เมื่อความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท แปรเปลี่ยนเป็นชัยชนะ แม้จะลงมือทำโดยไม่หวังผลกำไร แต่ทุกความสำเร็จย่อมนำมาสู่เรื่องราวและการเปลี่ยนแปลงที่ดี เช่นเดียวกับกลุ่มนักเรียนเจ้าของผลงาน “ตู้ย่อยสลายมหัศจรรย์” จากโรงเรียนมัธยมวัดดาวคนอง จ. กรุงเทพมหานคร ที่เพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดความคิดโครงการ “Say Yes to Less Plastic Idea Contest” โดย Chubb Life และ Teach For Thailand ร่วมกันจัดขึ้น และประกาศผลผู้ชนะเลิศไปเมื่อเร็วๆ นี้
“เติมพงศ์ กิจจานุลักษ์” หรือ “ครูบุ๊คบิ๊ก” ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 5 ของ Teach for Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในครูที่ปรึกษาและดูแลทีมเจ้าของผลงาน “ตู้ย่อยสลายมหัศจรรย์” เล่าถึงการเตรียมตัวในการทำโครงการนี้ว่า “สิ่งที่เห็นชัดมากในโรงเรียนคือปัญหาเรื่องขยะที่เป็นขวดพลาสติกและแก้วพลาสติก ซึ่งไม่มีการคัดแยก เด็กๆ เลยเริ่มต้นจากการคิดถึงเครื่องแยกขยะ จากนั้นก็คิดต่อไปเรื่อยๆ ว่าปัญหาการไม่แยกขยะ เพราะคนมองว่าขยะไม่มีคุณค่า ดังนั้น ถ้าแยกขยะแล้วนำพลาสติกไปย่อยสลาย และนำกลับมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระถางต้นไม้ รองเท้า เพื่อนำไปสร้างรายได้มาเป็นเงินปันผลให้กับนักเรียน เท่านี้ทุกคนก็จะเห็นคุณค่าของขยะมากขึ้น”
โครงการนี้ทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการสังเกตตั้งคำถาม หาเหตุ และวิธีการแก้ปัญหา โดยระหว่างกระบวนการในการตกผลึกหาข้อสรุปจะมีครูทั้งครูบุ๊คบิ๊กซึ่งเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ Teach For Thailand และครูประจำโรงเรียน ร่วมกันเป็นที่ปรึกษาให้นักเรียน สร้างเป็นผลงานความคิดที่ออกมาดีที่สุด โดยในส่วนของครูบุ๊คบิ๊กจะเป็นที่ปรึกษาในส่วนของการทำพรีเซ็นเทชั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาถนัดและมีประสบการณ์ในงานด้านนี้
“ความที่โครงการนี้เป็นการนำเสนอความคิดผ่านพรีเซ็นเทชั่นหลังจากผ่านรอบคัดเลือก 10 ทีมสุดท้าย ซึ่งคัดเลือกจากการนำเสนอความคิดผ่านตัวอักษร 1 หน้ากระดาษ เด็กๆ จะต้องเตรียมตัวนำเสนอผลงานกับคณะกรรมการทางออนไลน์ โดยมีระยะเวลาในการเตรียมตัวทำพรีเซ็นเทชั่นประมาณ 10 วัน ซึ่งเราเองพอจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานพรีเซ็นต์พอสมควร จึงแนะนำรูปแบบการทำพรีเซ็นเทชั่นที่น่าสนใจ โดยทำเป็นกราฟิก 3 มิติ แล้วเด็กๆ ก็พยายามซ้อมพรีเซ็นต์กันหนักมาก
