ทุกอุปสรรคคือโอกาสสร้างงานพัฒนา

ครูน็อต ว่าที่ ร.ต. พงศกร ประยงค์รักษ์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 9 เพิ่งลงพื้นที่สอนในโรงเรียนมาได้กว่าครึ่งปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ทำให้เขารู้ตัวว่าจะปักหลักอยู่ตรงนี้ เพราะได้สร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็น “ทีม” ของตัวเองไว้แล้ว และทำให้เขาเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ด้วยตัวเองอย่างน่าทึ่ง

     ครูน็อตได้จัดค่ายศึกษาและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน  จุดริเริ่มที่ทำให้เขาอยากจัดค่ายนี้ เพราะเคยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยมาจัดค่ายให้กับนักเรียนในโรงเรียน เขาจึงตั้งคำถามว่า ถ้าหากจัดค่ายเองจะเป็นอย่างไร

     จุดประสงค์ของค่าย คือ ให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ และรุ่นพี่-รุ่นน้องสัมพันธ์ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน เพื่อให้รวมกันเป็นกลุ่มทำงานพัฒนาต่อไป

     ผู้ประสานงานหลักของค่ายเป็นนักเรียนมัธยมปลาย โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมต้นเป็นผู้เข้าร่วม นอกจากนั้นยังมีคนช่วยงาน ซึ่งเป็นเครือข่ายนักเรียนที่เรียนจบไปแล้ว ซึ่งเคยทำค่ายกับครูน็อตที่พะเยา พวกเขาต้องผ่านอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งเรื่องเงินทุนที่ไม่พอ และความกังวลว่า นักเรียนต่างรุ่นจะไม่ได้สานสัมพันธ์กันมากพอ

     “สำหรับค่ายนี้ ทางเจ้าหน้าที่มีทุนให้ แต่พอมาประเมินอีกที ทุนไม่ถึง  ก็เลยแลกเปลี่ยนกันกับนักเรียนว่า ยังอยากจัดค่ายอยู่มั้ย พอฟังลึกๆ จริงๆ เราสัมผัสได้ว่านักเรียนอยากจัด โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในโรงเรียน ก็เลยไปขอทุนจากคุณแม่ของผมเอง”  ทำให้ค่ายเดินหน้าต่อไปได้ 

     หลังจัดค่าย พบว่า ผลตอบรับของนักเรียนเป็นเชิงบวก โดยเฉพาะส่วนของรุ่นพี่-รุ่นน้องสัมพันธ์ และนักเรียน ม. ต้นที่เข้าร่วมก็อยากรับช่วงต่อในการจัดค่าย ทำงานพัฒนาปีต่อไป โดยครูน็อตได้มอบอำนาจให้ประสานงานกันเองผ่านสภานักเรียน จากจุดนี้ เขาได้เห็นว่า เมื่อนักเรียนได้รับอำนาจ พวกเขาสามารถหาทางเอาชนะอุปสรรคต่างๆด้วยความคิดสร้างสรรค์ได้มากมายกว่าที่คิด

     แรงบันดาลใจที่ทำให้ครูน็อตเข้ามาสมัครโครงการผู้นำฯ เกิดขึ้นในวันที่ครูน็อตไปฝึกงาน หลังเรียนจบหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตอาสาสมัคร โครงการภาคประชาสังคม ในวันนั้นครูน็อตมีโอกาสได้สัมผัสกับครูผู้นำฯ รุ่นที่ 7 และรู้สึกว่า “คนนี้ไม่ธรรมดา”

     “ตอนแรกเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แต่มีโอกาสได้จัดโครงการเรียนรู้นอกห้องเรียน และเห็นวิธีการสอน การวางแผนที่เป็นขั้นเป็นตอน ก็รู้สึกว่า อยากเป็นแบบเขาบ้าง”

     เมื่อให้ครูน็อตนิยามประสบการณ์ใน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ออกมาเป็นคำ 3 คำ ครูน็อตบอกว่าคงจะเป็นคำว่า

     “เข้าใจ เข้าถึง เติบโตไปด้วยกัน”

     ซึ่งสาเหตุที่นิยามออกมาเป็นคำเหล่านี้ เพราะ การเป็นครูผู้นำฯ จะทำให้เจอผู้คนที่หลากหลาย

     “คำว่าเข้าใจ ตอนแรกๆ เราจะเจอคนหลายแบบ แต่ละคนมีความแตกต่างในตัวเอง บางคนจะนิ่งๆ ไม่คุยกับเรา เราก็เข้าไปทำความรู้จัก และจะรู้ว่าจริงๆเขาเป็นคนแบบนี้  พอเข้าใจ เราก็จะรู้บริบท รู้ว่าในชีวิตเขาเจออะไร และเกิดเป็น mindset เชิงบวก

     ส่วนเข้าถึง เกิดจากตัวนักเรียนเอง ที่บางทีเขาจะมีปัญหาส่วนตัวและปัญหาเรื่องการเรียนรู้ ถ้าเราเข้าถึงจริงๆ และมีความสัมพันธ์ในเชิงลึก เข้าไปชวนคุย ช่วยให้เขาคิดหาทาง ไม่ได้ไปช่วยแก้ปัญหานะ แต่ผลักดันให้เข้าคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เขาก็จะเริ่มหาทางออกได้

     ส่วนเติบโตไปด้วยกัน เกิดจากประสบการณ์ว่า เราเข้าไปทำตรงนี้ เราไม่ได้เป็นผู้รับอย่างเดียว เราเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย พอเราทำงานพัฒนา เราเองก็ได้พัฒนาไปพร้อมกับเขา”

     สำหรับครูน็อต การเป็นครูมีมากกว่าหนึ่งบทบาท ครูไม่ได้เป็นแค่ครูเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งอื่นสำหรับนักเรียน

     “นอกจากเป็นครู เรายังต้องเป็นเพื่อน เป็นพี่น้อง บางทีต้องวางความเป็นครูลง เพราะไม่อย่างนั้นเด็กจะไม่พูดกับเราเลย”

     อุปสรรคต่างๆมีอยู่มากนับแต่วันเริ่มต้น แต่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากเด็กๆและคนรอบตัว

     “ตอนแรกรู้สึกท้อ เหนื่อยมากกับการปรับตัว และทางวิชาการก็หนัก แต่พอเริ่มเข้าถึงเด็กๆ ถึงคุณครู และเข้าใจโครงสร้างงาน เราก็เริ่มปรับตัวและวางแผนได้  มีแรงบันดาลใจทำงานต่อๆไปได้ไกลกว่าเดิม เพราะมีเด็กๆมาเป็นแรงผลักดัน เราได้สร้างทีมงานไว้แล้ว และจะไปไหนไม่ได้”

     ครูน็อตได้ฝากทิ้งท้ายถึงคนที่อยากสมัครเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงไว้ว่า

     “ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีเป้าหมายอยากเรียนรู้ในเชิงหลากหลาย อยากพัฒนาตนเองกับผู้อื่นในการเติบโตไปพร้อมกัน ช่วงเวลา 2 ปีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่มีค่าสำหรับคุณอย่างมาก อยากให้มาร่วมผลักดันเป้าหมายทางการศึกษาไปพร้อมกันกับเรา”