งานที่มีความหมาย คืองานที่เข้าถึงชีวิตเด็กๆ มากขึ้น

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษามาแล้วหลายรุ่น ศิษย์เก่าหลายคนได้ทำงานสร้างผลกระทบทางการศึกษาต่อในฐานะพนักงานขององค์กรเพื่อการศึกษา ทั้งทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และองค์กรภาคีอื่นๆ หนึ่งในนั้น คือ ‘มิ้นท์’ – ภารดี เลิศวริทธิ์ อดีตพนักงานฝ่ายสรรหาและคัดเลือกผู้นำการเปลี่ยนแปลง ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ปัจจุบัน มิ้นท์ เป็นผู้จัดการงานสร้างความร่วมมือเพื่อระดมทรัพยากร ของโครงการร้อยพลังสร้างสังคมดี มูลนิธิเพื่อ “คนไทย”

     “เราประทับใจว่าการให้ความรู้หรือการศึกษาคน มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่” มิ้นท์เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธออยากทำงานด้านการศึกษา  นั่นคือการไปทำค่ายสอนที่โรงเรียนต่างๆ

     “เราชอบเวลาที่เราได้ไปสอน ไปปูพื้นฐานโอเน็ต (ONET) ได้ใช้เวลากับเด็กๆ โรงเรียนก็มักจะส่งฟีดแบคกลับมาที่ชมรมหรือคณะว่า ‘น้องคะแนนสอบขึ้นกันหมด อยากให้กลับมาอีก’ พอเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำมันมีผลกระทบดีๆ กับคนอื่น เราก็อยากทำสิ่งนี้อีก”

     “หลังจากเรียนจบคณะอักษรฯ เพื่อนๆ ก็ทำงานกันหลายสาย เช่น งานสถานทูต งานล่าม งานแปล หรืองานด้านบริหารทรัพยากรบุคคล” มินท์เล่าถึงเส้นทางอาชีพ “ตอนนั้นเรามีตัวเลือกด้านการทำงานสองข้อ  คือระหว่างงานที่ทำแล้วมั่นคง กับงานที่ทำแล้วมีความหมาย แต่สุดท้ายแล้ว ใจเราอยู่ที่ข้อสอง”

     จากการตั้งเป้าหมายดังกล่าว มิ้นท์ได้พบเจ้าหน้าที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ซึ่งมาออกบูธประชาสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัย เธอรู้สึกเชื่อมโยงกับงานของมูลนิธิฯ ทันที

     “มันใช่เลย นี่คืองานที่เราตามหา เป็นงานเดียวที่ตัดสินใจสมัครและได้งานตั้งแต่ยังไม่จบปีสี่ รู้สึกว่านี่แหละคือเส้นทางของเรา”

     มิ้นท์ได้ไปประจำที่โรงเรียนพระวิสุทธิวงส์ จังหวัดปทุมธานี เป็นเวลา 2 ปี ระหว่างนั้น เธอได้ดำเนินการสองโครงการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อนักเรียน โดยโครงการแรกให้ทุนเยาวชนเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร และมอบหนังสือรณรงค์ลดการกลั่นแกล้งและทำร้าย (Bullying) เพื่อเผยแพร่ในโรงเรียน

     อีกโครงการคือ โครงการครูปล่อยของ ที่เน้นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคุณครูด้วยกัน “ตอนสอนเทอมสุดท้าย เรากลับมาทบทวนการทำงานเพื่อเด็ก ๆ และเกิดคำถามว่า ‘ถ้าฉันจบโครงการนี้ไป ใครจะทำสิ่งที่ฉันสร้างมาแล้วต่อ’” มิ้นท์เล่า “เราเลยมองถึงการสร้างความสัมพันธ์กับครูในโรงเรียนและคุณครูในละแวก เกิดเป็นรุ่นแรกที่ทำโครงการครูปล่อยของแบบออนไซต์ (On-site)”

     มิ้นท์ได้ชวนชุมชนครูในบริเวณโรงเรียนที่ตนสอน มาแลกเปลี่ยนกับกลุ่มครูจากเฟสบุ๊ค ‘ครูปล่อยของ’  ‘InsKru’ ‘เพจพลเรียน’ และเพจอื่นๆ โดยได้งบประมาณสนับสนุนจากทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

     “ครูที่มาร่วมรู้สึกว่าโครงการมีประโยชน์มากๆ เขานำสิ่งที่แลกเปลี่ยนกันกลับไปใช้ต่อในห้องเรียน ทุกวันนี้หากได้คุยกับครูที่เรารู้จักกันมานาน เขายังขอบคุณว่าโครงการนั้นได้ทำให้เขาเปลี่ยนเป็นครูที่กระตือรือร้น ขวนขวาย และอยากจะพัฒนานักเรียน”

    หลังจากนั้น ‘ครูปล่อยของ’ ได้รับการขยายผลต่ออีก

     “‘ครูปล่อยของ’ ถูกนำไปขยายผลต่อเยอะมาก ทั้งจัดโครงการตามต่างจังหวัด เช่น ที่เชียงใหม่ กลายเป็นชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) ของคุณครูที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน” 

     “‘ครูปล่อยของ’ ได้กลายเป็นชุมชนของคุณครูรุ่นใหม่ที่ดีมากๆ”

     หลังจบโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง มิ้นท์ทำงานต่อในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสรรหาและคัดเลือก (Talent Acquisition) กับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

     “เรามีบทบาทในการตามหาคนที่เหมาะกับการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ยิ่งเราหาคนแบบนี้ได้เยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนเด็กที่จะได้รับประโยชน์”

     “เราทำมาห้ารุ่น บางรุ่นเจอโควิด บางรุ่นเจอเด็กหลังยุคโควิดที่มีพฤติกรรมใหม่ เราหาคนที่เหมาะกับการเป็นครูผู้นำฯ ในแต่ละรุ่นและเชิญชวนให้เขาตัดสินใจมาเป็นครูผู้นำ พอคนเหล่านี้จบโครงการ ก็จะกลายเป็นศิษย์เก่า (Alumni) นั่นเองค่ะ”

     ปัจจุบัน มิ้นท์ทำงานกับโครงการร้อยพลังสร้างสังคมดี มูลนิธิเพื่อ “คนไทย”  ในตำแหน่งผู้จัดการงานสร้างความร่วมมือเพื่อระดมทรัพยากร (Partnership Manager) ด้านเด็กและเยาวชน โดยไม่ใช่เพียงเงินบริจาค แต่ยังรวมถึงความร่วมมืออื่นๆ เช่น รวบรวมบุคคลทั่วไปร่วมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยวิธีที่แต่ละคนถนัด เป็นต้น

     มิ้นท์เล่าถึงแรงบันดาลใจของการเข้าทำงานที่นี่ว่า “เราก็เริ่มมองหาโอกาสการขยับขยายทั้งในเนื้องาน และมุมมองใหม่ๆ ในการทำงาน รวมถึงอยากจะสร้างการเข้าถึงให้เด็กมากขึ้นกว่านี้”

     “มันเลยทำให้เรามีโอกาสมาทำงานกับตัวโครงการ ซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมเครื่องมือ (Tools) ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในแต่ละด้าน เข้ากับโรงเรียน โครงการนี้มองว่ามีปัจจัยแวดล้อมต่อการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาการศึกษาไทยเยอะมาก จึงแบ่งเครื่องมือการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นทั้งหมดสี่ด้าน คือ การให้ทุนเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษา, การพัฒนาคุณภาพการศึกษา, การพัฒนาทักษะชีวิตและคุณธรรมจริยธรรม, และด้านสุดท้ายคือโภชนาการ”

     จากการทำงานนี้ มิ้นท์พบว่าตัวเองเข้าถึงเด็กๆ ทั่วประเทศได้มากขึ้น

     “จากที่เราเข้าถึงนักเรียนใน 30 โรงเรียนต่อปี ในปีที่ผ่านมาร้อยพลังการศึกษาได้ทำงานกับร้อยกว่าโรงเรียน และเข้าถึงนักเรียนหลายหมื่นคน”

     ในตอนท้าย มิ้นท์ได้สะท้อนความรู้สึกต่อการครบรอบ 10 ปีของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เธอบอกว่า รู้สึกภูมิใจที่คนจากมูลนิธิฯ เข้าไปสร้างผลกระทบให้แก่วงการศึกษาอย่างหลากหลาย

     “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์เป็นองค์กรที่เติบโตมาเรื่อย ๆ เราภูมิใจที่ได้เห็นวิสัยทัศน์ที่น่าชื่นชมจากการดูโครงการต่างๆ ขององค์กร คนในองค์กรก็ยังมีแพชชั่น (Passion) ในการทำงานอยู่ แม้เจออุปสรรคมากมาย” 

     “คนขององค์กรนี้ ทั้งเจ้าหน้าที่ใหม่ เจ้าหน้าที่เก่า ศิษย์เก่าและ ครูผู้นำฯ จะมีดีเอ็นเอเดียวกัน”

     “อีกมุมหนึ่งที่รู้สึกภูมิใจ คือ เราเห็นศิษย์เก่าไปทำงานในองค์กรการศึกษาเยอะมาก  ไปที่ไหนก็เจอคนที่มาจากทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในมูลนิธิยุวพัฒน์เองก็เช่นกัน ทำให้รู้สึกว่า นอกเหนือจากอิมแพคที่เราต่อนักเรียนแล้ว เรายังสร้างบุคลากรให้แวดวงการศึกษาอีกด้วย”

     ปัจจุบัน ศิษย์เก่าจาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เดินหน้าขับเคลื่อนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเป็นความท้าทายและความภูมิใจของพวกเขาทุกคน  มิ้นท์เป็นคนหนึ่งที่เดินหน้าผลักดันการศึกษาไปข้างหน้า งานของเธอทั้งที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” ได้สะท้อนเจตนารมณ์ที่จะทำให้ในวันหนึ่ง เด็กๆ ในประเทศไทย จะได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม