ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 2

Leadership In Teach
For Network –
สัมภาษณ์ครูใหม่ รุ่น 2

ครูพิ้งค์ (นีติรัฐ พึ่งเดช)

By หมิวกัลยรัตน์ อภิวัฒโนดม

อย่าเพิ่งรีบบอกคนอื่นหรือแม้กระทั่งกับตัวเอง ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก

พิ้งค์ นีติรัฐ พึ่งเดช – Country Program Manager จากองค์กร Girl Rising

ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันที่ พิ้งค์-นีติรัฐ พึ่งเดช สิ้นสุดบทบาทการเป็นคุณครูวิชาภาษาอังกฤษ ในโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งย่านคลองเตย จากตอนที่เธอทำงานในฐานะเฟลโล่วรุ่น 2 ในโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ Teach For Thailand จนตอนนี้ก้าวเข้าสู่การทำงานในฐานะ Country Program Manager ขององค์กร Girl Rising 

โดย Girl Rising เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เน้นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำตามความฝันของตัวเองและพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้แก่เด็กๆ เพื่อมอบโอกาสทางด้านการศึกษา และทำให้เด็กเหล่านี้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในสังคมมากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมกับองค์กรนานาชาติอย่าง Girl Rising พิ้งค์ยังทำงานเป็น Project Manager ในองค์กร EdWINGS Education เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 2 ปีเต็ม โดยเธอได้ผ่านการลงพื้นที่กว่า 70 โรงเรียนทั่วประเทศ 

นับได้ว่าเป็นศิษย์เก่าครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงอีกคนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และลงมือทำเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย และด้วยความที่เธอมีเรื่องราวการเดินทางในเส้นทางการศึกษาที่น่าประทับใจมากมาย วันนี้เราจึงจะมาทำความรู้จักเส้นทางการทำงานหลังจบโครงการ 2 ปีของเธอให้มากขึ้น รวมถึงชวนคุยในมุมมองของทักษะความเป็นผู้นำที่เธอได้รับ และสิ่งที่นำไปต่อยอดในการทำงานหลังจบโครงการแล้ว

ช่วยเล่าไทม์ไลน์หลังจากจบโครงการ 2 ปี จนถึงปัจจุบันว่าผ่านการทำงานที่ไหนอย่างไรบ้าง?

หลังจากจบเฟลโล่ว พี่เริ่มทำงานที่ EdWINGS Education ในตำแหน่ง Project Manager เป็นผู้จัดการโครงการต่างๆ ภายใต้หน่วยงานที่ชื่อว่า EdLab ซึ่งเป็นฝ่ายวิจัยขององค์กร เก็บข้อมูล ทำแบบประเมินและวัดผล เวลา EdWINGS มีโปรเจกต์อะไร ทีมนี้จะคอยคิดแบบประเมินเพื่อวัดผลและวิเคราะห์ข้อมูลว่าโปรเจกต์นี้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ส่วนถ้าทำงานกับองค์กรข้างนอก จะเป็นที่ปรึกษาเรื่องข้อมูล โดยโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่พี่เคยทำจะมีอยู่ทั้งหมด 3 โปรเจกต์

โปรเจกต์แรกสุดที่ทำเลยคือ ทำ test ด้านการพัฒนา soft skills ให้เด็กนักศึกษา ซึ่งทำร่วมกันกับบริษัทเด็กฝึกงาน โดยเราจะออกแบบ test ให้เขาว่าถ้าเราจะวัด soft skills ในตัวเด็ก เราควรจะต้องถามคำถามอะไรบ้าง เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะความเป็นผู้นำ แล้วก็จะมีถ่ายทำวิดีโอบอกเล่า content ด้วย

พอจบอันนี้ ก็มีโปรเจกต์เรื่องการสำรวจโรงเรียน เข้าไปทำเป็น partner หนึ่งในโครงการร้อยพลังการศึกษา ภายใต้การดูแลของมูลนิธิยุวพัฒน์ และพรีเมียร์ที่เป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่คอยให้การสนับสนุน สิ่งที่ทำคือเราเดินทางไปคุยกับผอ. และ คุณครู สำรวจโรงเรียนทั่วประเทศ โดยจะเป็นโรงเรียนที่คะแนน O-NET ต่ำ แล้วก็มีนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนมากกว่า 30% ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งคัดรายชื่อมาได้ประมาณ 70 โรงเรียน จากนั้นเราก็สอบถามว่าโรงเรียนต้องการอะไรบ้าง เหมาะสมกับเครื่องมือไหนที่โครงการร้อยพลังสามารถให้การสนับสนุนได้ เราก็จะจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมตามความต้องการของโรงเรียนที่ผ่านเข้าร่วมโครงการ

ใช้เวลานานขนาดไหนกับการเดินทางกว่า 70 โรงเรียนทั่วประเทศ?

ประมาณ 6 เดือนที่เดินทาง แล้วก็ทำข้อมูลอีกรวมๆ แล้วก็ 1 ปี ถือว่าได้ประสบการณ์เยอะมากๆ เพราะได้เจอผอ. และ คุณครูที่มุ่งมั่นทุ่มเท เราเลยรู้สึกมีความหวังกับการศึกษามากขึ้นผ่านการได้เดินทางในโปรเจกต์นี้

หลังจากจบโปรเจกต์นี้แล้ว ทำอะไรต่อ?

เริ่มทำงานอินเตอร์ คือไปทำร่วมกับ Girl Rising ซึ่งเขามีเครื่องมือแนะแนวในการพัฒนาเป้าหมาย ความฝันของเด็ก เราไปทำร่วมกับ Girl Rising ในส่วนของการสำรวจและให้ข้อมูลว่า โรงเรียนไหนบ้างที่ครูแนะแนวต้องการเครืองมือ ส่วนทาง Girl Rising จะมีทีมงาน training ติดต่อประสานงานคุณครู ให้หลักสูตรกับคุณครูไป แล้วหลังจากนั้น ทาง Girl Rising ก็ให้เราเป็นผู้ติดตามผลโครงการให้ ทำให้เราได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่างประเทศชื่อ ICRW (International Center for Research on Women) ซึ่งอยู่ที่อเมริกา โดยเขาจะทำวิจัยเพื่อพัฒนาผู้หญิงและสร้างความเสมอภาคทางเพศ เราก็นำเครื่องมือของเขามาแปล ออกเดินทางไปคุยกับคุณครู ทำ Focus Group Discussion เก็บข้อมูลเพื่อวัดผล 

ชีวิตการทำงานตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

ตอนนี้ย้ายมาอยู่ที่ Girl Rising เป็น Country Program Manager เรียกว่าเป็นผู้จัดการโครงการประจำประเทศไทย งานของเราคือเสาะหาคุณครู นักการศึกษา หรือเจ้าหน้าที่มูลนิธิที่ต้องการหลักสูตรในการพัฒนาทักษะของเด็ก จากนั้นก็เทรนคุณครูเหล่านั้น และให้เขานำหลักสูตรไปใช้ ตอนนี้พี่เลยเหมือนเป็นคนที่ train the trainer ไปเลย 

หลังจากนั้นจะมีการลงไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนที่นำหลักสูตรไปใช้ ประสานงานโครงการ ติดตามผล ซึ่งในประเทศไทยมีพี่คนเดียว (หัวเราะ) เพราะว่า Girl Rising เนี่ย ทำงานใน 11 ประเทศ สำนักงานใหญ่อยู่ที่อเมริกาและอินเดีย แต่ว่าเขาก็จะมีระดับความเข้มข้นของแต่ละประเทศ อย่างประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะถือว่าเป็นประเทศที่ยังไม่ได้ลงมาเน้นมาก ดังนั้นเราเลยต้องทำคนเดียวทุกอย่าง

โห ก็คือในทีมประเทศไทยมีพี่คนเดียวเลย?

ถ้าในประเทศไทยก็มีพี่คนเดียวค่ะ แต่ทางทีมใหญ่เขาสนับสนุนเราตลอดนะ ก็จะมีประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom หรือ Google Meet อยู่เรื่อย ๆ เพื่อมาไกด์ ติดตามผลอะไรแบบนี้ ซึ่งมันจะยากตรงที่ต้องปรับเวลาการทำงานให้เข้ากับ Time Zone ของประเทศอื่น ๆ ด้วย เป็นประสบการณ์ที่สนุกดีค่ะ (หัวเราะ)

ฟังดูเป็นงานที่ต้องใช้แรงกาย แรงใจในการควบคุมตัวเองสูงมาก

ถ้าในประเทศไทยก็มีพี่คนเดียวค่ะ แต่ทางทีมใหญ่เขาสนับสนุนเราตลอดนะ ก็จะมีประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom หรือ Google Meet อยู่เรื่อย ๆ เพื่อมาไกด์ ติดตามผลอะไรแบบนี้ ซึ่งมันจะยากตรงที่ต้องปรับเวลาการทำงานให้เข้ากับ Time Zone ของประเทศอื่น ๆ ด้วย เป็นประสบการณ์ที่สนุกดีค่ะ (หัวเราะ)

จากประสบการณ์พี่พิ้งค์ทำอะไรมาเยอะมาก ทั้งลงพื้นที่เอย ประสานงาน แก้ปัญหาเอย อยากรู้ว่าสำหรับพี่แล้ว ผู้นำที่ดี ควรจะมีความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และชุดความเชื่อ (Mindset) อย่างไรบ้าง?

