ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

ทีมฟุตบอลแห่งเกาะจันทร์

ชลธิศ สุทธิสาโกมล (บอม)

By นางสาวณทิพย์ สุขตระกูล

‘ทีมฟุตบอล-ฟุตซอล’ เล็กๆ จากอำเภอเกาะจันทร์
ก้าวย่างเล็กๆ ที่เชื่อมโยงเด็กๆ ให้เข้าถึง
‘ความเสมอภาคทางการศึกษา’

การทำให้เด็กทุกคนในประเทศไทยกล้าที่จะฝันเพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองทั้งในและนอกห้องเรียนได้นั้น ต้องอาศัยผู้สนับสนุนและผู้คนจากสังคมรอบตัวที่มองเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของพวกเขา และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำตามความฝัน ซึ่งเรื่องราวจากห้องเรียนครั้งนี้เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ของชุมชนเล็กๆ ที่ร่วมสนับสนุนให้เด็กๆ มีโอกาสทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบซึ่งอาจสร้างชื่อเสียงให้ชุมชนได้ในอนาคต

วันนี้ Teach For Thailand ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษของ ครูบอม อายุ 32 ปี ผู้จบการศึกษาและเคยทำงานทางด้านวิศว-กรรมโลหการ ต่อมาเมื่อมองเห็นโอกาสจึงย้ายมาทำงานเกี่ยวกับการศึกษากับ Teach For Thailand ครูบอมเล่าว่าตนเองโชคดีที่ได้รับการศึกษา มีต้นทุนชีวิตที่ดีเพราะได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว แต่ยังมีเด็กๆ อีกหลายคนที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตเท่าตัวเขาเอง เขาจึงตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางเพื่อสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษา ผ่านโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 7 และได้สอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนเกาะจันทร์พิทยาคาร อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี

‘โปรเจคนี้เริ่มต้นจากความชอบส่วนตัวในเรื่องกีฬาฟุตบอล ของตัวเอง’

ครูบอมเคยไปอบรมเกี่ยวกับด้านการโค้ชฟุตบอลนี้อยู่ก่อนแล้ว เพราะมีความชื่นชอบกีฬาฟุตบอลและต้องการดูบอลให้สนุกขึ้น เมื่อเข้ามาสอนในโรงเรียนก็พบว่าไม่มีครูสอนพละเป็นประจำ พอได้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ม. 1 และ ม. 2 จึงได้ลองพูดคุยกับนักเรียนและปรึกษาคุณครูที่โรงเรียน ทำให้ทราบว่านักเรียนเองก็อยากเล่นฟุตบอลกันอยู่แล้วแต่ไม่มีโอกาสได้เล่น นอกจากนี้ เด็กบางคนที่นี่ก็ใกล้ชิดกับอบายมุข ครูบอมจึงพยายามคิดหาทางเลือกเพื่อให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมอื่น ซึ่งโดยปกติ คุณครูในโรงเรียนต้องแบ่งกันสอนวิชาพละ ครูบอมรู้สึกว่าในเมื่อตัวเองสนใจด้านนี้และนักเรียนเองก็มีความต้องการแต่ขาดแคลนผู้มีทักษะความรู้ จึงตัดสินใจส่งเสริมกิจกรรมกีฬาการเล่นฟุตบอลเพื่อเป็นกิจกรรมทางเลือกให้เด็กๆ

 

“พึ่งเริ่มโปรเจคนี้ได้ไม่นานครับ เริ่มซ้อมตั้งแต่ประมาณกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตอนนี้ซ้อมไปได้ไม่เยอะมากเพราะสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นด้วย กิจกรรมนี้ก็จะมีการนัดรวมทีมเพื่อซ้อมทุกๆ ช่วงเย็น เพื่อฝึกให้เด็กมีวินัย พอสักพักเด็กๆ จะเริ่มรู้หน้าที่ของตัวเอง มีการหยิบอุปกรณ์ไปรอที่สนาม เตรียมพร้อมเล่น ส่วนมากเด็กๆ ก็จะมาตามปกติ ยกเว้นมีธุระ ก็จะมาขออนุญาตก่อน ช่วงนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะวางแผนเพื่อส่งนักเรียนไปแข่ง เลยใช้กลยุทธ์ว่านักเรียนต้องมาซ้อมกันให้ครบ ถึงจะได้แข่งครับ”

