“Community Selection” จุดเริ่มต้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในกิจกรรม การคัดเลือกผู้นำการเปลี่ยนแปลง

‘เสียง’ ที่สะท้อนออกมาจากการที่ มูลนิธิฯ รับฟังต่อชุมชนคือ พวกเขาต้องการครูที่ ‘เข้าใจ’ ต่อบริบท และสามารถทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่นั้น ๆ ได้ ดังนั้น เสียงและมุมมองที่มาจากพวกเขานั้นจึงเป็นตัววัดความเข้าใจต่อพวกเขาได้ดีที่สุด ทำให้ครูผู้นำฯ ที่ผ่านการคัดเลือกและได้เข้าไปทำงานตรงนี้สามารถแก้ไขปัญหาและทำงานได้อย่างเป็นคนที่เข้าใจบริบทและคนในพื้นที่จริง ๆ นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ต้องมีการเปิดพื้นที่รับฟังและเพิ่มการทำงานร่วมกับชุมชนเข้ามา เพราะเราเชื่อว่า ‘เราเข้าไปทำงานในชุมชน คนที่ตอบเราได้ดีที่สุดก็คือชุมชน’

Community Selection หรือ โครงการคัดเลือกครูผู้นำฯ โดยชุมชน ในปี พ.ศ. 2565 ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 2 ของการจัดตั้งโครงการ และได้ขยายจังหวัดที่มีส่วนร่วมออกเป็นทั้งหมด 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ครูผู้นำฯ ที่แต่เดิมเองก็เป็นคนในพื้นที่ที่คุ้นเคยกับบริบททางภาคเหนืออยู่แล้ว จะสามารถปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ชุมชนได้ดีขึ้น และเพื่อให้เป้าหมายของมูลนิธิฯ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ สำเร็จเร็วมากยิ่งขึ้น

ตัวแทนทั้งจากทางโรงเรียนและชุมชน ได้แก่ นักเรียน คุณครู ผู้อำนวยการ ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกครูผู้นำฯ ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันทั้งในภาคการศึกษาและภาคชุมชน เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกแก่ทุกฝ่ายและระดับ ไม่ว่าจะเป็น ระดับห้องเรียน ระดับบุคลากรในโรงเรียน และระดับชุมชน โดยตัวแทนจากทั้ง 3 จังหวัดจะร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมเพื่อหาครูที่เหมาะที่สุดที่จะเข้ามาทำงานในส่วนนี้ นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังดูในส่วนของความต้องการ (requirement) แยกย่อยของแต่ละจังหวัดเพิ่มเติม เพื่อให้เกณฑ์การคัดเลือกครูผู้นำฯ โดยชุมชนนั้นสอดคล้องกับทั้งความต้องการของมูลนิธิฯ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และความต้องการของชุมชนควบคู่กันไป

การสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิฯ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และบุคลากรในโรงเรียนและชุมชน เพราะการสื่อสารที่ดีจะสามารถสร้างความเชื่อใจให้กันและกันได้ รวมถึงการวางตัวที่เหมาะสมเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างได้มีส่วนร่วมกันอย่างแท้จริงก็สำคัญมากด้วยเช่นกัน เพราะเราเองก็ต้องเตรียมการให้เขารู้สึกว่า สิ่งนี้เกิดประโยชน์ ทำง่าย และสามารถทำได้จริง

จากบทบาทที่ทางมูลนิธิฯ ได้พัฒนาศักยภาพครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มาจากการคัดเลือกโดยโครงการนี้ ทำให้ได้เห็นความแตกต่างว่า ก่อนที่จะเกิดการคัดเลือกผ่านโครงการนี้ขึ้นมา คะแนนความพึงพอใจของโรงเรียนชี้ให้เห็นว่า เรายังสามารถพัฒนาและทำให้คะแนนสูงขึ้นได้อีก อีกทั้ง ทางมูลนิธิฯ ต้องการขับเคลื่อนจากห้องเรียนธรรมดาสู่ ‘ห้องเรียนเพื่อชุมชน’ 

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2564 ผลการประเมินจากทั้งโรงเรียนและชุมชนนั้นเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น แต่จากนักเรียนนั้นกลับไม่สูงตามที่คาดหวังไว้ ทำให้ในปี พ.ศ. 2565 มูลนิธิฯ จึงต้องปรับเกณฑ์ให้สูงขึ้นโดยพิจารณาจากเกณฑ์ที่ผ่านตามความต้องการของทางมูลนิธิฯ และของชุมชน เพื่อที่จะทำให้ผลการประเมินความพึงพอใจของโรงเรียน ชุมชน และนักเรียน สูงขึ้นได้ตามที่คาดหวังไว้ได้

โครงการนี้ตอบสนองต่อความต้องการของมูลนิธิฯ ที่ต้องการหาคนที่มีศักยภาพในการสร้าง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่ไม่ใช่แค่ในระดับห้องเรียนแต่สามารถขับเคลื่อนไปถึงระดับชุมชนได้ด้วย ผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นเมื่อครูผู้นำฯ เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้คือ เขาสามารถเข้าถึง เข้าใจ เข้าหา และคิดวิธีการสอน เพื่อการพัฒนาทั้งเด็กนักเรียนและชุมชน โดยการใช้ห้องเรียนเป็นฐานการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ชุมชนได้ ซึ่งเห็นได้ชัดจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของการทำงานร่วมกันได้ว่า เปอร์เซ็นต์ของ Parental Engagement เพิ่มขึ้นสูงถึง 60% เลยทีเดียว

ดังนั้น การสื่อสารและการทำความเข้าใจระหว่างครูผู้นำฯ ต่อนักเรียน และครูผู้นำฯ ต่อผู้ปกครองและชุมชน ทำให้การออกแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนมีความเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเด็กนักเรียนจะได้รับความรู้ในเรื่องวิชาการต่าง ๆ และในขณะเดียวกัน ก็จะได้รับทักษะในการประกอบอาชีพและการประยุกต์ใช้ได้มากขึ้น ที่พวกเขาสามารถนำกลับไปต่อยอดและใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชนได้ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ครูผู้นำฯ ที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการดังกล่าว เป็นคนที่มีความคุ้นเคยกับบริบทและวัฒนธรรมของภาคเหนืออยู่แล้ว ทั้งจากเงื่อนไขของแหล่งที่อยู่อาศัยในภาคเหนือและการจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ ซึ่งเป้าหมายและความสำเร็จระยะยาวที่สามารถเกิดขึ้นได้คือ การที่มีคนที่สามารถทำงานอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ได้ในระยะยาวด้วย ดังนั้นระบบการคัดเลือกโดยชุมชนกับเงื่อนไขของ มูลนิธิฯ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จึงสามารถเพิ่มความถี่ให้กับตัวกรองการคัดเลือก ให้ครูผู้นำฯ สามารถปรับตัว มีความเหมาะสม และขับเคลื่อนสังคมในระยะยาวได้พร้อม ๆ กัน

‘เสียง’ ที่สะท้อนออกมาจากการที่ มูลนิธิฯ รับฟังต่อชุมชนคือ พวกเขาต้องการครูที่ ‘เข้าใจ’ ต่อบริบท และสามารถทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่นั้น ๆ ได้ ดังนั้น เสียงและมุมมองที่มาจากพวกเขานั้นจึงเป็นตัววัดความเข้าใจต่อพวกเขาได้ดีที่สุด ทำให้ครูผู้นำฯ ที่ผ่านการคัดเลือกและได้เข้าไปทำงานตรงนี้สามารถแก้ไขปัญหาและทำงานได้อย่างเป็นคนที่เข้าใจบริบทและคนในพื้นที่จริง ๆ นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ต้องมีการเปิดพื้นที่รับฟังและเพิ่มการทำงานร่วมกับชุมชนเข้ามา เพราะเราเชื่อว่า ‘เราเข้าไปทำงานในชุมชน คนที่ตอบเราได้ดีที่สุดก็คือชุมชน