คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงของการศึกษาไทย

“ใครๆก็เปลี่ยนแปลงการศึกษาได้”

นี่อาจเป็นคำพูดที่ดูสวยงาม แต่ในเชิงปฏิบัติอาจจะไม่ง่ายขนาดนั้น ยิ่งเมื่อมองจากมุมของคนที่เคยเป็นครูมาก่อน อย่างศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ทั้ง 3 คน คือ สกาย ฟลุ๊ก และภูมิ ที่ได้ลงไปทำงานเป็นครูในโรงเรียนจริงๆมาแล้ว 2 ปี

     สำหรับพวกเขา การจะสร้างผลกระทบ (Impact) ได้ในวงกว้าง อาจต้องการอะไรมากไปกว่าการเริ่มที่ตนเอง และอะไรบางอย่างที่ว่านั้น ก็คือการเข้าไปทำงานในระดับ “นโยบาย” ที่กระทบชีวิตของคนทั้งประเทศ

     สานฝันงานนโยบาย เพื่อขยายผลกระทบ

     สำหรับสกาย ที่ทำงานเสนอแนะนโยบายให้ภาครัฐนำไปขับเคลื่อน แรงผลักดันที่ทำให้เขาเข้ามาทำงานเชิงนโยบาย คือการอยากขยายผลกระทบของงานที่ตนเองทำ ตอนนี้สกายทำงานเป็นนักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) 

     “ตอนที่เราลงไปสอนในโรงเรียน ผลกระทบมันจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน และเราก็ขยายผล (Scale) ได้ไม่เต็มที่ เช่น สมมติมีวิธีการสอนอะไรเจ๋งๆ เท่ๆ ก็ทำไม่ได้”

     ภูมิ ที่เป็นนักวิเคราะห์และบริหารโครงการวิจัยด้านการผลิตและพัฒนาครู กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เล่าว่า เขาเข้ามาทำงานในกองทุนฯ เพราะมีความเชื่อเรื่องการลงทุนกับการศึกษา 

     “ผมเป็นเด็กเศรษฐศาสตร์ ชอบอยู่กับเงิน พอได้ยินคำว่ากองทุนก็เลยสนใจ และเรามีความเชื่อว่า การลงทุนกับการศึกษาเป็นสิ่งที่คุ้มค่า เราอยากช่วยให้หน่วยงานต่างๆด้านการศึกษาทำงานได้ดีขึ้น Smooth ขึ้น เวลา กสศ. นำเงินไปลงทุนในงานวิจัยต่างๆ ก็สามารถลงทุนได้ถูกที่ ถูกจุด บอกได้ว่าต้องการให้เกิดผลลัพธ์แบบไหน”

     ส่วนฟลุ๊ค ที่ตอนนี้เป็นนักวิชาการด้านการศึกษา ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยดูแลเรื่องงบประมาณ และการพัฒนาเชิงวิชาการของโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติเป็นหลัก ก็เล่าว่า เขาต้องการทำงานที่คนหน้างานอย่างครูแก้ไม่ได้

     “ในงานของครู เราแก้ปัญหาได้แค่ในระดับจุลภาค ช่วยได้แค่ไม่กี่คน อาจจะ 100-200 คน แต่นโยบายมันส่งผลใหญ่กว่านั้น เช่นทำให้นักเรียนเป็นพันคนได้อยู่ในระบบการศึกษาต่อ ผลกระทบมันสูงกว่า และเป็นงานที่ผมถนัดกว่า”

     สิ่งไม่คาดคิดในเชิงบวก จุดไฟให้เดินหน้า

     เมื่อถามว่า ทั้งสามคนเจอเรื่องที่ประหลาดใจ หรือประทับใจอะไรบ้างเกี่ยวกับการทำงานเชิงนโยบาย คำตอบของฟลุ๊คอาจเป็นภาพสะท้อนที่ดีเกี่ยวกับงานในภาพใหญ่ที่พวกเขาทำอยู่

     “สิ่งที่ผมเซอร์ไพรส์ก็คือ พอฝ่ายนโยบายสั่งการอะไรลงไป โรงเรียนสามารถทำได้เลย ไม่ต้องผ่านขั้นตอน 1-2-3 มากมาย พอหนังสือลงไปที่เขตก็สามารถปฏิบัติได้ทันที เช่น ครั้งหนึ่ง มีโรงเรียนหนึ่งขาดน้ำประปา พอฝ่ายนโยบายบอกให้แก้ โรงเรียนก็มีน้ำประปาใช้ทันที ตรงนี้ทำให้ผมรู้สึกดีมากว่างานมันทำให้เกิดผลลัพธ์จริงๆ”

     ส่วนสกายได้แบ่งปันการค้นพบที่เขาประทับใจเกี่ยวกับบรรยากาศการทำงาน

     “พอเข้าไปมีส่วนร่วมในด้านวิชาการและพบผู้มีส่วนร่วมต่างๆในกระทรวง เราพบว่ามีสิ่งดีๆ และแนวทางที่น่าสนใจเยอะ ได้เจอหลายคนที่มีไอเดียดีๆ มีการทำงานแบบเน้นผลลัพธ์ที่ชัดเจน จับต้องได้ และมีวิธีการที่หลากหลายในการแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้ทำให้เราทลายอคติของตัวเองลง” 

     “อย่างเช่นที่ช่วงหนึ่งสังคมมีประเด็นต่อต้านการควบรวม หรือยุบโรงเรียนเล็ก  พอเราได้เห็นเบื้องหลังของนโยบายควบรวมตรงนี้จริงๆ ก็รู้ว่า ที่ต้องควบควมหรือยุบ เพราะต้นทุนในการดูแลโรงเรียนสูงมาก และมีความไม่คุ้มค่าหลายอย่าง ตรงนี้เป็นการเปิดโลกของเรา ทำให้เห็นวิธีคิดที่อยู่บนโลกของความเป็นจริงมากขึ้น”

     เริ่มที่ตนเอง ต้องมีรัฐสนับสนุน

     เมื่อลองคุยลึกลงไปถึงแนวคิดที่เป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่งในสังคม นั่นคือ แนวคิดที่ว่า “ถ้าจะแก้ปัญหาสังคม ให้เริ่มต้นที่ตัวเอง” ทั้งสามคนได้สะท้อนแนวคิดไว้ได้อย่างน่าสนใจ

     สกายบอกว่า แนวคิดนี้ดูมีเหตุผลอยู่บ้าง แต่ภาครัฐก็ต้องรับฟังประชาชนด้วย

     “ผมคิดว่าแนวคิดนี้มัน make sense อยู่ คือ ทุกอย่างมันต้องเริ่มต้นที่ตัวเองอยู่แล้ว แต่มันจะเกิดผลเมื่อทุกคนเริ่มต้นไปด้วยกัน เพราะนโยบายต้องเริ่มต้นจากการเสนอแนะ และระบบเองก็มีส่วนสำคัญ เพราะระบบต้องรองรับให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย”

     ในขณะเดียวกัน ภูมิก็มีแนวคิดคล้ายๆสกาย คือ การเริ่มที่ตัวเองก็มีส่วนสำคัญ

     “การเริ่มที่ตัวเองสำคัญอยู่แล้ว เหมือนคำพูดที่บอกว่า ‘จงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองอยากเห็น (Be the change you want to see)’ จะดีมากถ้าทุกคนมี Agency สามารถกำหนดตัวเองได้  แต่แค่นั้นมันยังไม่ใช่ภาพที่สมบูรณ์ ปัจจัยเชิงระบบมันมีผลแน่นอน  สมมติถ้าระบบไม่ดี ก็จะเป็นอุปสรรค ทำให้แนวทางที่ดีกว่าไม่ถูกนำไปใช้ หรือการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะไม่เกิดขึ้นเลย”

     ฟลุ๊คตอบคำถามนี้ด้วยการบอกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า “ถ้าจะแก้ปัญหาสังคม ให้เริ่มที่ตัวเอง” เลย

     “ผมคิดว่า ถ้าเราไปโฟกัสกับปัจเจก (Individual) ก็จะทำให้เราไม่กล้าคุยเรื่องโครงสร้าง หรือรื้อโครงสร้าง เพราะจริงๆและพฤติกรรมหรือวิธีคิดของคนมันขึ้นอยู่กับโครงสร้าง จริงๆการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดจากคนเดียวได้ ถ้ารวมกับหลายคนถึงจะทำให้เกิดขึ้นได้”

     พลังวิเศษของคนที่มุ่งมั่นเพื่อการศึกษา

     เมื่อถามว่าทั้งสามคน “ภูมิใจ” อะไรมากที่สุดกับงานที่ตัวเองทำอยู่ สามารถเห็นแววตาที่เป็นประกายของ ฟลุ๊ค สกาย และภูมิ ขึ้นมาได้ทันที สกายใช้เวลาคิดเล็กน้อยก่อนจะเริ่มตอบก่อน

     “ความภูมิใจของผมคือ ได้พัฒนาข้อเสนอแนะจากความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ และทำให้เกิดนโยบายลงไปในระดับพื้นที่”

     “อย่างเช่นที่ระยอง มีปัญหาว่า โรงเรียนไม่รู้ผลลัพธ์ทางการศึกษาของผู้เรียน เราก็ช่วยเขาพัฒนาเครื่องมือวัดผลขึ้นมา แม้เครื่องมือนี้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่ก็ทำให้เกิดแนวทางว่า ขั้นตอนต่อไปควรจะแก้ปัญหาตรงไหน”

     ฟลุ๊คแบ่งปันความภูมิใจ 2 เรื่อง คือ การได้เป็นกรรมการติดตามนโยบายการศึกษาของกรุงเทพ ทำให้นักเรียนที่เข้าไม่ถึงทุนของ กสศ. ได้เข้าถึงทุนกว่า 5-6 พันคน และการพานักเรียนจากต่างจังหวัดไปทัศนศึกษาในกรุงเทพ

     “ผมได้พานักเรียนจากต่างจังหวัด เช่น น่าน สตูล กาฬสินธุ์ สกลนคร ไปทัศนศึกษาในกรุงเทพ ทำให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจที่จะศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพ”

     ส่วนภูมิก็เล่าถึงความภูมิใจในการพัฒนาความร่วมมือระดับนานาชาติในองค์กร

     “ผมเป็นคนบุกเบิกความร่วมมือของ กสศ. กับ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ทำให้เกิดพัฒนาครูในเชิงรุก  นอกจากนั้น หลายๆการสื่อสาร การเตรียมข้อมูลที่เราทำก็ทำให้เก็บเกี่ยวเกี่ยวทรัพยากรมาได้ เช่น สามารถระดมทุนได้หลักพันล้าน”

     หลังการสัมภาษณ์กว่าหนึ่งชั่วโมง ดูเหมือนว่าศิษย์เก่าทุกคนยังไม่หมดเรื่องที่จะแบ่งปัน แต่ก็ต้องปิดท้ายการสนทนาด้วยคำถามหนึ่ง ซึ่งทุกคนดูครุ่นคิดหลังจากได้ยิน

     “ถ้ามีพลังพิเศษอย่างหนึ่ง สามารถเปลี่ยนการศึกษาไทยยังไงก็ได้ ทุกคนจะเลือกเปลี่ยนอะไร”

     ฟลุ๊ค: “ผมจะทำให้ภาคส่วนต่างๆนอกจากกระทรวงศึกษาฯ สามารถจัดการศึกษาเองได้ เช่น ท้องถิ่น เอกชน NGO หรือ Home School”

     ภูมิ: “อยากให้โรงเรียนสามารถเลือกครูเองได้ และสามารถจัดสรรทรัพยากรเองได้อย่างอิสระ”

     สกาย: “อยากปฏิรูประบบครู ให้มีระบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นขึ้น และจัดสรรเงินไปที่โรงเรียนมากขึ้น ให้โรงเรียนเป็นอิสระในการทำอะไรต่างๆเอง”

     จากการได้คุยกับทั้งสามคน ทำให้เห็นว่า คนที่มีไฟฝันที่จะขับเคลื่อนการศึกษาไทยนั้นยังมีอยู่จริง และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้ ที่มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง  ยังมีศิษย์เก่าของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ อีกหลายคน ที่กำลังทำงานขับเคลื่อนการศึกษาไทยในหลายภาคส่วน เช่น ด้านการเป็นผู้นำในโรงเรียน (School Leader) หรือ ด้านนวัตกรรมสังคม (Social Innovation) ทั้งหมดนี้ผสานกันเพื่อแนวคิดเดียว นั่นคือ เพื่อให้วันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เสมอภาค และสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ ตามวิสัยทัศน์ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

“ภูมิ เพ็ญตระกูล (ภูมิ)”
ศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 4

     อดีตนักวิเคราะห์และผู้ประสานงานโครงการพัฒนาครู – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

     ภูมิต้องการขยายผลในงานที่ทำ ให้กระทบกับภาพใหญ่ในระดับชาติร่วมกับภาครัฐ นั่นเป็นเหตุผลให้ตัดสินใจเข้าร่วมใน กสศ.

    ภูมิทำงานที่ กสศ. มาแล้ว 5 ปี ได้รับหน้าที่ดูแลหลายโครงการในภาคนโยบายการศึกษา ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงศึกษาธิการและภาครัฐตามที่ตั้งใจ  ภูมิสามารถให้คำแนะนำในด้านนโยบายจากมุมมองของผู้ที่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง

     ภูมิยังได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการการส่งเสริมความเท่าเทียมและเสมอภาคทางการศึกษา ภายใต้สังกัด กระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย และปัจจุบันภูมิเป็น นักศึกษา Harvard Kennedy School (หลักสูตร Master in Public Administration, รุ่นปี 2025

“ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล (สกาย)”
ศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 2

     นักวิจัยด้านนโยบายการปฏิรูปการศึกษา – สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute, TDRI)

     สกายคือหนึ่งในศิษย์เก่าที่สนใจงานด้านการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ทำให้ในปัจจุบัน เขาทำหน้าที่เป็นนักวิจัยภายใต้โครงการพื้นที่นวัตกรรม 

     สกายเชื่อว่า งานวิจัยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นหนทางหนึ่งสู่การปฏิรูปการศึกษาไทย ผ่านการปลดล็อคกฎระเบียบ สร้างกลไกความเป็นอิสระ เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ และ ภาคส่วนต่างๆ สามารถมีส่วนร่วม สะท้อนความต้องการ ร่วมกันจัดการศึกษาเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้เรียน ทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติทางนโยบายที่ดี ที่สามารถขยายผลสู่โรงเรียนทั่วประเทศ

“จิราวุฒิ จิตจักร (ฟลุ๊ค)”
ศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 6

     นักวิชาการศึกษา – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

     ฟลุ๊คคือหนึ่งในศิษย์เก่าที่สนใจการขับเคลื่อนความเท่าเทียมและคุณภาพการศึกษาในระดับนโยบาย ความสนใจนี้ทำให้เขาเคยเข้าไปทำงานเป็นที่ปรึกษาการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาให้กับพรรคการเมือง มุมมองหนึ่งของเขา คือ หากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลในระยะยาว การเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อระบบ โครงการ และนโยบายต่างๆ น่าจะช่วยพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและเท่าเทียมกันได้จริง 

     ปัจจุบันฟลุ๊คเข้ารับราชการในตำแหน่ง นักวิชาการการศึกษา ภายใต้สังกัดสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหน้าที่ดูแลและพัฒนาโรงเรียนในพระราชดำริกว่า 500 โรงเรียนทั่วประเทศ