สร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง

ระหว่าง “กิจกรรมสร้างวิสัยทัศน์ร่วม” ที่โรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคม ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 สมาชิกชุมชนห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ได้สะท้อนและแสดงความเห็นถึงอนาคตทางการศึกษาในชุมชนของตนเอง เวทีนี้เป็นเวทีที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จัดขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และออกแบบการศึกษาคุณภาพตามที่พวกเขาใฝ่ฝัน

     “ผมว่ากิจกรรมนี้เห็นผลชัดเจน ให้ประโยชน์กับลูก  เทอมก่อนเขาเรียนได้เกรดเฉลี่ย 2.5 พอประชุม แล้วมีความเห็นว่าอยากคืนครูสู่ห้องเรียน เกรดเพิ่มขึ้นเป็น 2.9  คุณครูน่าจะได้ให้ความสนใจกับเด็กมากขึ้น”

     คุณอุเทน อาจคงหาญ ประธานเครือข่ายผู้ปกครอง เล่าถึงเวทีสร้างวิสัยทัศน์ร่วม ที่จัดขึ้นที่โรงเรียน

     “สภาพแวดล้อมของโรงเรียนก็ดีขึ้น เช่น ขยะหน้าโรงเรียนก็หายไป”

     คุณรัตนประภา กล่อมดี นักเรียนและสมาชิกสภานักเรียน เล่าไว้ในทางเดียวกันว่า

     “เวทีนี้เป็นเวทีที่ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด มีหลายปัญหาที่ทุกคนเสนอมา เช่น ปัญหาเรื่องขยะ ปัญหาเรื่องคุณครูไม่เข้าสอนเพราะงานเยอะ”

     “อย่างเรื่องขยะ พอมีการชี้ให้เห็นปัญหา สภานักเรียนก็เข้ามารับผิดชอบ จนตอนนี้ไม่มีขยะอีกแล้ว” คุณรัตนประภาเล่า “หนูรู้สึกภูมิใจมาก ที่ผู้ใหญ่สนใจความคิดเห็นของหนู และเห็นหลายภาคส่วนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และสามัคคีกันมากขึ้นค่ะ”

     ว่าที่ร้อยตรีกมล นิลโรจน์ ครูโรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคม ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเวทีดังกล่าวว่า

     “ทำให้ได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เกิดประโยชน์แบบองค์รวม และกลายเป็นวิสัยทัศน์ของโรงเรียน”

     “หลังเข้าร่วมกระบวนการแล้วมาดำเนินวิสัยทัศน์ต่อ ก็ถือว่ามีความก้าวหน้า จากเดิมก้าวหน้าอยู่ประมาณ 70-80% พอชี้เป้าไปที่เดียวกัน ก็มาที่ 90%” คุณกมลกล่าว 

     “ขอชื่นชม ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่ร่วมจัดเวที เป็นผู้ประสานงานให้แต่ละฝ่ายมีส่วนร่วมกันอย่างแท้จริง โดยหากิจกรรม คำถาม สะท้อนความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย และหาจุดที่ลงตัวที่สุด”

     ผู้อำนวยการภัทรนันท์ เพิ่มพูน ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคม ได้แบ่งปันว่า

     “หลังจากการร่วมประชุมครั้งนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง มีความพยายามไม่ให้ครูออกนอกห้องเรียน ออกไปจากเด็ก และปรับปรุงภูมิทัศน์ของโรงเรียน เช่น การติดพัดลม การวางแผนสร้างรั้ว”

     “กิจกรรมนี้ทำให้ครู ผอ. และฝ่ายบริหารรู้ว่าแต่ละฝ่ายมีความคาดหวังอย่างไร มีเวลาคุยกัน เชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน และชอบที่ให้ครูได้เข้ามามีส่วนร่วม  ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ด้วยค่ะ”

     “เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ อยากพัฒนานักเรียนให้ถึงศักยภาพสูงสุด ทางโรงเรียนก็ได้แรงบันดาลใจและแนวคิดใหม่ ๆ จากมูลนิธิ ฯ เช่นกัน”

     การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม หรือ Collective Vision เป็นสิ่งที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ให้ความสำคัญ เพราะโรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนที่ ๆ เด็ก ๆ เติบโต การให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดอนาคตทางการศึกษา จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อที่วันหนึ่ง เด็ก ๆ ในทุกชุมชนจะได้รับการศึกษาที่เสมอภาคอย่างเท่าเทียม