เรียกได้ว่าเป็น 10 วัน ที่เต็มไปด้วยความกดดัน เพราะเราเองอยากให้เขาได้เข้าใจสถานการณ์ของความกดดันในช่วงเวลาที่ต้องพรีเซ็นต์จริง และระหว่างทางก็มีเรื่องราวมากมายทั้งต้องล้มโมเดลที่คิดไว้ตอนแรกใหม่ ปรับสคริปต์ มีเด็กท้อถอดใจ แต่สุดท้ายเขาก็กลับมาขอสู้ใหม่ เด็กอีกคนถูกที่บ้านพูดบั่นทอนจิตใจใน ขณะที่อีกคนถูกพ่อตำหนิเพราะต้องกลับบ้านดึก ส่วนเด็กอีกคนเรียนนาฏศิลป์ต้องไปซ้อมรำ ทั้งหมดกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้งานชิ้นนี้มีความยากมากขึ้น แต่ทั้ง 5 คนก็ไม่ท้อ ตั้งใจซ้อมสุดพลัง ถึงวันที่ต้องนำเสนอผลงานผ่านทางออนไลน์กับคณะกรรมการจริงๆ เราบอกเขาแค่ว่าทำให้เหมือนที่ซ้อม คิดเสียว่าเหมือนซ้อมอีกครั้ง ถึงจะแพ้ก็ไม่เป็นไรเพราะอย่างน้อยเราลงมือทำกันเต็มที่แล้ว”
แม้เบื้องหลังความสำเร็จจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่สุดท้ายปลายทางของพวกเขาคือชัยชนะ นอกจากจะได้เงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 130,000 บาท โดยแบ่งเป็นทุนในการนำไปทำโครงการที่นำเสนอให้เกิดขึ้นจริง 80,000 บาท และเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน 50,000 บาทแล้ว การได้รับรางวัลครั้งนี้ครูบุ๊คบิ๊กบอกว่าเป็นเหมือนประตูสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
“อย่างแรกคือการพัฒนาในตัวของเด็กๆ เอง จากคนที่พูดสคริปต์พรีเซ็นต์แบบธรรมดา เปลี่ยนเป็นคนที่สามารถพรีเซ็นต์ได้อย่างมีสไตล์และน่าสนใจ หรือจากคนที่ไม่มีความมั่นใจ กลายเป็นเด็กที่กล้าพูดกล้าทำ กล้าแสดงความคิดเห็นได้อย่างไม่เคอะเขิน หรือคนที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ก็ดีขึ้นอีก เด็กๆ รู้จักเคารพและเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น รวมถึงครอบครัวจากที่ปิดประตูใส่เพราะไม่คิดว่าลูกหลานจะสามารถทำได้ แต่เมื่อมีรางวัลเป็นเครื่องการันตี พ่อแม่ผู้ปกครองก็เปิดใจและเห็นความสามารถของเด็กมากขึ้น จึงพร้อมที่จะสนับสนุนให้เด็กได้มีการพัฒนาต่อไป”
ไม่ใช่แค่นักเรียนที่รางวัลชนะเลิศจากโครงการ “Say Yes to Less Plastic Idea Contest” ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ครูที่ปรึกษาอย่างครูบุ๊คบิ๊กเองก็เช่นกัน
“การทำโครงการนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด เพราะคนหนึ่งคนมีทั้งข้อดีและข้อเสียในช่วงระยะเวลาการเตรียมตัวที่ค่อนข้างจำกัดนี้ เราเองก็มีงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบ หากไม่ไว้วางใจให้ครูท่านอื่นเข้ามาช่วยซัพพอร์ต ถือทุกอย่างไว้ในมือคนเดียวหมด ผลที่ออกมาอาจไม่ได้ดีที่สุด"
"ความที่เราเองเป็นคนทุ่มเทใส่พลังในการทำงานอย่างสูงสุด mindset ของเราคือ ทุกอย่างต้องเป็นไปได้ ในขณะที่นักเรียนเองอาจไปได้ไม่ไหวเท่าที่เราผลักดัน ก็จะมีคุณครูท่านอื่นๆ ช่วยซัพพอร์ตและทำให้ทุกอย่างคลี่คลายได้มากขึ้นตามความถนัดของแต่ละคน
สิ่งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด แต่เราควรทำในสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด และปล่อยพื้นที่อื่นๆ ที่เราทำได้ไม่ดีให้คนที่ทำได้ดีที่สุดเป็นคนทำ สุดท้ายปลายทางคือความสำเร็จที่เราตั้งเป้าหมายไว้เหมือนกัน” ครูบุ๊คบิ๊กเล่าทิ้งท้าย