10 ปีแห่งการสร้างผลกระทบในวงกว้าง

สร้างความเป็นไปได้ เพื่อให้เด็กไทยเป็นพลเมืองโลก

ปัจจุบัน แฟร์ วรชาภา บรรยงคิด ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 3 ทำงานต่อในฐานะครูวิชาคณิตศาสตร์บูรณาการที่โรงเรียนรุ่งอรุณ การเดินทางต่อในสายการศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่อยู่ในใจแฟร์ตั้งแต่สมัครเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รวมถึงความรู้และแรงบันดาลใจที่ติดตัวแฟร์จากระยะเวลา 2 ปีในโครงการ ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จัก และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่แฟร์ทำให้เกิดในเส้นทางการศึกษามากขึ้น “เราตอบตัวเองตั้งแต่สมัครเข้า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ว่าสายงานที่อยากใช้เวลามากที่สุดคือการพัฒนาคน เราอยากพัฒนาคนตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เพราะเด็กจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และคนหนึ่งคนจะส่งต่อเรื่องราว สังคม และพื้นที่ดี ๆ ต่อไปอีก”

เปลี่ยนความตั้งใจให้กลายเป็นเรื่องจริง

“ถ้าไม่ได้ครูเปา อัมพรคงไม่ได้เรียนต่อ” เสียงจากคุณนาป๋า ไอ่ลี แม่ของอัมพร นักเรียนคนหนึ่งที่เรียนกับ เปา นพดล บุตรสาธร ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 5 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่ขยายออกไปจากนอกห้องเรียน และเปลี่ยนแปลงชีวิตนักเรียนได้ อัมพรได้เจอกับครูเปาที่โรงเรียนแม่วินสามัคคี อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เปาได้เข้าไปสอนในฐานะครูผู้นำ ฯ และได้สนิทกับครอบครัวของอัมพรรวมทั้งนักเรียนคนอื่นๆ

ภารกิจที่มากกว่าในห้องเรียน

“ผมรู้ว่าตัวเองได้รับการศึกษาที่ดี เลยอยากตอบแทนคืนระบบการศึกษา ประกอบกับในอนาคตอาจจะไม่ได้ทำอะไรแบบนี้ที่ท้าทายอีกแล้ว” วอลนัท ศุภณัฐ เลิศประเสริฐภากร ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่น 2 แบ่งปันเกี่ยวกับการทำงานเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 2 ปี วอลนัทได้ไปสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนฉิมพลี เขตตลิ่งชัน จังหวัดกรุงเทพ และทำให้นักเรียนมีผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ดีขึ้น จากเดิมที่หลายคนยังคำนวณขั้นพื้นฐานไม่เป็น

สานเครือข่ายเพื่อเปลี่ยนการศึกษาในภาพใหญ่

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือการที่ศิษย์เก่าที่จบออกไปได้ทำงานขับเคลื่อนการศึกษาไทยต่อในเชิงระบบ ปัจจุบัน ศิษย์เก่าทุกคนมีทักษะและประสบการณ์ที่มีค่าต่อสายงานที่ไปทำงานต่อ ศิษย์เก่าหลายคนกำลังศึกษาต่อ ทำงานในบริษัทเอกชน และกว่าครึ่งหนึ่งทำงานด้านการศึกษาต่อ โดยเฉพาะในภาคนโยบาย นวัตกรรมการศึกษา และเป็นผู้นำในโรงเรียน ทำให้การศึกษาในภาพใหญ่เปลี่ยนไปในเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง ความสำคัญของการทำงานเชิงระบบ อาจสะท้อนอยู่ในคำพูดของไวท์ สุวิมล วัฒนาภา ซึ่งปัจจุบันศึกษาต่อปริญญาโทด้านนโยบาย การศึกษา และสังคม ที่ King’s College London ประเทศอังกฤษ เธอได้เห็นว่า ในห้องเรียนมีวิธีการจัดการเรียนการสอนหลายแบบ และสามารถทำให้มีประสิทธิภาพได้ แต่หลายครั้งนโยบายกลับไม่เอื้ออำนวย “บางครั้งเราอุตส่าห์คิดวิธีการสร้างสรรค์มากมาย แต่นโยบายก็สำคัญเพื่อให้วิธีเหล่านั้นใช้ได้จริง การทำงานเชิงนโยบายจะทำให้สร้างผลกระทบได้มาก ถ้าทำแยกๆ กัน ก็มีโอกาสไปคนละทางกัน”

เติมเต็มโรงเรียนและชุมชน ด้วยพันธกิจสานต่อผลกระทบในวงกว้าง

“ครูเฟรนด์ได้ช่วยให้นักเรียนมีความกล้าเข้าหาครู ล่วงรู้ปัญหาที่แท้จริงของเด็ก และยังติดอาวุธทางปัญญาที่ติดตัวครูมา ทำให้โรงเรียนวังเหนือมีทรัพยากรมากขึ้น” เสียงจากผู้อำนวยการเธวิญ เย็นใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนวังเหนือวิทยา จังหวัดลำปาง เล่าให้ฟังถึงครูเฟรนด์ ชัยวิญญ์ สุทธิบุญ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 8 ที่นอกเหนือจะได้เข้าไปสอนวิชาวิทยาศาสตร์แล้ว ยังได้เปิดห้องให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา ให้นักเรียนได้เข้าหาครูเพิ่มอีกช่องทาง “ครูจาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มีความเก่ง และเป็นสมัยใหม่ เน้นพัฒนาทักษะ การมีส่วนร่วม และจุดประกายความคิดให้เด็กๆ ได้มาก”

จุดประกายความเชื่อมั่น เปลี่ยนชีวิตนักเรียนจากความเชื่อ

“ครูวิ่งจะมีคำพูดติดปากว่า You Can Do It (คุณทำได้) จากตอนนั้นที่ผมท้อว่าไม่สามารถช่วยอะไรเพื่อนๆ ในทีมได้ ก็เริ่มมาคิดว่ามีอะไรที่เราพอจะทำได้บ้าง” เสียงสะท้อนจากจ๊อบ นักเรียนคนหนึ่งที่เคยเรียนกับครูวิ่ง ปาณิสรา สุขเสริม ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 3 ทำให้เห็นแง่มุมบางอย่างที่อยู่ในการสอนของครูผู้นำฯ “ถ้าไม่ได้เจอครูวิ่ง ผมก็คงจะเป็นคนที่ไม่เปิดใจ ไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ โหยหาแต่สิ่งที่ตัวเองถนัด ไม่กล้าออกจาก Safe Zone ของตัวเอง”

แรงใจและไฟฝัน ลมใต้ปีกสานอนาคตเด็กไทย

“มีครั้งหนึ่งเดินทางจะไปประชาสัมพันธ์โครงการ แล้วรถเสียบนทางด่วน เราก็เลยคิดว่าจะทำอะไรดีระหว่างรอ ก็เลยเอาป้ายคัตเอาท์ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มาวางประชาสัมพันธ์ข้างทางด่วน” ทราย ณิชา พิทยาพงศกร ปัจจุบันเป็นนักวิจัยและที่ปรึกษาอิสระ หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รำลึกความหลัง ในวันที่เธอต่อสู้ฟันฝ่ากับทีม เพื่อให้องค์กรนี้ตั้งขึ้นได้ “เราคุยกับทีมว่า ไม่รู้ว่าจะตั้งองค์กรนี้ได้มั้ย ถ้าไม่ได้ก็ถือว่าได้ลอง และแยกย้ายกลับไปทำงานเอกชนเหมือนเดิม” ในเรื่องราวของการก่อตั้งองค์กรเพื่อการศึกษา ที่หวังจะเป็นผู้จ้างงานอันดับหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเลือก มีผู้คนมากมายที่อยู่เบื้องหลัง เป็นเสมือนลมใต้ปีกที่ส่งให้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ สานอนาคตเด็กไทยมาได้ 10 ปีแล้ว

เป็นได้มากกว่า เพื่ออนาคตประเทศที่ดีกว่า

ปัญหาการศึกษาไทยมีความซับซ้อนมาก และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แก้ปัญหาได้สำเร็จ คือคนจากในทุกภาคส่วนที่เห็นความสำคัญ เข้าใจปัญหา และมีประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหานี้ ไม่เพียงเท่านั้น อีกส่วนที่สำคัญยิ่งกว่า คือความเชื่อร่วมกันว่า เราทุกคนมีศักยภาพ และเด็กนักเรียนทุกคนมีศักยภาพที่จะเคลื่อนอนาคตของตนเองไปข้างหน้า หากได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน