Learning Box
ทางเลือกใหม่ในการสร้าง
โอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ

ครูณัท (ณิชกุล เรืองภูงา)

เมื่อสถานการณ์การดำเนินชีวิตตกอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างมีขีดจำกัด ทั้งในด้านการเดินทางและการทำกิจกรรมรวมกลุ่มกัน การเรียนการสอนออนไลน์ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกสำคัญของระบบการศึกษาไทย เพราะการสื่อสารไร้สายยุค 5G ที่ใช้แค่อุปกรณ์สื่อสารกับสัญญาณอินเตอร์เน็ตนั้น เป็นความสะดวกที่ทำได้ง่ายไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลกันเพียงใดก็ตาม แต่การเรียนออนไลน์ก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองในหลายๆ ครอบครัว

“ไม่ต้องนับเรื่องการขาดอุปกรณ์สื่อสารซึ่งเป็นปัญหาหลักของการเรียนออนไลน์ที่เห็นได้ชัดที่สุด สำหรับบางคนที่ถึงจะมีทั้งโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต และมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตแต่ถ้าเขาจะต้องเรียนผ่านไลฟ์ เข้า Google Meet ใช้อินเตอร์เน็ตเรียนออนไลน์ตลอดวัน อินเตอร์เน็ตที่มีก็ยังไม่พอ

และยังมีปัญหาจากบริบทแวดล้อมที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ไฟฟ้าดับต่อเนื่องข้ามคืนข้ามวัน รวมถึงข้อเสียของการใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไป ทำให้เด็กสายตาเสียและไม่มีสมาธิมากพอในการทำความเข้าใจบทเรียน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราตระหนักว่าการเรียนออนไลน์อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป”

นี่เป็นปัญหาที่พบจากการสอนออนไลน์ของ “ครูณัท – ณิชกุล เรืองภูงา” ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 6 ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ โรงเรียนสะเมิงพิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ โดยครูณัทเล่าว่า ได้มีการรวบรวมปัญหาจากการพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อนครูผู้นำรุ่น 6 และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำ Learning Box หรือ กล่องการเรียนรู้ เพราะครูผู้นำฯ ทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า

ผู้นำที่ดีต้องไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

แผนการเรียนในรูปแบบ Learning Box จึงเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันของครูผู้นำฯ 5 คน ประกอบด้วย ครูณัท กับ “ครูหนุงหนิง – ณัฐชญา แดนโพธิ์” ซึ่งเป็นครูผู้นำฯ รุ่น 6 ที่สอนอยู่โรงเรียนเดียวกัน และเพื่อนร่วมรุ่นอีก 3 คนที่อยู่โรงเรียนต่างๆ

ได้แก่ “ครูมิกซ์ – วสิษฐา ฉาบเทียนทอง” ครูผู้นำฯ จากโรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคม จังหวัดกาญจนบุรี “ครูเบ๊ – ณัฐภัทร แซ่เบ๊” ครูผู้นำฯจากโรงเรียนหนองกุงศรีวิทยาคม จังหวัดกาฬสินธุ์ และ “ครูไวท์ – สุวิมล คุณธรรมสกุล” ครูผู้นำฯ จากโรงเรียนน้ำพองศึกษา จังหวัดขอนแก่น ที่ได้ร่วมกันคิดและสร้างสื่อการเรียนรู้เชิงบูรณาการนี้ขึ้นมา

โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย และเพิ่มโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้โดยเสมอภาคกัน

Learning Box คือ กล่องการเรียนรู้ที่จะช่วยสร้างความรู้ภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน ด้วยการเรียนจากที่ใดก็ได้ด้วยตัวเอง โดยลดการพึ่งพาอุปกรณ์การสื่อสารและสัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่ช่วยให้นักเรียนได้เพลิดเพลินไปกับการฝึกคิดและทำตามการสั่งงานของครู ผ่าน Learning Box ที่ส่งตรงให้นักเรียนโดยใช้บริการการจัดส่งโดยบุรุษไปรษณีย์

ครูณัทเล่าว่า “เราอยากให้ Learning Box ช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่กล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งวิชาภาษาอังกฤษคือการเรียนที่เน้นในเรื่องของการสื่อสาร ดังนั้น สิ่งที่เราใส่เข้าไปในกล่องและส่งต่อให้นักเรียนคือ การให้เขาได้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร

เช่น กิจกรรมทำ Mandala ด้วยการใช้วัสดุรอบตัวที่หาได้จากในบ้าน นอกจากคำสั่งจะเป็นภาษาอังกฤษแล้ว นักเรียนยังต้องแต่งประโยคเกี่ยวกับวัสดุที่เขานำมาใช้เป็นภาษาอังกฤษด้วย

หรือกิจกรรมหาของตามคำศัพท์ โดยเราลิสต์คำศัพท์ 50 คำให้นักเรียนสำรวจบ้านและชุมชนของตัวเองว่า มีของสิ่งใดอยู่ในลิสต์คำศัพท์บ้าง เขาจะได้เรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้นผ่านกิจกรรมโดยไม่ต้องท่องจำ

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัวว่า มองเห็นเขาเป็นคนแบบไหน และถ่ายทอดเรื่องราวเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากเขาจะได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษพูดคุยและแต่งประโยคสนทนาแล้ว ยังได้รู้จักการสะท้อนตัวเองผ่านสิ่งที่เขามองเห็น เปรียบเทียบกับสิ่งที่ครอบครัวมองเห็นว่า เหมือนหรือต่างกันอย่างไร”

ตัวอย่างกิจกรรมใน Learning Box ส่วนใหญ่จะเน้นให้นักเรียนได้สนุกกับกิจกรรมและไม่เครียด เพราะครูผู้นำฯ เจ้าของโครงการทั้ง 5 คนเห็นตรงกันว่าไม่อยากให้การเรียนรู้ที่เกิดจากกล่องการเรียนรู้กล่องนี้เป็นเหมือนแบบฝึกหัดหรือการบ้านในหนังสือ แต่ทุกคนจะได้สนุกไปกับการเรียนแบบบูรณาการที่ตัวนักเรียนเองเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ซึ่งสามารถเรียนได้ทุกที่ แม้ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตหรือจะต้องเข้าสวนไปช่วยครอบครัวทำงาน แค่เพียงรู้จักจัดสรรเวลาก็สามารถสนุกกับการเรียนรู้ที่ส่งตรงให้ถึงบ้านได้

 

“สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการใช้แผนการเรียน Learning Box คือ นักเรียนรู้สึกตื่นเต้นที่ได้รับของ รู้สึกมีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่างๆ แม้แต่นักเรียนที่หายไปจากระบบการเรียนออนไลน์ที่เราไม่สามารถติดตามได้ เขาก็มีการตอบรับ ทักทายกลับมาถามว่าคืออะไร รู้สึกสนใจในสิ่งที่ส่งไปให้

 

นอกจาก Learning Box จะช่วยฝึกทักษะการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว นักเรียนยังได้ฝึกความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง เด็กๆ ได้ตระหนักรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง และสามารถปรับตัวเพื่อจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้ ที่สำคัญคือเด็กๆ ยังได้รู้ว่า เขาสามารถเรียนรู้ได้ในทุกที่ ไม่ใช่แค่ในห้องเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น”

 

ครูณัทกล่าวถึงประโยชน์ของ Learning Box ว่าแม้ระหว่างทางจะมีอุปสรรคในเรื่องความล่าช้าของการขนส่ง ทำให้นักเรียนแต่ละคนได้รับกล่องการเรียนรู้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป ทำให้เธอและเพื่อนได้เรียนรู้จากสิ่งที่ไม่คาดคิด และนำไปปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อไป ด้วยการปรับเวลาในการจัดทำ Learning Box ให้เร็วขึ้น เมื่อถามครูณัทถึงบทบาทที่สำคัญของ Learning Box ซึ่งน่าจะนำไปต่อยอดเป็นประโยชน์ในอนาคตได้ เธอให้คำตอบว่า

 

“ไม่ใช่แค่วิชาภาษาอังกฤษเท่านั้นที่สามารถใช้แผนการสอนผ่านกล่องการเรียนรู้แบบนี้ได้ แต่วิชาอื่นๆ ทั้งภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ต่างนำมาประยุกต์ปรับรูปแบบได้ ซึ่งหากเข้าสู่ช่วงสถานการณ์ปกติ เมื่อนักเรียนกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ ก็มองว่าน่าจะนำ Learning Box มาใช้เป็นกิจกรรมช่วงปิดเทอม เพราะสิ่งสำคัญในกล่องนี้คือ รูปแบบกิจกรรมที่มีความสนุก ต่างจากเนื้อหาวิชาการที่มีอยู่ในตำราเรียน กระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ฝึกคิดสร้างสรรค์ด้วยตัวเองได้

 

Learning Box คือหนึ่งในแผนการเรียนการสอน ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับการศึกษา แม้ว่าอาจจะยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่หากมีการออกแบบเนื้อหากิจกรรมดีๆ วางแผนกำหนดเวลาและรูปแบบการทำกิจกรรมที่แน่นอนได้ เรายังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นและเหมาะสมกับนักเรียนในบริบทที่หลากหลายได้อย่างแน่นอน”

 

สิ่งที่ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ทั้ง 5 คนร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งเล็กๆ ที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาจากบริบทของนักเรียนเพียงไม่กี่โรงเรียน แต่อย่างน้อย Learning Box กล่องนี้ ก็ช่วยให้เห็นว่าโอกาสในการสร้างความเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย สามารถเกิดขึ้นและเป็นจริงได้ เพราะมีคนคิดและลงมือทำด้วยความตั้งใจจริง