'เมื่อชุมชนอำเภอเกาะจันทร์ทราบข่าวว่ามีทีมฟุตบอล’

“เนื่องจากทีมฟุตบอลของครูบอมเป็นกิจกรรมที่พึ่งเริ่มขึ้นมาใหม่ ชุมชนอาจจะยังไม่ได้มีบทบาทที่เห็นได้ชัด แต่ชุมชนโดยรอบที่ทราบข่าวก็อยากเข้ามาช่วยฝึกสอนเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงทางทีมฟุตบอลของครูบอมก็มีการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนโดยรอบและผู้ปกครองในชุมชนทราบ ถึงตอนนี้ยังไม่ได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองโดยตรงส่วนมากจะผ่านนักเรียนมากกว่า แต่วางแผนว่าหลังจากที่จะส่งนักเรียนแข่ง จะมีการสร้าง Page บนแพลตฟอร์ม Facebook เพื่อสื่อสารและให้ทางชุมชนเข้ามารับชมและมีส่วนร่วมในอนาคตได้ ปกติทางชุมชนจะมีงบประมาณในการสนับสนุนเรื่องกีฬาทุกๆ ปี เช่น ได้งบประมาณจากนักการเมืองภายในท้องถิ่น เมื่อก่อนอาจจะยังไม่ได้มากเพราะไม่มีคนทำ ตอนนี้มีแล้วเลยได้รับบริจาคเข้าโรงเรียนโดยตรง ต้องขอบคุณท่านรองผู้อำนวยการและคุณครูของโรงเรียนเกาะจันทร์พิทยาคารที่สนับสนุนทีมฟุตบอลของครูบอม ทั้งยังช่วยดำเนินการเรื่องเอกสาร และช่วยโค้ชครูบอมในเรื่องของการใช้งบประมาณของโรงเรียนด้วยครับ”

‘การโค้ชชิ่งทีมฟุตบอลของครูบอมก็เหมือนการสอนคณิตศาสตร์’

หลังจากที่ได้มาโค้ชทีมฟุตบอล ความสัมพันธ์กับเด็กนักเรียนก็ค่อนข้างดีขึ้น เพราะกิจกรรมทำให้เด็กมีความผ่อนคลายมากขึ้น เด็กๆ กล้าที่จะเปิดใจและพูดคุยกันมากขึ้น เวลาสอนคณิตศาสตร์ครูบอมก็อาจจะเป็นครูที่เคร่งเครียดสักหน่อย พอได้เป็นโค้ชทีมฟุตบอลด้วยก็ได้สนิทกับเด็กๆ มากขึ้น ที่จริงแล้วการโค้ชทีมฟุตบอลของครูบอมก็เหมือนกับการสอนคณิตศาสตร์ การมีเทคนิคการสอนให้เข้าใจง่ายจะช่วยทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้นด้วย  โดยการฝึกฝนจะแบ่งเป็น 3 ขั้น

ขั้นที่ 1 Technique เป็นขั้นพื้นฐาน (เปรียบเทียบกับโจทย์คณิตศาสตร์ เช่น x+3=6) สำหรับฟุตบอลก็จะเหมือนการฝึกคนเดียวไม่มีคนมากดดัน เช่น การจับบอล และการส่งบอล

ขั้นที่ 2 Skills เป็นขั้นที่เริ่มแบบฝึกหัดที่ยากมากขึ้นจากขั้นพื้นฐาน (เปรียบเทียบกับโจทย์คณิตศาสตร์ เช่น 3x+4 = 12) เมื่อเปรียบเทียบกับฟุตบอล ก็จะมีผู้เล่นคนอื่นด้วย เช่น การจับบอลตอนมีคู่แข่งเข้ามากดดัน

ขั้นที่ 3 Advance เป็นขั้นสูง (ทางคณิตศาสตร์ คือแบบฝึกหัดที่ยากพอๆ กับการสอบ O-net) สำหรับทางฟุตบอลจะเรียกว่า ขั้นมินิเกม (Mini Game) คือการจำลองสถานการณ์ในพื้นที่จริงเพื่อให้นักเรียนได้เจอกับประสบการณ์นั้นๆ ก็จะมีการสอนให้เด็กพลิกแพลง เวลาเจอคู่ต่อสู้ในสถานการณ์อื่นๆ จะได้นำสกิลที่เคยฝึกจนเคยชินต่างๆ มาใช้ได้ การทำโจทย์คณิตศาสตร์ก็ต้องฝึกทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ ถึงจะทำโจทย์แบบอื่นได้ ฟุตบอลก็เหมือนกัน

นอกจากนั้น ในการโค้ชเด็กๆ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับอายุด้วย เด็กที่อายุประมาณ 13-15 ปี จะเป็นวัยที่ไม่สามารถเคร่งครัดมากได้เพราะยังต้องการความสนุกเป็นแรงจูงใจ ส่วนเด็กที่อายุประมาณ 16-18 ปี อาจจะเพิ่มความจริงจังขึ้นมาได้บ้างเพราะเด็กนักเรียนจะได้มีวินัย แต่ก็กดดันมากไม่ได้ ครูบอมคิดว่า อะไรที่อะลุ่มอล่วยได้ก็จะพิจารณาเป็นกรณีไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเด็กนักเรียนด้วยไม่ใช่แค่ครูบอมเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการซ้อมสูงสุด

‘เด็กทุกคนอยากไปถึงเป้าหมายที่คาดหวัง’

“ในทีมฟุตบอลของครูบอมไม่ค่อยมีเด็กๆ ที่ท้อครับ แต่ก็มีเด็กที่กลัวบ้าง อย่างเช่น มาซ้อมทักษะแต่กลัวตัวเองทักษะไม่ถึง อาจจะกลัวที่จะทำทีมเสียหรือเป็นภาระของทีม ครูบอมก็บอกตรงๆ ว่า จริงๆ มันไม่มีอะไรน่ากลัวเลย ทุกคนก็อยากให้ไปถึงเป้าหมายที่คาดหวังไว้กันทั้งนั้นครับ แต่อุปสรรคตอนนี้คือจำนวนเด็กที่ยังค่อนข้างน้อย และมีอุปสรรคด้านการเดินทางที่นักเรียนกลับรถรับส่งเป็นเวลา เลยไม่สามารถอยู่ซ้อมได้เพราะต้องซ้อมหลังเลิกเรียน เด็กนักเรียนต้องให้ผู้ปกครองมารับซึ่งบางทีก็ไม่สะดวกครับ ส่วนใหญ่นักเรียนที่อยู่ซ้อมได้คือสามารถขี่มอเตอร์ไซต์มาซ้อมกับครูบอม บางทีเด็กๆ ก็ยังขาดเรื่องวินัยและเรื่องความรับผิดชอบซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่ม ถ้าถามครูบอมก็ไม่รู้สึกท้อครับเพราะเป็นความชอบส่วนตัวขอใช้คำว่า ‘คลั่งไคล้’ ในการโค้ชทีมฟุตบอลครับ”

‘ถอดบทเรียนจากการเป็นโค้ชทีมฟุตบอลโรงเรียนเกาะจันทร์ฯ’

