Eduhealtion Box
กล่องมหัศจรรย์
เครื่องมือทำลายกำแพง
ขวางกั้นการเรียนรู้

แม้การเรียนออนไลน์จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสภาวะที่ทุกคนยังควรต้องรักษาระยะห่าง เพื่อป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เกือบทุกโรงเรียนในประเทศไทยยังพบปัญหาจากการเรียนออนไลน์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล นอกจากสัญญาณอินเตอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุม ยังมีปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การสื่อสารที่จำเป็นต้องใช้ในการเข้าถึงชั้นเรียน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อีกมากมาย ที่เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้การเรียนออนไลน์ดำเนินไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

เพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นกำแพงกั้นขวางการเรียนรู้ โปรเจ็คต์ “Eduhealtion Box” จึงเกิดขึ้นจากการร่วมกันสร้างสรรค์ของ “ครูโบร์-สกุลรัตน์ ไตรสกุลไกวัล” ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 7 ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนแม่วินสามัคคี จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มเพื่อนจากเพจวิชานอกเส้น นอกจากนั้น ยังมีครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 7 ที่สอนวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จังหวัดปราจีนบุรี ร่วมด้วยช่วยกันสร้างกล่องการเรียนรู้กล่องนี้ขึ้น จากความเชื่อที่ได้รับการส่งต่อบอกเล่าประสบการณ์ของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นพี่ว่า “จงเชื่อมั่นว่านักเรียนสามารถเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้”

Eduhealtion Box คือกล่องที่ช่วยเพิ่มความสนุก
ทั้งยังเป็นการขยายพื้นที่การเรียนออนไลน์ให้ไม่จบอยู่ที่
หน้าจอ โดยนักเรียนยังคงอยู่ในระบบการเรียนการสอน
ได้ แม้จะไม่มีอุปกรณ์สื่อสารหรือสัญญาณอินเตอร์เน็ต
และช่วยให้เด็กๆ สามารถเรียนออนไลน์ได้ดีขึ้น เพราะ
กล่องการเรียนรู้กล่องนี้เปรียบเสมือนเครื่องมือหรือสื่อ
การสอนชนิดหนึ่งที่ช่วยสร้างความสนใจของนักเรียน
ได้มากขึ้น

ครูโบร์ ช่วยอธิบายถึงประโยชน์ของ Eduhealtion Box ที่เธอและเพื่อนๆ ทำขึ้นด้วยความทุ่มเทและตั้งใจ โดยข้างในกล่องนั้นมีอุปกรณ์ที่หากมองแล้วเหมือนของเล่น แต่เป็นของเล่นที่ช่วยทำให้บทเรียนวิชาคณิตศาสตร์ชั้น ม. 1 เรื่องเศษส่วนทศนิยม กับเรื่องมิติสัมพันธ์ และบทเรียนวิชาคณิตศาสตร์ชั้น ม. 2 เรื่องทฤษฎีบทพีทาโกรัส กับเรื่องพหุนาม เป็นเรื่องที่เด็กๆ สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

“เราแบ่ง Eduhealtion Box ออกเป็น 2 แบบคือแบบที่ใช้กับนักเรียนชั้น ม. 1 โรงเรียนแม่วินสามัคคี ที่เราสอนกับแบบที่ใช้กับนักเรียนชั้น ม. 2 โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง ที่ต้องแบ่งเป็น 2 แบบ เพราะทั้ง 2 โรงเรียนมีบริบทที่ต่างกัน โดยนักเรียนโรงเรียนแม่วินสามัคคีจะมีปัญหาเรื่องการไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้เป็นหลัก ในขณะที่นักเรียนโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ได้ แต่ทั้ง 2 กล่องมีเป้าหมายเดียวกันคือ การเสริมสร้างทักษะให้เด็กรู้จักวางแผนลงมือทำ และสะท้อนได้ว่าเขาได้อะไรจากสิ่งที่ลงมือทำบ้าง”

ครูโบร์แจกแจงสิ่งที่อยู่ในกล่อง โดยเธอเล่าต่อว่า เมื่อนักเรียนของเธอเปิดกล่องจะพบ เกมบิงโก ไอศกรีมจับคู่เศษส่วน นอกจากนั้นเด็กๆ ยังจะได้เป็นเชฟทำพิซซ่า ซึ่งจะมีแบบฝึกหัดให้เด็กๆ ได้บวกลบราคาวัตถุดิบในรูปแบบทศนิยม และยังมีบล็อคไม้ต่อเป็นรูปต่างๆ เพื่อให้เรียนรู้เรื่องมิติสัมพันธ์ ทั้งหมดนี้ครูโบร์บอกว่าหากไม่ได้ความร่วมมือจากทีมของเพจวิชานอกเส้นมาช่วยสนับสนุนในหลายๆ เรื่องคงไม่มีของในกล่องเหล่านี้ให้เด็กๆ ได้

