“แท็บเล็ต” อุปกรณ์ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ ความตั้งใจดีของครูทีชฯ ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้

ครูส้มโอ (ภัทรธิดา สมรักษ์)

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้หลายอย่างต้องหยุดชะงัก แต่โลกการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนยังต้องเดินหน้าต่อไป การเรียนแบบออนไซต์จึงต้องเปลี่ยนเป็นออนไลน์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเชื่อมต่อระหว่างครูกับนักเรียน อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารทั้ง โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และสัญญาณอินเตอร์เน็ต คือสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้แต่กลับขาดแคลน เด็กบางคนอาจมีแท็บเล็ต มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตอย่างครบครัน ในขณะที่หลายคนไม่มีทั้งแท็บเล็ตและสัญญาณอินเตอร์เน็ต ยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างชัดเจน

ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ต่างตระหนักในหน้าที่การสร้างความเปลี่ยนแปลง และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนั้นเพื่อไม่ให้นักเรียนเสียโอกาสในการเรียนด้วยเพียงเพราะขาดอุปกรณ์ กิจกรรมการให้ยืมแท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ ของโรงเรียนสะเมิงพิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ จึงเกิดขึ้น โดยมี “ครูส้มโอ-ภัทรธิดา สมรักษ์” ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 7 เป็นโต้โผหลัก

“เดิมทีเราเริ่มเห็นการเสียโอกาสของนักเรียนตั้งแต่ยังอยู่ในช่วงเรียนออนไซต์ปกติ เพราะในคาบเรียนเราจะมีกิจกรรมให้เด็กได้เล่นเกม ซึ่งเป็นการทบทวนบทเรียนผ่านรูปแบบของเกมออนไลน์ ทำให้เราเห็นปัญหาว่านักเรียนในห้องไม่ได้มีโทรศัพท์มือถือทุกคน เราจึงพยายามคิดหาวิธี ประจวบเหมาะกับเมื่อได้รู้จากครูหนุง ซึ่งเป็นครูทีชฯ รุ่น 6 ว่าที่โรงเรียนมีแท็บเล็ตที่ได้รับมอบมาและยังไม่ได้ใช้งานอยู่ประมาณ 30 กว่าเครื่อง เราเลยคุยกันว่า ควรจะเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในโรงเรียน เพราะยังมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ขาดอุปกรณ์” ครูส้มโอเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ

เมื่อได้ข้อสรุปและตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นว่าสามารถใช้การได้เรียบร้อยแล้ว โรงเรียนได้มีประกาศเปลี่ยนจากการเรียนแบบออนไซต์เป็นออนไลน์ที่บ้าน ทั้งครูส้มโอและครูหนุงจึงได้แจ้งให้ครูในโรงเรียนท่านอื่นทราบว่ามีแท็บเล็ตให้นักเรียนยืมเรียนออนไลน์ได้ และให้ช่วยประชาสัมพันธ์ต่อไปยังผู้ปกครอง ปรากฏว่ากิจกรรมการให้ยืมแท็บเล็ตเรียนออนไลน์ได้ผลตอบรับที่ดีมาก

“ไม่คิดเหมือนกันว่าแท็บเล็ต 30 กว่าเครื่องจะเพียงพอสำหรับเด็ก ม. 1 – ม. 6 ซึ่งการให้ยืมแท็บเล็ตเรียนออนไลน์ครั้งนี้นอกจากช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนที่ขาดแคลนได้มีอุปกรณ์เรียนอย่างเท่าเทียมกันแล้ว เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องการรักษาของ ได้เรียนรู้การจัดการตัวเองในเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ รวมถึงได้เรียนรู้บทบาทการเป็นผู้รับ และหลังจากนี้เราจะฝึกให้เขาได้คิดว่าเมื่อเป็นผู้รับแล้ว หากมีโอกาสก็ควรเป็นผู้ให้ ในการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้คนอื่นบ้าง”

ครูส้มโอเล่าว่า กิจกรรมการให้ยืมแท็บเล็ตครั้งนี้ยังสร้างความยินดีให้กับผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เพราะบริบทของนักเรียนโรงเรียนสะเมิงพิทยาคมส่วนใหญ่เป็นชาวเขากลุ่มชาติพันธุ์ มีชนเผ่าต่างๆ ทั้ง กะเหรี่ยง ลาหู่ ปกาเกอะญอ ไทยใหญ่ ไทยลื้อ รวมถึงเด็กไร้สัญชาติ อาชีพหลักของครอบครัวคือเกษตรกร บางบ้านจึงอาจมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว เมื่อมีแท็บเล็ตให้ลูกหลานยืมเรียนจึงเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้ปกครองได้ดี

แต่เนื่องจากบริบทของนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเขากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นอกจากปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของอุปกรณ์การเรียนแล้ว ครูส้มโอยังพบว่าอีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือ เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียนนักเรียนส่วนใหญ่ต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำงานจนไม่ได้เรียนหนังสือ เหตุนี้ครูส้มโอจึงได้คิด โครงการ “โทร ถาม ตาม เยี่ยม” ขึ้น

“Mindset ของผู้ปกครองส่วนใหญ่คือ ถ้าอยู่บ้านนักเรียนต้องไปช่วยทำงาน การเรียนหนังสือคือการเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น เพราะฉะนั้นถึงจะมีอุปกรณ์แต่เด็กยังต้องออกไปช่วยทำงานก็ไม่เกิดประโยชน์ สิ่งแรกที่เราทำคือ ต้องวิดีโอคอลเพื่อสอบถาม ติดตามนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ การโทรไปพูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบทำให้เราได้รู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีชีวิตแบบไหน แล้วยังได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วยว่า นักเรียนยังต้องเรียนหนังสือแม้จะไม่ได้ไปโรงเรียน ทั้งยังถือโอกาสติดตามงาน การบ้านต่างๆ ด้วย”

ครูส้มโอเล่าว่า การได้อธิบายสร้างความเข้าใจให้
ผู้ปกครอง และให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการช่วยจัด
ตารางเรียนให้เด็ก ช่วยติดตามงานต่างๆ ที่ต้อง
ส่งครู นับเป็นการแก้ไขอย่างถูกวิธี

“เราบอกความตั้งใจของเรากับผู้ปกครองเลยว่า ครูมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้เด็กนักเรียนห้อง ม. 1/3 มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองคือการเรียน และต่อชุมชน ซึ่งความปรารถนาของครูจะเป็นจริงได้ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง”

สิ่งที่ครูส้มโอถ่ายทอดได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้ปกครอง ให้กลายเป็นผู้ช่วยที่ดีของครูในช่วงที่ยังต้องเรียนออนไลน์อยู่ ณ ขณะนี้ “ถ้าถามว่าสิ่งสำคัญของการเป็นครูในโรงเรียนที่มีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์คืออะไร มันคือความเชื่อมั่นในตัวนักเรียนว่า เขาสามารถพัฒนาได้ ความแตกต่างอย่างการใช้ภาษาอาจทำให้เขาขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าแสดงออก แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราฝึกให้เขาคิดวิเคราะห์อย่างมีระบบ ให้เขาได้ตระหนักรู้ ไม่รู้สึกแปลกแยก จะเห็นว่าเขาก็มีความสามารถไม่แตกต่างไปจากนักเรียนทั่วไป

รวมถึงการเข้าถึง และสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชน ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า พ่อแม่ทุกคนมีความรักและความปรารถนาดีต่อลูกเหมือนกัน แค่ได้สื่อสาร พูดคุย อธิบายให้เข้าใจ ครูกับผู้ปกครองก็จะสามารถเชื่อมโยงกันได้”

ครูส้มโอกล่าวถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนสะเมิงพิทยาคมว่า แม้จะต้องทุ่มเทกับภาระหน้าที่นี้จนสุดพลัง แต่สิ่งที่เธอได้รับกลับมาจากข้อความสั้นๆ ของเด็กนักเรียน ว่า

หนูเห็นความพยายามของครู หนูก็จะพยายามนะคะ
หนูจะตั้งใจเรียนให้เหมือนกับที่ครูตั้งใจสอน

เท่านี้ก็ช่วยเติมเต็มพลังใจให้เธอได้ไม่เคยหมด และยังช่วยสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เธอและ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ พยายามได้เป็นอย่างดี