เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดี หมายถึงความเหลื่อมล้ำที่ลดลง

“ผมยังต้องอยู่ในโลกนี้ต่อไป จึงอยากให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี อยากให้มันดูน่าอยู่ขึ้นในอนาคต” เสียงจากท็อป สิทธิศักดิ์ วรรณทอง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนปักธงชัยชุณหะวัณวิทยาคาร จังหวัดนครราชสีมา ทำให้เราฉุกคิดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โรงเรียนของท็อปเพิ่งได้รับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนับเป็นเครื่องมือการเรียนรู้สำคัญสำหรับนักเรียนในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

     โครงการติดตั้งโซลาเซลล์ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด

     “นี่เป็นโครงการที่เราสองคนได้เสนอไปทาง ซีเค พาวเวอร์ ตอนฝึกงานภาคฤดูร้อนปีที่แล้ว  ตอนแรกก็ไม่นึกว่าจะเป็นไปได้ แต่ปรากฏว่ามันเกิดขึ้นจริง” ชนิษฐ์ภัค ภูมิสูง ครูผู้นำฯ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 9 เล่าถึงความเป็นมา

     “ตอนแรกคิดว่าเป็นไปไม่ได้เพราะใช้งบประมาณสูงมาก แต่พอได้รับการอนุมัติ นักเรียนของเราก็เข้าถึงพลังงานสะอาดจริง ที่ไม่ใช่โมเดลในหนังสือ และสามารถนำไปต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ได้มากเลยค่ะ”

     “โรงเรียนประหยัดงบประมาณได้จำนวนหนึ่ง ไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์ถูกนำมาใช้กับปั๊มน้ำสำหรับรดสนามฟุตบอล เพราะที่โรงเรียนปลูกหญ้าจริงแต่ทางภาคอีสานฝนไม่ได้ตกเยอะ” หวันยิหวา รักนุ่น ครูผู้นำฯ อีกหนึ่งคนเล่าถึงประโยชน์ของโครงการ

     ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง พวกเธอเชื่อว่าการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจะทำให้ประเทศไทยไปข้างหน้าได้ไกลขึ้น

     “ถ้าเราพัฒนาตัวบุคคล เขาก็สามารถไปสร้างผลกระทบส่งต่อไปในอนาคตได้เป็นทอดๆ เช่น นักเรียนที่เราสอนอยู่ตอนนี้ ในอนาคตเขาอาจจะไปสร้างนวัตกรรมอะไรสักอย่างที่ช่วยสิ่งแวดล้อม” หวันยิหวาบอก

     “ในวิชาวิทยาศาตร์ เราต้องสอนเรื่องชั้นบรรยากาศและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ชนิษฐ์ภัคเล่า “การสอนให้นักเรียนตระหนักเป็นเรื่องยาก เลยเน้นสอนสิ่งที่เกี่ยวกับนักเรียนโดยตรง ให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยง เห็นว่าทั้งเราและสิ่งแวดล้อมต่างส่งผลกระทบต่อกัน และจะหาวิธีอยู่ร่วมกันได้อย่างไร”

     “เรื่องภาวะโลกรวน (climate change) เป็นเทรนด์ที่มีมาตลอด สิ่งสำคัญคือเราจะสามารถสร้างการตระหนักรู้ให้นักเรียนเข้าใจได้อย่างไร ให้รู้ว่าตรงกลางสำหรับเราและสิ่งแวดล้อมคืออะไร ทำอย่างไรให้ทรัพยากรในโลกอยู่กับเขาไปนานๆ” ชนิษฐ์ภัคเสริม

     ไม่ใช่เพียงความก้าวหน้าของประเทศในภาพรวมเท่านั้น ครูผู้นำฯ ทั้งสองยังเห็นว่าการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย

     “ในบทเรียนเรื่องเศรษฐกิจ เราก็ยังสามารถเชื่อมโยงเรื่องความเหลื่อมล้ำเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ เช่น แม้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะกระทบคนทุกระดับ แต่ทำไมคนบางกลุ่มจึงสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า” หวันยิหวาเล่า “แต่เราบอกเด็กๆ ว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร มีฐานะอย่างไร เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหรือทำสิ่งเล็ก ๆ ที่ช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้”

     สำหรับชนิษฐ์ภัค การให้การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม “ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดลง หมายถึง โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่มากขึ้น เพราะทำให้เกิดการกระจายรายได้และสร้างงาน”

     สุดท้าย ครูผู้นำฯ ทั้งสองฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ให้ช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม

     “ถ้าเราผลักดันเรื่องนี้คนเดียว ก็อาจไม่มีผลกระทบมาก แต่ถ้าเราสร้างเครือข่ายได้ ก็จะเกิดผลกระทบที่ใหญ่และหนักแน่น” หวันยิหวาให้ความเห็น

     ส่วนชนิษฐ์ภัคบอกว่า

     “ในฐานะบุคลากรที่ทำงานใกล้ชิดกับเยาวชนของชาติ การจัดสภาพแวดล้อมที่ดี และการให้การศึกษา [เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม] ที่สม่ำเสมอ จะช่วยให้นักเรียนเปิดใจซึมซับสิ่งเหล่านี้ ช่วยให้ป้องกันและรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ ‘สายเกินไป’ ได้แน่นอนค่ะ”

     วันที่ 22 เมษายน เป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ซึ่งมีขึ้นเพื่อให้พลเมืองในทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักถึงความจำเป็นของการรักษา และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ขอเชิญชวนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเด็นนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน