ครูในบ้าน

ครูส้มโอ (ภัทรธิดา สมรักษ์) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 7 และ
ครูปลื้ม (สุพิชญา ฟองศรี) ครูประจำโรงเรียนสะเมิงพิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่

            บ้านและสถาบันครอบครัวมีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้โรงเรียนในการเลี้ยงดู หล่อหลอม บ่มเพาะ และให้ความรู้เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งโรงเรียนกับบ้านต้องจับมือกันในการดูแลและให้การศึกษาเด็กๆ ยามที่โรคระบาดส่งผลให้ต้องย้ายห้องเรียนจากโรงเรียนมาอยู่ที่บ้าน 

            “ที่โรงเรียนสะเมิงมีเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นม. 1 – 6 ทั้งชายหญิงจำนวนกว่า 600 คน เป็นเด็กหอประมาณ 200 คน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด แล้วไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ เด็กทุกคนต้องกลับบ้านกันหมด” ครูส้มโอ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ผู้เป็นครูประจำชั้นของห้อง ม. 1/3 เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงสองภาคการศึกษาที่ผ่านมา

            โรงเรียนสะเมิงพิทยาคมเป็นโรงเรียนที่โอบล้อมด้วยป่าไม้และขุนเขา เด็กนักเรียนประกอบด้วยเด็กๆ ในชุมชน และเด็กจากชนเผ่าต่างๆ ทั้ง ม้ง ปกาเกอะญอ  ลาหู่ ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ซึ่งครอบครัวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำสวน

“เมื่อต้องกลับไปอยู่บ้าน เด็กจะไม่ได้อยู่ในสถานภาพนักเรียน ผู้ปกครองบางคนเข้าใจว่าการมาเรียนออนไลน์คือการปิดเทอม ผู้ปกครองจะเอาเด็กไปช่วยงาน” ครูส้มโอบอกเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

            พอครูส้มโอเห็นเหตุการณ์ตรงนี้ ก็เลยเริ่มทำ ‘โครงการ โทร ถาม ตาม เยี่ยม’ ขึ้น เพื่อสอบถามและติดตามความเป็นอยู่ของนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งมีครูที่ปรึกษาร่วมคือครูปลื้มช่วยกัน โดยแบ่งกันดูแลนักเรียนคนละครึ่งห้อง มีการใช้  VDO Call เพื่อติดตาม สอบถามความกังวลใจของผู้ปกครองในช่วงที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ ถามถึงความท้าทายและปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง ให้ครูช่วยอะไรไหม นักเรียนอยู่ที่บ้านมีการจัดการแบ่งเวลาในการช่วยงานบ้านและเรียนหรือไม่ และผู้ปกครองจัดการอย่างไร

            “ข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้ปกครองคือ บางทีการที่เด็กไม่ได้เข้าเรียน ไม่ใช่ว่าเขาตื่นสายหรือขี้เกียจ แต่มีเหตุผลส่วนตัวที่ต้องช่วยที่บ้านทำงาน โครงการโทร ถาม ตาม เยี่ยม เป็นโครงการที่ช่วยให้ครูเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวเด็กแต่ละคนได้ดีขึ้น ได้รับฟังความเห็นและทำความเข้าใจร่วมกับผู้ปครองเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และสื่อสารเพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบว่าควรปฏิบัติตัวหรือมีส่วนช่วยเหลือเด็กอย่างไร” ครูปลื้ม ครูประจำชั้นร่วมห้อง ม. 1/3 เล่าเกี่ยวกับโครงการ

            “ผู้ปกครองบางคนเล่าว่า มีความกังวลใจกลัวว่าลูกจะเรียนไม่ไหว เพราะอุปกรณ์และเทคโนโลยีไม่พร้อม ประจวบกับที่โรงเรียนมีแท็ปเล็ตอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ในการดูแลของครูหนุง ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 6 ครูหนุงกับครูส้มโอจึงคุยกันว่า แท็บแลตจำนวนนี้น่าจะเป็นประโยชน์หากเรานำไปให้เด็กๆ ที่ขาดแคลนยืม ครูส้มโอจึงอาสาทำเป็นโครงการให้ยืมแท็ปเล็ตเพื่อช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ให้ครอบครัวที่มีความจำเป็นโดยมีการทำทะเบียนยืม คืน อย่างเป็นระบบ และมีการติดตามนักเรียนอย่างต่อเนื่องด้วย

แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่า การเรียนออนไลน์ ไม่ใช่การปิดเทอม แต่เป็นการย้ายห้องเรียนจากที่โรงเรียนไปอยู่บ้านโดยที่เด็กยังต้องเข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์” ครูส้มโอเล่า

            ครูส้มโอมีความเชื่อว่า….ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองกับครูผู้สอนจะเกื้อกูลกัน นำไปสู่การสนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะเปิดเทอม จึงคุยกับครูที่ปรึกษาร่วมทันทีว่าเราจะสร้างไลน์กลุ่มผู้ปกครองเพื่อเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารกัน “เปิดภาคการศึกษาวันแรก เราทำคิวอาร์โค้ดไปให้ผู้ปกครองสแกนเพื่อเข้ากลุ่มไลน์ของห้องม. 1/3 เราจัดทำทะเบียนรายชื่อเบอร์ติดต่อของผู้ปกครองเด็กแต่ละคน” ครูส้มโอเล่าถึงกระบวนการในการสร้างช่องทางติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครอง

            ”เราชี้ให้ผู้ปกครองเห็นประโยชน์ของการมีช่องทางติดต่อสื่อสาร เช่น เป็นช่องทางในการแจ้งข่าวแหล่งทุนการศึกษา การปฏิบัติตัวช่วงโควิด วิธีการดูแลลูกในการเรียนออนไลน์ พอผู้ปกครองเล็งเห็นถึงประโยชน์ ก็มีความสนใจในการเข้าร่วม ทำให้เราทำงานร่วมกันง่ายขึ้น” ครูส้มโอเล่า

            “ช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา เด็กหลายคนต้องพยายามแก้ผลการศึกษาที่ติด ร เพราะตอนเรียนออนไลน์ส่งงานไม่ครบและไม่ได้เข้าเรียน เด็กบางคนท้อใจ ไม่อยากมาเรียนแล้ว แต่การที่เราได้ติดต่อประสานงานกับผู้ปกครองมีส่วนช่วยได้มาก การพยายามพูดคุยให้กำลังใจร่วมกันจากทั้งครูและผู้ปกครองช่วยให้เด็กกลับมาเข้าห้องเรียนและพยายามแก้ไขผลการศึกษาให้สำเร็จได้” ครูปลื้มเล่าเสริม

             ครอบครัวยังส่งผลโดยตรงต่อสุขภาวะที่ดีของนักเรียน บ้านที่อบอุ่นจะเป็นรากฐานที่สำคัญของเด็ก “มีเด็กคนหนึ่ง มานั่งหลับในห้องเรียนทุกวัน เมื่อเราสนิทกับเด็กมากขึ้น เด็กก็เล่าว่าผู้ปกครองที่บ้านทะเลาะกันทุกวัน ทำให้รู้สึกเครียด นอนไม่หลับ” ครูส้มโอเล่าถึงสถานการณ์ของเด็กนักเรียนคนหนึ่ง พร้อมทั้งอธิบายว่า ปัญญา ประกอบด้วย 3 ฐาน คือฐานจิต ฐานกาย และฐานความคิด การสร้างเสริมปัญญาจต้องเริ่มจากสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์แข็งแรง จึงจะสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ได้

             ครูผู้สอนก็มีส่วนในการส่งเสริมสุขภาวะและความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีของเด็ก โดยผ่านการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้วยการเปิดรับฟังความคิดเห็น “มีกรณีหนึ่งที่คุณพ่อมีความกังวลใจเรื่องที่ลูกสาวคบเพื่อนชาย เราในฐานะครูได้พยายามเปิดใจพูดคุยยกับเด็ก เมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัยก็กล้าที่จะปรึกษาปัญหา เราก็เป็นกาวใจ พยายามทำความเข้าใจกับทั้งสองฝ่าย” ครูส้มโอเล่าถึงกรณีของเด็กคนหนึ่ง

            นอกจากนี้การสร้างกรอบความคิดแบบเติบโต ( growth mindset) ยังจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่ในบ้าน “ผู้ปกครองบางคนเชื่อว่าลูกตัวเองไม่ฉลาด เรียนหนังสือไม่ได้ อยากให้รีบออกจากโรงเรียนมาทำงาน เราจำเป็นต้องรีบปรับความเข้าใจ อธิบายให้เห็นว่าเด็กทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า เด็กทุกคนเกิดมาไม่มีใครอ่านหนังสือออก แต่พอเรียนแล้วก็อ่านหนังสือได้ และการศึกษายังช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กมีตัวเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้นในอนาคตด้วย” ครูส้มโออธิบาย

            ในตอนท้ายครูส้มโอยังแนะเคล็ดลับในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมือกับผู้ปกครองว่า “ความร่วมมือที่ดีเริ่มต้นจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับผู้ปกครองก่อน ซึ่งต้องอาศัยการฟังอย่างตั้งใจและเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสม นอกจากนี้ครูและผู้ปกครองยังต้องสื่อสารเพื่อร่วมกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ครูฝึกฝนให้เด็กมีความรับผิดชอบในห้องเรียน ส่วนผู้ปกครองก็ร่วมฝึกฝนให้เด็กมีความรับผิดชอบในบ้าน เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม”

บทสัมภาษณ์ ครูส้มโอ (ภัทรธิดา สมรักษ์) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 7
และ ครูปลื้ม (สุพิชญา ฟองศรี) ครูประจำโรงเรียนสะเมิงพิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่

เรียบเรียงโดย กัฑลี กนกคีขรินทร์