“ตอนแรกเราคิดว่าแค่เรามีทุนปริ๊นท์ใบงานเป็นสีให้เด็กๆ เท่านี้เด็กๆ ก็คงอยากเรียนมากขึ้นแล้ว แต่เมื่อได้คุยกับทางเพจวิชานอกเส้น ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยทำโปรเจ็คต์อื่นร่วมกันมาก่อนแล้ว เขายินดีช่วยเรื่องการหาสปอนเซอร์ และจัดหาทีมมาช่วยในเรื่องออกแบบทำสื่อในกล่องให้ ทุกอย่างจึงดำเนินต่อไปได้ โดยเราตั้งใจว่าจะทำเป็นสเกลที่ไม่ใหญ่เกินไป เพราะมีเวลาในการดำเนินการทั้งหมดเพียง 2 เดือนเท่านั้น เราจึงเลือกนักเรียนระดับชั้นละ 1 ห้อง รวมทั้ง 2 โรงเรียนก็ประมาณ 40 คน

เราใช้วิธีให้เด็กๆ มารับกล่องที่โรงเรียน ทั้งเด็กม. 1
ของโรงเรียนแม่วินสามัคคี และเด็กม. 2 โรงเรียน
ศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง เราต่างได้ผลตอบรับที่ดี
เด็กๆ ตื่นเต้นเมื่อได้เห็นกล่องและรู้สึกมีความ
กระตือรือร้นสนใจที่จะเรียนรู้และลงมือทำสิ่งที่อยู่
ในกล่อง ด้วยความที่วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่
ค่อนข้างยาก พื้นฐานของเด็กเองก็ไม่ได้ดีมาก แต่เขา
ก็ได้รู้จักการวางแผน ลงมือทำและสะท้อนสิ่งที่ทำไป
ได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้”

ครูโบร์เล่าว่าทีมงานทุกคนไม่ได้คาดหวังว่าเด็กๆ จะต้องเก่งวิชาคณิตศาสตร์ขึ้นได้จากกล่องนี้แต่พวกเธอแค่อยากให้เด็กไม่หลุดจากชั้นเรียนเพียงเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ตและอยากให้เด็กๆ ได้สนุกไปกับการเรียนคณิตศาสตร์ นอกจากกล่องการเรียนรู้แล้วเธอยังได้สร้างคอมมูนิตี้ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คให้เด็กๆได้เข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติม รวมถึงพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจด้วย

 

“คิดว่าการทำ Eduhealtion Box เป็นโปรเจ็คต์ที่ประสบความสำเร็จพอสมควร เด็กๆ มีการตอบรับที่ดี นอกจากเด็กจะได้รับประโยชน์แล้ว เราว่าทีมงานทุกคนต่างก็ได้ประโยชน์จากการทำโครงการนี้เช่นกัน เพราะกว่าจะลงเอยออกมาเป็นกล่องที่ส่งต่อให้นักเรียนได้ เราต้องเรียนรู้ ทดลองแก้ไขกันหลายกระบวนการ และสิ่งที่เราตกผลึกได้คือ

หากเราทำงานโดยไม่มีการตั้งเป้าที่ชัดเจน
งานจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้

นอกจากนั้นการทำงานเป็นทีมย่อมดีกว่าการทำงานคนเดียว เพราะหากมีเราเพียงคนเดียวที่ทำ โครงการนี้คงไม่มีกล่องที่สมบูรณ์แบบนี้ให้นักเรียน

ถ้าถามว่ากล่องนี้จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาได้อย่างไร เราว่าการที่เด็กได้เรียนรู้การวางแผน ได้ลงมือทำ และรู้จักสะท้อนสิ่งที่ตัวเองทำ เด็กๆ สามารถแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเป็นเจ้าของการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาทำทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันพวกเราเองที่เป็นทีมงาน ก็ได้นำสิ่งที่เรียนรู้ครั้งนี้ไปต่อยอดและสร้างประโยชน์ให้กับโครงการอื่นๆ เพื่อการศึกษาต่อไปได้ดียิ่งขึ้น”

แม้ว่าโปรเจ็คต์ Eduhealtion Box จะจบลงแล้ว และยังไม่มีโครงการต่อเนื่อง แต่เธอจะนำสิ่งที่ทำไว้ไปนำเสนอให้ครูในโรงเรียนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยเธอได้กล่าวทิ้งท้ายว่า

กล่องใบนี้จะคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนและ
เกิดประโยชน์สูงสุดได้ หากครูในโรงเรียนร่วมด้วย
ช่วยกันสร้าง ช่วยกันคิดและออกแบบให้ตรงกับบริบท
ของนักเรียนแต่ละโรงเรียนมากที่สุด ไม่ว่าอนาคต
จะต้องเรียนออนไลน์ต่อไปหรือไม่ เราเชื่อว่าทุกอย่าง
จะดำเนินต่อไปได้ และสามารถทลายกำแพงอันเป็น
อุปสรรคขวางกั้นการเรียนรู้ลงได้อย่างแน่นอน