ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

Change Their Future, Change Yours #5

ครูมุก (ฐิติมา ชูคดี)

ครูมุก (ฐิติมา ชูคดี)
ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

อายุ 26 ปี

วุฒิการศึกษา

ปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สอนวิชาวิทยาศาสตร์ มัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 5

โรงเรียนมัธยมวัดดาวคะนอง กรุงเทพมหานคร

รู้จัก TFT ได้อย่างไรทำไมถึงสมัครเข้าร่วมโครงการ

ช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ เห็นประกาศรับสมัครของ Teach For Thailand และมีเพื่อนเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 5 เราจึงรู้สึกมั่น-ใจในตัวโครงการ และเริ่มศึกษาบทบาทขององค์กร เราได้โทรไปสอบถามเพื่อนเกี่ยวกับการทำงาน บริบทของครูผู้นำฯ ซึ่งพอฟังแล้วก็รู้สึกว่าตอบโจทย์ในการทำงาน เพราะตอนนั้นเราเป็นติวเตอร์อยู่แล้วและอยากลองผันตัวมาเป็นครูเต็มตัว เราไม่ได้จบสายครูมาโดยตรงเลยอยากใช้เวลา 2 ปี พัฒนาทักษะตัวเองในหลายๆ ด้าน ตามคำบอกเล่าของเพื่อน และพิสูจน์ตัวเองในด้านงานสอน นอกจากนี้ เราเคยเป็นนักเรียนที่ได้รับโอกาสมาก่อน เลยอยากเป็นผู้มอบโอกาสกลับไปบ้าง

วันแรกที่สอนรู้สึกอย่างไรบ้าง

วันแรกรู้สึกตื่นเต้นที่ได้สอนเด็กๆ ในโรงเรียน และยังสับสนกับการโฟกัสงานด้านต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมกัน เช่น เราต้องสร้างความสัมพันธ์กับนักเรียน ทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยในการเจอกันครั้งแรก และใช้คำพูดเชิงบวกเพื่อส่งเสริมเด็ก ในขณะเดียวกันก็ต้องโฟกัสกับเนื้อหาทางวิชาการ เพื่อหาแนวทางการสอนที่ทำให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น ในช่วงแรกเป็นช่วงที่ต้องปรับตัวในการจัดการกับตนเองและปรับตัวกับนักเรียนไปพร้อมกัน โดยมีการปรับแผนการสอนและเรียนรู้กันแบบวันต่อวัน พอสอนไปได้สักพักก็รู้สึกมั่นใจมากขึ้น เข้าใจเด็กๆ มากขึ้น

เมื่อสอนจบจบเทอม / ปีการศึกษาแล้วมองย้อนกลับไปรู้สึกอย่างไร

เรารู้สึกว่า ทุกวันคือการเรียนรู้ เราต้องอยู่กับความจริง ณ ตอนนั้น เพราะในแต่ละวัน เด็กๆ ไม่ได้มีความสนใจในการเรียนตลอดเวลา เราต้องมองหาวิธีที่ทำให้เด็กสนใจเรียน และเข้าใจถึงความสำคัญของการศึกษา มองเห็นผลลัพธ์ที่ปลายทางของการศึกษา ถ้าทำให้เขาเห็นความสำคัญได้และลงมือทำ เขาจะเกิดความภาคภูมิใจกับผลลัพธ์ที่ได้

ความท้าทายในการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เนื่องจากโรงเรียนขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ได้รับหน้าที่ในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมปลายด้วย เราเลยต้องรับผิดชอบดูแลทั้งนักเรียนชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย

เด็กนักเรียนที่สอนเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร

จากเดิมที่เคยเข้าห้องเรียนช้า เด็กๆ ตรงต่อเวลามากขึ้น ถ้ามาสายก็จะมีเหตุผล เช่น วิชาก่อนหน้านี้ครูปล่อยช้า และจากการสัมภาษณ์นักเรียน นักเรียนบอกว่า เมื่อก่อนไม่ได้มีความรับผิดชอบในการส่งงาน ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่พอครูมุกพูดกระตุ้นก็เห็นความสำคัญและรับผิดชอบส่งงานมากขึ้น

นักเรียนอีกคนบอกว่า มีความตรงต่อเวลามากขึ้นเพราะเห็นคุณครูมีความตรงต่อเวลา ทำให้มีวินัยมากขึ้น ส่วนอีกเรื่องคือ เรื่องความยุติธรรม เราสอนให้เด็กเห็นว่า ทุกคนมีความเท่าเทียมกันหมดไม่ว่าผู้สอนหรือนักเรียน เราให้เกียรตินักเรียนเสมอ ถ้าเราผิดเราก็ขอโทษนักเรียนและยอมรับ พอเราทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เด็กๆ ก็เรียนรู้ที่จะมีเหตุผลและรับรู้ได้ถึงความยุติธรรม

ส่วนเรื่องการสอนพอเราซอยเนื้อหาที่ยากๆ ให้เข้าใจง่าย เน้นเฉพาะจุดประสงค์การเรียนรู้ที่จำเป็น ดูหนังสือหลายๆ เล่ม เพื่อทำบทสรุปเนื้อหาการสอน เพื่อลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออกไป และใช้เวลาเสริมทักษะอื่นของเด็กๆ นักเรียนก็บอกว่าเข้าใจเนื้อหาที่ครูมุกสอนง่ายขึ้น

ในด้านความพยายาม เด็กๆ บอกว่า มีความพยายามมากขึ้น เช่น เทอมที่ผ่านมาเราสอนวิชาเคมี เราเห็นว่า เด็กๆ ไม่เก่งเรื่องการคำนวณ เราสอนกระบวนการคิด ให้เด็กๆ ได้ฝึก เราให้คะแนนทุกบรรทัดที่เขาเขียนอธิบายมา ถึงแม้ผลลัพธ์จะผิด เพื่อเป็นการเสริมกำลังใจให้นักเรียน เด็กบางคนก็พยายามทำโจทย์มากขึ้น มาขอให้เราตรวจคำตอบให้จนถึงวันที่ส่งงาน ถึงเด็กจะต้องแก้คำตอบหลายรอบแต่ก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ

นักเรียนมัธยมปลายอีกคนเล่าว่า เขาได้เปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่มาก เขาไม่ได้มาจากชั้นเรียนที่เก่งตอนม. 3 พอขึ้นม. ปลาย ก็ไม่ได้สนใจเรียนวิชาไหนเลย กระทั่งวันหนึ่งเขาได้สอบวิชาปฏิบัติแล้วทำได้ไม่ดี ทำให้รู้ตัวว่าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เขาลงมือทำ พยายามอ่านหนังสือและตั้งใจเรียนมากขึ้น จนกระทั่งได้คะแนนสูงและเป็นหนึ่งในสองคนที่สอบผ่านในชั้นเรียนนั้น เขาบอกเราว่า “ความพยายามไม่เคยหักหลังใคร” เราสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจากเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน กลายมาเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ตัวเราเองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการอย่างไร

เราเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากช่วงระหว่างการอบรมครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง 2 เดือน เรารู้สึกว่ามันหนักมาก เพราะเราไม่มีพื้นฐานในวงการการศึกษามาก่อน ทำให้เราท้อแต่ในตอนนั้น เราถามตัวเองว่า เราทำอะไรและเราทำเพื่อใคร พอได้ทบทวนความรู้สึกตัวเองและได้คำตอบ เราก็ลุกขึ้นมาสู้ใหม่

เราได้เรียนรู้วิธีการพูดอย่างมีเหตุผล ไม่ตัดสินใคร การตั้งใจฟังทำให้เราจับใจความสำคัญของคู่สนทนาได้ และได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ จากคนที่มีพื้นฐานต่างกัน

พอเราได้เข้ามาทำงานในวงการการศึกษาจริงๆ ก็ได้พัฒนาตัวเองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจากการสอนเด็กนักเรียน การทำงานกับเพื่อนร่วมงาน และการอบรมจาก Teach For Thailand ไม่มีวันไหนที่เราหยุดพัฒนาเลย พอมองย้อนกลับไป ทำให้เรารู้สึกภูมิใจว่าเราก็ทำได้ และรู้สึกเป็นกำลังใจชีวิตที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้

มีมุมมองต่อการศึกษาไทยอย่างไร

เรารู้สึกว่าการศึกษาไทยยังมีการพัฒนาที่ล่าช้า พอได้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนการศึกษาก็พบปัญหาว่าบุคลากรทางการศึกษาไม่เพียงพอ และครูมีภาระงานเอกสารค่อนข้างมาก ถ้าแก้ไขได้อยากให้นักเรียนมีชั่วโมงเรียนเนื้อหาวิชาการน้อยลง โดยลดจำนวนวิชาที่ไม่จำเป็นลงและไปเน้นการเสริมสร้างทักษะชีวิตมากขึ้น เพื่อทำให้เด็กค้นพบตัวเองได้เร็วขึ้น

โรงเรียนที่เราไปอยู่ถึงจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่บุคลากรทุกคนมีศักยภาพดีมาก แม้จำนวนครูจะมีน้อยและภาระงานมากแต่ทุกคนก็สละเวลามาทำงานเอกสาร ในขณะที่พัฒนาการเรียนการสอนให้นักเรียนไปด้วย ถ้าครูมีภาระงานเอกสารน้อยลงก็จะมีเวลาให้นักเรียนมากขึ้น

เมื่อจบโครงการแล้ววางแผนอนาคตไว้อย่างไร

ก่อนเข้าโครงการเคยวางแผนว่าอยากจะเป็นครูในระบบราชการ แต่หลังจากได้สอนมาระยะหนึ่ง เรารู้สึกได้ถึงภาระงานที่ไม่สมดุล เราอยากโฟกัสกับการสอนนักเรียนมากกว่าการทำงานเอกสาร จึงเริ่มทำให้อยากเป็นครูนอกระบบมากกว่า และยังมองช่องทางการเป็นนักวิจัยเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และนำทักษะที่ได้มาปรับใช้ในการเรียนการสอนด้วย เพราะถ้าเด็กได้สัมผัสกับคนที่ทำงานในสายงานวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กพัฒนาความชอบวิทยาศาสตร์หรือค้นหาความชอบอื่นๆ ได้ ในอนาคตเราอยากทำงานด้านการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับการสอน หรืองานที่พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา

เรื่องราวความประทับใจของการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่อยากแบ่งปัน

ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่อยากพัฒนาตนเองมีใจรักในการสอน อยากเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา คุณคือคนที่ใช่ เราอยากให้คุณมาลองท้าทายตนเองและอาจจะค้นพบคำตอบที่กำลังมองหา