฝันของเด็กๆ หลายคนชัดเจนขึ้นมา