สำหรับพี่นะ คนที่เป็นผู้นำที่ดีต้องเริ่มจากตัวเองก่อน คือต้องมีความรู้ ความสามารถในเรื่องที่ตัวเองจะทำหรือไปนำคนอื่น เพราะการที่เราจะไปนำใคร จะให้ไปแบบกลวงๆ ไม่รู้อะไรเลยก็คงไม่ได้

แล้วถ้าเป็นทักษะล่ะ?

ทักษะที่พี่คิดว่าสำคัญในตัวผู้นำ อันแรกเลยคือ การสื่อสาร มีหลายคนนะที่เป็นคนเก่ง ดูก็รู้ว่ามีความรู้เยอะ แต่เล่าไม่เป็น ใช้คำพูดไม่เหมาะสม แม้ว่าคุณจะเก่งหรือมีความรู้เยอะก็จริง แต่คนก็ไม่ได้อยากตามคุณ ไม่อยากทำงานด้วย เพราะฉะนั้นทักษะการสื่อสาร ทั้งการพูดและเขียนก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องรู้จักเลือกใช้คำพูด รู้ว่าคนแบบไหนควรสื่อสารอย่างไร

มันจะเชื่อมโยงกับทักษะอันที่สองคือ ต้องรู้จักสังเกต ว่าผู้ฟังของเรา หรือคนที่ทำงานกับเราเป็นคนอย่างไร ซึ่งก็ขยายไปสู่อย่างที่สามคือ การเลือกคนให้เหมาะกับงาน (Put the right man on the right job) ถ้าเราต้องนำคนอื่น เราต้องรู้ว่าใครมีลักษณะอย่างไร ชอบอะไร มีทักษะความสามารถอะไร ควรจะช่วยอะไรในโปรเจกต์นี้

อีกอันหนึ่งคือ ทักษะการแก้ปัญหา เพราะเวลาทำงานมันไม่ได้ราบรื่นเสมอ พอเกิดปัญหาเฉพาะหน้าอะไรขึ้น เราก็ควรดูสถานการณ์ คิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้

สรุป ทักษะ (Skills) ที่พี่พิ้งค์คิดว่าสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำที่ดีมีอยู่ 4 อย่างหลัก ๆ ก็คือ

1) ทักษะการสื่อสาร
2) ทักษะการสังเกต
3) การเลือกคนให้เหมาะกับงาน
4) ทักษะการแก้ปัญหา

สุดท้าย ถ้าเป็นในเรื่องของชุดความเชื่อ (Mindset) เนี่ย คิดว่าผู้นำที่ดีควรมี Mindset อย่างไร?

ถ้าพูดถึง Mindset แน่นอนว่าต้องเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองและคนอื่น เพราะเวลาจะไปนำใคร ถ้าเรายังไม่เชื่อเลยว่าตัวเองนำได้ แบบ ‘ฉันทำได้เหรอวะ?’ มันก็ทำไม่ได้ตั้งแต่เริ่มแล้ว เพราะเราไม่เชื่อในตัวเองเลย และต้องเชื่อในตัวคนที่อยู่กับเราด้วยว่า เขาจะทำหน้าที่ของเขาได้สำเร็จ

อย่างตอนเป็นคุณครู เราก็ต้องเชื่อว่านักเรียนของเรามีศักยภาพ เชื่อว่าเราจะช่วยเปลี่ยนเขาได้ แล้วก็พาห้องเรียนไปด้วยกัน อย่างทีมโปรเจกต์ ก็ต้องเชื่อในทุกๆ คน แล้วก็พาทีมไปด้วยกัน แต่การเชื่อนี้ก็ไม่ใช่การเชื่อแบบเพ้อฝันนะ อย่างถ้านักเรียนฝันว่า ‘อยากไปเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา’ คือมันก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ว่าแบบ ‘ลูก เราอยู่ไทยนะ เป็นผู้นำในประเทศก่อนดีมั้ย?’ อะไรแบบนี้ คือต้องเชื่ออยู่บนฐานของความเป็นจริงด้วย ประกอบกับการให้คำแนะนำ ดังนั้นเราก็ต้องรู้จักพื้นฐานคนของเราก่อนว่าอยู่ในระดับไหน แล้วพาเขาไปให้ถึงเป้าหมายโดยอิงจากพื้นฐานของเขา