“ครูบอมยังไม่รู้ว่าจะนับเป็นการเรียนรู้ (Learning) ได้ไหมเพราะเริ่มทำได้ไม่นาน แต่หลักๆ คือ ได้เรียนรู้การปรับตัวเข้าหาเด็กๆ และการหาความสนุกสนานแทรกเข้าไปเสมอในการโค้ชทีมฟุตบอล ครูบอมคอยหมั่นค้นคว้าหาแบบฝึกหัดให้เด็กๆ ลองเสมอ หลังจากจบโครงการครูผู้นำ 2 ปี ก็ยังไม่แน่ใจว่าหลังจากไม่มีเรา พวกเขาจะทำยังไงครับ แต่ก็คิดไว้ว่าจะแวะกลับมาช่วยดูเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว ครูบอมคิดว่าจะทำระบบให้ดีเพื่อที่เมื่อมีครูที่สนใจมาสอนต่อและพอมีเวลาก็จะมาประสานต่อไป อย่างน้อยๆ ครูบอมก็สามารถเริ่มเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆ ในเรื่องความพยายาม ความมุ่งมั่นในการทำสิ่งใดและไม่ท้อถอย เพื่อให้เด็กๆ มีความคิดว่าพวกเขาสามารถมีความฝันและมีโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่ชอบได้โดยมีสังคมรอบตัวสนับสนุนครับ”

‘ภาพสุดท้ายที่อยากเห็นเด็ก ๆ ต่อจากนี้ไปในอนาคต’

“สุดท้ายครูบอมก็คิดว่า อยากทำทีมฟุตบอลต่อไปเรื่อยๆ ครับ แต่เราเองก็ต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อที่จะปลูกฝังให้นักเรียนมีวินัย เช่น ต้องการให้นักเรียนมีวินัยเพื่อมาซ้อม บางครั้งถ้าเด็กไม่มีวินัยจริงๆ ครูบอมก็ต้องยอมปล่อยไปบ้าง อย่างที่บอกครับว่า ไม่ใช่ว่ามีครูที่มุ่งมั่นอย่างเดียวทีมจะมีประสิทธิภาพ ต้องอยู่ที่ตัวเด็ก รวมถึงโรงเรียน ผู้ปกครอง เครือข่ายชุมชนที่สนับสนุนและส่งเสริมไปพร้อมๆ กัน ตอนนี้ยังมีปัญหาเชิงระบบโครงสร้าง ที่เด็กๆ อยากทำกิจกรรมให้เต็มที่แต่กลับมีอุปสรรคเพราะการเดินทางแทน เหมือนกับนักเรียนที่อยากเรียนเสริมแต่ไม่มีกำลังและแรงสนับสนุนมากพอ ทุกอย่างต้องสมดุลกัน สำหรับภาพสุดท้ายจริงๆ ครูบอมก็คงอยากให้ชุมชนในอำเภอเกาะจันทร์รู้ว่า เรามีทีมฟุตบอลนักเรียน และเป็นทีมที่มีเครือข่ายชุมชนกระจายข่าวสาร และพร้อมสนับสนุนเด็กๆ นักเรียนต่อไปครับ”

‘ครูบอมคิดว่าทีมฟุตบอลนี้ก็เปรียบเสมือนกับ
การศึกษาที่ครูอยากให้เด็กพยายามตั้งใจซ้อม มีวินัย
ทั้งในและนอกห้องเรียน เด็กๆ ควรได้รับโอกาสในการ
สนับสนุนทุกกิจกรรมอย่างเสมอภาคกันทุกคน
เด็กๆ ที่อยากอยู่ซ้อมต่อกับทีมฟุตบอลครูบอมอาจมี
ปัญหาเรื่องรถโดยสาร บ้านอยู่ไกลจากโรงเรียน
ต้องใช้รถรับส่ง ก็เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่อยากเรียน
เสริมก็ไม่สามารถเรียนได้เพราะไม่มีความพร้อม
นี่อาจเป็นบทเรียนว่า สุดท้ายแล้วอาจจะถึงเวลาที่เรา
ต้องกลับมาพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างให้มากขึ้นครับ'