ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

Change Their Future, Change Yours #4

ครูมิ้นท์ (ธิดารัตน์ สระหงษ์ทอง)

ครูมิ้นท์ (ธิดารัตน์ สระหงษ์ทอง)
ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 7

อายุ 23 ปี
วุฒิการศึกษา
ปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

สอน วิชาคณิตศาสตร์ มัธยมศึกษาปีที่ 1
โรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ จังหวัดกาญจนบุรี

รู้จัก TFT ได้อย่างไรทำไมถึงสมัครเข้าร่วมโครงการ

เพื่อนในกลุ่ม Line แชร์ลิ้งค์รับสมัครครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ TFT ตอนที่เรียนอยู่ปี4 ตอนนั้นเราไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับโครงการนี้มาก่อน จึงสนใจลองเข้าไปศึกษาดู แล้วมันก็ตรงกับความต้องการของเราพอดี เพราะเราอยากเป็นครู แต่ยังไม่อยากเข้ารับราชการ และเราอยากสอนเด็กในโรงเรียนขยายโอกาสเพื่อให้เขามีความฝัน

เรามีประสบการณ์ที่เคยเป็นเด็กชนบทมาก่อน ตอนสมัยประถมมีครูที่ปรึกษาคนเดียวซึ่งเก่งคณิตศาสตร์ ครูก็จะสอนคณิตศาสตร์ทุกวันจนเราเก่งวิชาเดียว แทบไม่ได้เรียนวิชาอื่นเลย พอเราเข้าเรียนม. ต้น ก็ต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ เราเลยรู้สึกว่าอยากสร้างโอกาสให้นักเรียนได้รับโอกาสได้ดีกว่าที่เราเป็น

วันแรกที่สอนรู้สึกอย่างไรบ้าง

วันแรกไม่เหมือนที่คิดไว้ในหัว ตอนเราเข้าไปสอนก็ตื่นเต้นมาก แต่ก็รู้สึกดีที่มีครูพี่เลี้ยงคอยสอนงาน นักเรียนเองก็ตื่นเต้นกับครูคนใหม่ด้วย เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี

เมื่อสอนจบจบเทอม / ปีการศึกษาแล้วมองย้อนกลับไปรู้สึกอย่างไร

เรารู้สึกว่านักเรียนที่นี่ไม่ค่อยได้รับโอกาสให้เรียนรู้โลกกว้าง เด็กๆ ไม่รู้จักอาชีพอื่นๆ ที่หลากหลาย นอกเหนือไปจาก หมอ พยาบาล ครู ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมของนักเรียนที่ไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กๆ มีเป้าหมายทางการศึกษา ผู้ปกครองส่วนใหญ่หวังแค่ให้เด็กเรียนไม่ติดศูนย์ จบ ม. 3 แล้วก็ออกมาทำงานประกอบอาชีพ เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม พอช่วงโควิดที่การเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ นักเรียนต้องเรียนอยู่ที่บ้าน ผู้ปกครองก็ไม่เข้าใจ บางคนก็ให้เด็กไปช่วยงาน ทำให้ไม่ได้เข้าเรียนพอเปิดเทอมก็ต้องสอนกันใหม่

เด็กนักเรียนที่สอนเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร

นักเรียนส่วนหนึ่งมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น อาจจะยังไม่รู้จักกาละเทศะเท่าไหร่และติดเล่น แต่ก็สนิทกับครูมากขึ้น นักเรียนบางส่วนก็มีความตื่นเต้น สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้เด็กๆ ได้เปิดโลกทัศน์ โดยเรามีกระบวนการแนะนำอาชีพจากการเริ่มต้นด้วยคำถามทั่วไปในห้องเรียนว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็มีเด็กคนหนึ่งตอบว่าอยากเป็นแอร์โฮสเตส เราก็เสริมไปว่านอกจากอาชีพแอร์โฮสเตส ก็ยังมีอาชีพอื่นอีก เช่น ไกด์นำเที่ยว ดีไซน์เนอร์ เด็กๆ พอได้ยินเกี่ยวกับอาชีพใหม่ๆ ก็ตื่นเต้น แสดงความสนอกสนใจ

ตัวเราเองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการอย่างไร

เรามีความรอบคอบในการพูดและการทำงานมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น เราสามารถจัดการกับคำวิจารณ์ทั้งทางบวกและทางลบได้ดีขึ้น พอเราเจอคำวิจารณ์ในเชิงลบ เราก็พยายามสื่อสารให้เข้าใจตรงกันว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นใด มีการปรึกษากับรุ่นพี่ TFT รุ่นที่ 5 และ 6 เพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุง  

มีมุมมองต่อการศึกษาไทยอย่างไร

ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาค่อนข้างสูงอย่างเห็นได้ชัด เด็กในโรงเรียนที่สอนอยู่พยายามให้ได้เข้าเรียนโรงเรียนในเมืองเพราะรู้สึกว่าโรงเรียนในเมืองสอนดีกว่าโรงเรียนนอกเมือง เราอยากเห็นประเทศไทยมีระบบโครงสร้างทางการศึกษาที่มีมาตรฐานเดียวกัน ต่อให้เรียนโรงเรียนในเมืองหรือนอกเมืองก็ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน อีกเรื่องคือการมอบหมายภาระงานให้ครูมากเกินไป จนบางท่านหลุดโฟกัสนักเรียน ถ้ามีการจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอกสารและธุรการเพิ่ม ครูจะลดภาระลงและมีเวลาให้การสอนและการดูแลนักเรียนเพิ่มมากขึ้น

เมื่อจบโครงการแล้ววางแผนอนาคตไว้อย่างไร

ตั้งใจจะเป็นครูต่อ เพราะอยากเป็นครูตามที่ฝันไว้ในวัยเด็กให้ได้ ถ้ามีโอกาสก็อยากเข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันการศึกษาให้ดีขึ้น อยากเข้าไปเป็นครูในระบบเพื่อเข้าไปส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนมุมมองความคิดของครูในระบบราชการ และอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้

เรื่องราวความประทับใจของการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่อยากแบ่งปัน

นักเรียนเห็นเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย พอเราสอนเด็กๆ ก็อยากเข้าเรียนทุกคาบ ถึงแม้จะตั้งใจเรียนบ้างไม่ตั้งใจเรียนบ้าง เราภูมิใจที่ทำให้นักเรียนไม่ติดศูนย์ โดยการพยายามตามให้นักเรียนทั้ง 150 คนส่งงานจนครบ ภายในเวลาสองสัปดาห์ก่อนการสอบ นักเรียนวิ่งหนี เราก็วิ่งตาม ส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊คบ้าง โทรหาผู้ปกครองบ้าง นักเรียนที่เราสอนทุกคนไม่มีใครติดศูนย์ แต่ก่อนนักเรียนบางคนมีความคิดว่า การแก้ศูนย์ง่ายกว่าการส่งงานให้ครบ นักเรียนคนหนึ่งสารภาพตรงๆ ว่า “ผมตั้งใจจะติดศูนย์เพราะขี้เกียจตามงาน แต่พอเจอครูผมตามงานก็ได้ครับ” นอกจากนี้ก็มีความประทับใจรุ่นพี่ TFT รุ่น 6 ที่คอยดูแล ชวนไปทานข้าว สอบถามด้วยความห่วงใย