ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

ตรุษจีนเก้าเลี้ยว

คุณครูดรุณี วลัญช์อารยะ (คุณครูโรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยา)

By ณัฐชนน โรจน์วัลลี (เจ้าหน้าที่ฝ่ายสรรหาและคัดเลือก มูลนิธิ ทีช ฟอร์ไทยแลนด์/ ศิษย์เก่าครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 6 ประจำโรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยา)

การสืบทอดทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น
และ บทบาทสำคัญของโรงเรียนและชุมชน
อำเภอเก้าเลี้ยวจังหวัดนครสวรรค์

“บวร = บ้าน วัด โรงเรียน” สิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยและชุมชนเก้าเลี้ยวมาอย่างยาวนาน

เมื่อเราพูดถึงชุมชน องค์ประกอบแรกๆ ที่เรานึกถึงคงไม่พ้น บ้าน วัด และ โรงเรียน ที่มักจะอยู่คู่กันเสมอ อำเภอเก้าเลี้ยวเป็นหนึ่งในตัวอย่างของหลักปรัชญา “บวร” ได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงสถานที่ที่อยู่ใกล้กัน แต่รวมถึงประวัติศาสตร์และรากฐานของวัฒนธรรมที่นำไปสู่วิสัยทัศน์ในการพัฒนาชุมชนและบุคลากรในชุมชนต่อไป

“เทศกาลตรุษจีนงานแห่จ้าว และการทำงานร่วมกันในชุมชน”

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของอำเภอเก้าเลี้ยว การเดินทางทางน้ำนับเป็นการเดินทางสายหลักในสมัยนั้นและเมื่อนับจากเมืองหลักอย่างปากน้ำโพ ชุมชนชาวจีนที่ปักหลักอยู่โค้งน้ำที่ 9 ถูกขนานนามว่า “บ้านเก้าเลี้ยว” ซึ่งมาจากจำนวนโค้งน้ำนั่นเอง การขยายตัวของชุมชนจีนในบริเวณบ้านเก้าเลี้ยวนำไปสู่การสร้างศาลเจ้าและประเพณีแห่จ้าวในเวลาต่อมา

เพราะงานแห่จ้าวเก้าเลี้ยวมีลักษณะเฉพาะและพิธีกรรมที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการเตรียมการเป็นอย่างมาก จึงทำให้ในทุกปีพิธีการแห่จ้าวจะรวมตัวลูกหลานเก้าเลี้ยวจากทุกหนแห่งให้กลับมาร่วมมือร่วมใจกันเพื่อวางแผนจัดงาน

เริ่มตั้งแต่การประชุมของกรรมการศาลเจ้า หัวหน้าชุมชน หน่วยงานรัฐ และโรงเรียน (ผู้บริหาร คณะครู นักเรียน รวมถึง ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์) เพื่อแบ่งหน้าที่ เตรียมความพร้อม ฝึกซ้อม จนถึงปฎิบัติหน้าที่ในวันงานพิธีแห่จ้าวเก้าเลี้ยวที่นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของทุกคนในชุมชน เพราะทุกกิจกรรมถูกขับเคลื่อนโดยลูกหลานชาวเก้าเลี้ยวอย่างแท้จริง นี่จึงเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้งานแห่จ้าวมีการสานต่อมานับร้อยปีและเป็นรากฐานของชุมชนมาอย่างยาวนาน

โรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยาถือเป็นหนึ่งในผู้จัดงานแห่จ้าวตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ และในทุกปี นักเรียนจากโรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยาจะอาสาเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วงโยธวาทิต ขบวนนางฟ้าเทพธิดาดอย รำถ้วย วงดนตรีจีน ขบวนสิงโต/มังกร หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกองค์สมมติเจ้าแม่กวนอิม

สาเหตุที่โรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยาเข้ามามีบทบาทสำคัญเพราะชุมชนต้องการถ่ายทอดวัฒนธรรม ความรู้ ความเข้าใจในวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของเก้าเลี้ยวให้แก่เยาวชนรุ่นหลังจากทุกตำบล ให้พวกเขาได้เรียนรู้ สัมผัส และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อที่ในวันที่พวกเขาเติบโตพวกเขาจะได้ขึ้นมานำกิจกรรมต่างๆ และสืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้ต่อไป

งานชุมชนไม่ใช่เพียงแค่สืบทอดวัฒนธรรม แต่คือการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

งานชุมชนนอกจากจะเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมแล้ว ยังทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นด้วย เมื่อทุกคนรู้จักกันผ่านการร่วมงานชุมชนจึงทำให้พวกเขาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงการพัฒนาชุมชนและลูกหลานของพวกเขา โดยโรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยาได้รับการสนับสนุนจากชุมชนเก้าเลี้ยวมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านทุนทรัพย์ การเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการสถานศึกษา การเข้ามาอบรม และส่งเสริมทักษะต่างๆ ที่ตอบโจทย์กับบริบทของชุมชนของพวกเขาเอง หรือแม้กระทั่งการให้ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นหนึ่งในหลักสูตรสถานศึกษาอีกด้วย

เพราะสิ่งที่นักเรียนได้รับจากการทำงานชุมชนไม่ใช่แค่ทักษะจากการฝึกฝนเท่านั้น แต่คือการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจริงๆ ความเข้มแข็งของชุมชนคือรากฐานของการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม และการศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม

ดังนั้น ทุกคนควรเชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันพวกเขาเพื่อที่สักวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาเองได้ และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไป

เพราะงานชุมชนไม่ใช่เพียงแค่
การสืบทอดวัฒนธรรม
แต่คือการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยอย่างยั่งยืนผ่านการทำความเข้าใจ และ ทำงานร่วมกับชุมชนผ่านโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่คุณจะได้พัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของคุณและพัฒนาศักยภาพนักเรียนโดยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุคคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง และ ชุมชนเป็นระยะเวลา 2 ปี

หากท่านสนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้แล้วที่ https://www.tfaforms.com/4948989