เข้าใจปัญหาโลก ให้นักเรียนวิพากษ์อย่างแหลมคม

“การเข้า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ทำให้เรามองปัญหาอย่างเป็นโครงสร้างมากขึ้น เข้าใจข้อจำกัดและรู้ว่าปัญหาแต่ละอย่างเหมือนโดมิโน่ที่ส่งผลกระทบถึงกัน เช่นเดียวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เราเลยต้องหาวิธีสื่อสารให้คนเข้าใจง่ายที่สุด และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

     ดีจัง ณิชากร บัวทรัพย์ ศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 5 เล่าถึงทักษะที่เธอได้รับจากการเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งเธอได้ใช้ในการทำงานตำแหน่งปัจจุบัน นั่นคือ นักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม (Content Editor) ของสำนักข่าวเพื่อสิ่งแวดล้อม “Environman”  อันที่จริงความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมของดีจังเริ่มตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และระหว่างปฏิบัติหน้าที่ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เธอก็ได้นำข้อมูลเหล่านี้สอดแทรกในบทเรียนที่สอนด้วย

     “อย่างเช่น เราจะสอนเรื่อง รูปประโยค (Tense) ในภาษาอังกฤษ เราก็นำรูปหมีขั้วโลกมาใส่ ให้ช่วงเวลาปัจจุบันแทนด้วยภาพหมีที่ตัวอ้วนๆ แต่ช่วงเวลาอนาคตแทนด้วยภาพหมีที่ซูบผอม  นักเรียนได้เรียนไวยากรณ์ไปแล้วก็จะมาถามว่า ทำไมหมีผอมแบบนั้น เกิดอะไรขึ้นกับหมี เราก็ใช้โอกาสตรงนี้อธิบายปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมให้นักเรียนฟัง”

     “การรับรู้เรื่องรอบตัวเหล่านี้จะทำให้นักเรียนรู้ว่าโลกนี้มันกว้างใหญ่  อยากให้นักเรียนเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) รู้จักปัญหา และเชื่อมโยงสิ่งรอบตัวเข้ากับตัวเขาเอง”

     นอกจากกิจกรรมในห้องเรียนแล้ว ดีจังได้พานักเรียนไปทัศนศึกษา เพื่อให้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์จริง

     “เราอยากให้นักเรียนรู้เรื่องการแยกขยะ ทั้งต้นทางและปลายทางของขยะ เราจึงชวนเพื่อนที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์มาทำกิจกรรมร่วมกัน ไปเยี่ยมโรงขยะ โรงงานบำบัดน้ำเสีย และไปดูปลายทางที่ปากน้ำโพซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่ขยะจะมาถึง ถ้าไม่แยกขยะดี ๆ ขยะก็จะมากองรวมกัน หลุดลอยมาที่จุดนี้”

     ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกิจกรรมชวนนักเรียนรีไซเคิลของเหลือใช้ เพื่อให้การทรัพยากรมาเกิดประโยชน์สูงสุด

     “ก่อนจบจากโครงการครูผู้นำ ฯ เราให้คนบริจาคเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว ให้เด็ก ๆ เย็บเป็นถุงผ้า เอาไปใช้ต่ออีก”

     สำหรับดีจังแล้ว ทุกวิชาสามารถเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือประเด็นสังคมอื่น ๆ ได้

     “ทุกวิชาสามารถสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมได้หมดเลย การทำแบบนี้เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็ก ๆ  ทำให้เห็นว่าโลกมีปัญหาแบบนี้  พวกเขาก็จะคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ได้มากขึ้น”

     หลังจบโครงการครูผู้นำ ฯ ดีจังยังคงสร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องผ่านงานของเธอ จากที่เคยสื่อสารกับนักเรียนในห้อง ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายของดีจังกว้างขวางไปกว่าเดิม

     “เราอยากสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) เกี่ยวกับปัญหานี้ให้คนทั่วไป เป็นตัวกลางเชื่อมโยงคนเข้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อม”

     ก่อนจบการสัมภาษณ์ เราได้ให้ดีจังทิ้งท้ายเกี่ยวกับโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่ซึ่งเธอได้เรียนรู้ทักษะมากมาย

     “งานนี้ทำให้เรารู้จักโลกมากขึ้น ได้ทักษะชีวิต และความเข้าใจปัญหาเชิงลึก  ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรหลังจากนี้เราจะใจเย็นได้ เพราะได้ผ่านความท้าทายมาก ๆ มาแล้ว”

     “สองปีใน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นสองปีที่คุ้มค่าและช่วยพัฒนาความแข็งแกร่งของเรา และสำหรับคนที่อยากทำงานด้านการศึกษาต่อ ก็จะได้พื้นฐานความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับงานด้านนี้แน่นอน”

     หลังจบโครงการครูผู้นำ ฯ ศิษย์เก่าของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์หลายคนได้ต่อยอดแนวคิดเรื่องการแก้ปัญหาและการพัฒนา สู่สายงานการศึกษา และสายงานอื่น ๆ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์เชื่อในทุกความเป็นไปได้ และเชื่อมั่นในพลังของบุคลากร ซึ่งมีจุดหมายร่วมในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไทยมาตลอดระยะเวลา 10 ปี  การเปลี่ยนแปลงอาจเริ่มต้นจากคนหนึ่งคน แต่เมื่อมีการสานต่อเครือข่ายและความร่วมมือ ก็สามารถขยายวงให้กว้างออกไปอย่างยั่งยืนได้