คิดว่าประสบการณ์การเป็นเฟลโล่ว 2 ปีที่เข้าไปเป็นคุณครูในโรงเรียน มันช่วยพัฒนาทั้ง Knowledge, Skills และ Mindset ที่ได้เล่าไปเมื่อสักครู่อย่างไรบ้าง?

พี่ว่าทักษะพวกนี้ทุกคนมีในตัวเองอยู่แล้วประมาณหนึ่งแหละ แต่พอได้มาเป็นเฟลโล่วมันก็จะยิ่งพัฒนาทักษะเหล่านี้ของเราให้ดีขึ้น อย่างในเรื่องความรู้ ถามว่าตอนเป็นครู ความรู้ที่ใช้สอน ความรู้ในเรื่องการทำโปรเจกต์ เราได้จากตอนเป็นครูไหม? ก็ไม่ใช่นะ เราได้มาจากตอนสมัยเรียน ตอนที่เราทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่มันสะสมมาเรื่อยๆ แต่เราได้มีโอกาสมาฝึก มาปล่อยของตอนที่เราเป็นเฟลโล่ว เพราะเราไม่มีทางรู้ทุกอย่างตั้งแต่ก่อนเริ่มทำงานอยู่แล้ว ดังนั้นก็ต้องหมั่นเติมความรู้ระหว่างทำงานไปเรื่อย ๆ ผ่านการเตรียมสอน รวมถึงการทำโปรเจกต์ระหว่างอยู่ในโครงการด้วย 

ส่วนในเรื่องของทักษะ พอมาเป็นครู เราได้ใช้จริงทุกวัน การสื่อสาร การจัดการคน โดยเฉพาะในห้องเรียนที่เราต้องจัดการเด็กๆ อยู่แล้ว อย่างตอนแรกเราก็ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติและทักษะของเขา แล้วคิดต่อว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาแต่ละคนให้ได้ศักยภาพสูงสุด บางคนเขามาด้วยศักยภาพที่จะเรียนจบแน่ๆ แล้ว 80% แค่เติมความรู้ให้เขา เขาก็ไปตามความฝันได้แล้ว แต่เด็กบางคนอาจจะมีศักยภาพที่จะทำตามความฝันตัวเองได้แค่ 20% ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามาโรงเรียนทำไม บางวันก็ไม่มา ถ้าเราไปเน้นเติมวิชาการให้เลยก็ไม่ได้ เราก็ต้องใส่เรื่องความรับผิดชอบ วินัยในการดูแลตัวเองให้ก่อน ทั้งหลายทั้งปวงมันคือการจัดการคน รู้ว่าใครต้องการอะไรแบบไหน

อีกอย่างเราได้เรียนรู้ด้วยว่า หัวใจสำคัญของการช่วยคนทุกคนเลยคือ ‘ไม่ว่าเราจะไปทำงานที่ไหน เราต้องถามเขาก่อนว่าเขาต้องการอะไร’ เพราะอย่างเราเรียนเรื่องการเสริมแรง ก็เตรียมการให้รางวัลนักเรียนไป แต่เด็กไม่ชอบ ไม่อยากได้อันนี้ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เราต้องถามเขาก่อน ต้องศึกษาว่าเขาอยากได้อะไร ไม่ใช่ว่า เรามีอันนี้แล้วเราจะให้ เรามีแค่นี้แหละ คุณต้องเอาไปนะ แต่ถ้าเขาไม่ได้ต้องการเขาก็ไม่เอาไง หรือบางทีเอาไปเขาก็ไม่ได้ใช้ เพราะฉะนั้นมันสำคัญมากที่เราจะต้องเข้าใจธรรมชาติของคนที่เราจะทำงานด้วย

นำทักษะเหล่านี้ตอนทำงานกับนักเรียน ไปปรับใช้กับผู้ใหญ่ในการทำงานอย่างไรบ้าง?

การทำงานกับเด็กมันจะยากกว่าการทำงานกับผู้ใหญ่ ตรงที่เด็กเขายังไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ ชอบอะไรบ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะสามารถบอกได้เลยว่าถนัดอะไร มีประสบการณ์อะไรมาบ้าง ดังนั้นพอเราได้ทำงานกับเด็กมาเรื่อยๆ ในการเป็นครู เราก็จะชินกับการดูแลคน สังเกตคนไปโดยปริยาย พอเราทำงานในโลกของผู้ใหญ่ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันหนักขนาดนั้น เพราะกับเด็กยังดูแลได้เลย (แต่ผู้ใหญ่บางคนที่เข้าใจยากหรือซับซ้อนก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ) แต่ว่าในมุมของการฝึกจัดการคน การได้ฝึกจัดการกับเด็กๆ มันก็เป็นเรื่องที่ช่วยเราในเรื่องงานพัฒนาคนมากๆ 

แล้วก็ในเรื่องของ Mindset ด้วยแหละ ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่ไม่เคยลงไปสัมผัสที่คลองเตยเลย เราก็จะได้แต่จินตนาการว่า ถ้าเด็กยากจนน่าจะเป็นแบบนี้นะ เราน่าจะพัฒนาเขาแบบนั้นนะ แต่พอเราได้ลงไปสอนจริงในพื้นที่ ได้เห็นสภาพแวดล้อม เราเข้าใจเลยว่า ทำไมเด็กเขาถึงต้องการคนที่เชื่อในศักยภาพของเขามากๆ เพราะบางทีครอบครัวยังไม่เชื่อเลย ยังใช้คำเรียกเด็กติดปากด้วยคำพูดเชิงลบที่เป็นการด้อยคุณค่าของเขา เพราะฉะนั้น เรารู้สึกว่า คนที่เชื่อในตัวเด็กๆ เหล่านี้มันน้อยมากตั้งแต่เขาเกิดมา แล้วเขาจะเอาอะไรไปเชื่อในตัวเองว่าเขาจะสามารถเรียนจบได้ มีอาชีพที่สุจริตได้

คิดว่าคนที่มีทักษะความเป็นผู้นำที่ดี ได้เปรียบกว่าคนที่ขาดทักษะนี้ยังไงบ้าง?

พี่มองว่าคนที่มีความเป็นผู้นำ เขาจะมีความกล้าหาญที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง ทำให้นำมาซึ่งประสบการณ์ในการทำงานและการแก้ปัญหา และเมื่อเรามีประสบการณ์เยอะ มันก็จะนำมาซึ่งทักษะและความเชี่ยวชาญต่างๆ แล้วพอเรามีความเชี่ยวชาญมากขึ้น มันก็จะนำมาสู่ความเชื่อที่ว่า เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งถ้าเราไม่ได้มีประสบการณ์ตรงนี้ มันก็อาจจะทำให้เรามีทักษะน้อยลง และไม่เชื่อว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้เลย อีกอย่างคือ มันทำให้เราได้เป็นคนริเริ่มอะไรใหม่ๆ ที่จะช่วยให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

ดังนั้นการที่เราได้ลงไปสัมผัส
สภาพแวดล้อมจริงมันเลยทำให้เราเห็นว่า
การที่เราต้องเชื่อในคนของเรามันเป็นเรื่องจริง

เราต้องบอกเด็กเสมอว่า ‘เฮ้ย หนูทำได้ หนูเกิดมามีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ หนูมีสมอง หนูมีมือของหนู หนูคิดได้ หนูลงมือทำได้’บางทีสถานะทางบ้านหรืออะไรต่างๆ มันอาจจะฉุดรั้งเขา แต่เขาก็ต้องไม่มองอยู่แค่ตรงนั้น เขาต้องมองออกมาอีกมุมหนึ่งด้วยว่า มีคุณครูที่เชื่อในตัวเขาและพร้อมจะช่วยนะ แล้วก็ดึงตัวเองขึ้นมา

ประสบการณ์ 2 ปีในการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นเหมือนสนามที่ช่วยฝึกฝนความรู้ ทักษะ และชุดความเชื่อที่เรามีอยู่แล้ว ให้มันเข้มแข็งมากขึ้น โดยที่หลัก ๆ แล้วจะเป็นเรื่องของการจัดการคน โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่จัดการยากกว่าผู้ใหญ่ เรื่องของการสังเกตคนให้มากขึ้นว่า พื้นฐานของเขา เป็นอย่างไร ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดใช้ได้จนถึง การทำงาน รวมถึงได้ฝึกเรื่องของการเชื่อมั่นในตัวเองและคนอื่นด้วย