“Class ชวนคุย” ทำความรู้จักนักเรียนในบริบทท้าทาย

“ความท้าทายของโรงเรียน คือความจำเป็นต่าง ๆ ของครอบครัวนักเรียน ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง” “ครูบี” นภัสสรร์ สวยสด ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 10 ของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ แบ่งปันเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปสอนในโรงเรียน “ที่นี่ นักเรียนหลายคนมีปัญหาจากทางบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการที่พ่อแม่แยกทางกัน ปัญหาความยากจน หรือแม้กระทั่งยาเสพติด ทำให้หลายคนขาดเรียนหรือออกจากระบบการศึกษาไป” ในฐานะ “ครูคนใหม่” ในโรงเรียนนี้ ครูบีมองว่าการชักชวนให้เด็ก ๆ ยังเห็นความสำคัญของการศึกษา คือสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก เธอจึงเลือกทุ่มเทเวลาในการเตรียมการสอนของตัวเอง เพื่อให้บทเรียนกระชับ นักเรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายและจัดสรรเวลาเพื่อออกแบบการสอนแนว “Class ชวนคุย”

     “Class ชวนคุย” มีจุดประสงค์เพื่อให้ครูได้ทำความรู้จักกับเด็ก ๆ ทั้งวิธีการคิด ที่มา และสาเหตุของพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นการลดระยะห่างระหว่างครูกับนักเรียน และด้วยความสม่ำเสมอของการทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้นักเรียนเริ่มไว้วางใจและสนิทกับครูบีมากขึ้น 

     “การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสสะท้อนความรู้สึกของตน จากที่ไม่เข้ามาพูดคุย หลายคนก็เปิดใจ เข้ามาปรึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตมากขึ้น ทั้งเรื่องที่บ้าน หรือแม้กระทั่งเส้นทางอนาคตของตนเอง”

     แม้ว่าบุคลิกของครูบีจะเป็นครูที่ใจดี แต่ในขณะเดียวกันความจริงจัง และ “เอาจริง” ของครูบี ก็ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักเรียนให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่วิชาที่ครูบีสอน แต่หมายถึงความรับผิดชอบต่อการเรียนในวิชาอื่น ๆ และเพื่อให้นักเรียนนำความรับผิดชอบติดตัวไปเมื่อเติบโตขึ้น 

     ครูบีมองว่า อีกหนึ่งเป้าหมายของการมาทำหน้าที่ในโรงเรียนนี้ คือการทำให้นักเรียนรู้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลให้พวกเขากำหนดอนาคตของตนเองได้

     “พวกเขาจะกลายเป็นบุคลากรที่สำคัญ เมื่อเราส่งพวกเขาไปใช้ชีวิตในสังคม”

     นี่คือความเชื่อมั่นของครูบีต่อนักเรียนของเธอ ซึ่งส่งผ่านออกมาจากการใส่ใจในความสัมพันธ์ และความรู้สึกของนักเรียนในแต่ละวัน ทำให้พวกเขามีความหวังและมีความคิดที่อยากจะพัฒนาตัวเอง ทุกความฝันและการเติบโตเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งไม่ควรถูกกรอบใดปิดกั้น

     ครูบีได้สะท้อนบทบาทของตนต่อนักเรียน ครอบครัวนักเรียน และการเรียนของพวกเขาว่า เธอเป็นเหมือน “ตัวเชื่อมต่อ” เพราะความใกล้ชิดและการเข้าถึงนักเรียนของครูบีทำให้เธอสามารถเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับกระบวนการช่วยเหลือที่จำเป็น โดยครูบีปรึกษาพูดคุยกับครูท่านอื่นอย่างสม่ำเสมอเพื่อดำเนินการอย่างรัดกุมและปลอดภัย

     “เราจะไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้เลย หากไม่มีการเชื่อมครูและนักเรียนเข้าด้วยกัน”

     ”การอยู่กับนักเรียนมากพอจนรับรู้ปัญหาและเชื่อมโยงไปถึงแนวทางการแก้ นี่คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมากกว่าครูที่ปรึกษา” ครูบีทิ้งท้าย

     “ครูบี” เป็นหนึ่งในครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง จากทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่เชื่อมั่นว่าเด็กทุกคน มีศักยภาพในการเติบโตได้ในแบบที่พวกเขาอยากเป็น

     ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ส่งเสริมให้บุคลากรคุณภาพของประเทศสามารถทุ่มเทกับงานที่ยากที่สุดนั่นคือการสอน คุณสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งการขับเคลื่อนการศึกษา ผ่านการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเช่นครูบี หรือบริจาคเพื่อสนับสนุน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศไทย