ส่งต่อความฝัน

แม้ครูเท็น-ศิริลักษณ์ สุทธิช่วย ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 7 จะก้าวขาออกมาจากโรงเรียนชิตใจชื่นได้เกือบสองปีแล้ว แต่เธอยังอยู่ในความทรงจำของนักเรียนของเธอตลอดมา โดยเฉพาะ ข้าวกล้อง เด็กชายผู้ใฝ่อยากเป็นนักมายากล และได้รับแรงบันดาลใจจากครูเท็นจนกล้ากลับมาเล่นมายากลอีกครั้งหลังจากยกเลิกความตั้งใจเพราะโดนเพื่อนล้อ

     เมื่อครูสนุ๊ก-พีรกานต์ ประสิทธินาวา ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 9 ไปรับช่วงต่อจากครูเท็นและเห็นถึงความตั้งใจของข้าวกล้องที่อยากฝึกฝนภาษาอังกฤษเพื่อสานฝันการเป็นนักมายากลที่ได้เดินทางไปแสดงรอบโลก สนุ๊กจึงไม่รอช้าที่จะสร้างโอกาสให้กับนักเรียนของเธอ เธอเริ่มตั้งแต่หาเวทีการแสดงต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับข้าวกล้อง ให้คำปรึกษาเพื่อให้ข้าวกล้องกล้าไปพูดคุยกับผู้ปกครองจนพ่อแม่เกิดความเข้าใจและสนับสนุนความฝันของเขา รวมไปถึงการรวมกลุ่มกับนักเรียนอีก 5 คนที่มีความฝันแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์ กีฬา หรือร้องเพลง เพื่อสมัครเข้าร่วมแสดงความสามารถพิเศษในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของมูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

     สนุ๊กเลือกใช้การแสดงเล็ก ๆ นี้เป็นเครื่องมือนอกห้องเรียนเพื่อผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนของเธอมีความกล้าที่จะค้นหาและทำตามความฝันของตัวเอง “จริง ๆ แล้วเด็กทุกคนมีความฝันนะ ต่อให้เป็นเด็กต่างด้าว ต่อให้เป็นเด็กที่ไม่ได้เงินมาก มีเด็กที่มีความฝันสูงมากแต่ว่าพ่อแม่ไม่ได้สนับสนุน เลยอยากให้เขาใช้เวทีนี้เป็นโอกาสให้เขาได้ส่งเสียงออกมา หากพ่อแม่ได้มาดูคลิปวีดีโอ พ่อแม่เขาอาจจะเห็นความสำคัญของความฝันของนักเรียนมากขึ้นก็ได้” สนุ๊กเล่าด้วยความหวัง

     “จะตั้งใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะอยากเรียนจบออกมาแล้วไปสมัครเป็นครูผู้นำฯ เพื่อสอนวิชาวิทยาศาสตร์” หนึ่งในนักเรียนของเธอตกตะกอนความคิดได้ก่อนวันแสดงจริง ซึ่งทำให้สนุ๊กได้เห็นอย่างชัดเจนว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้ช่วยแค่ให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ หรือสร้างแรงบันดาลใจในการตามหาตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่กลับได้สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างมูลนิธิฯ และตัวนักเรียนเองด้วย 

     “อยากให้นักเรียนทุกคนได้รับการศึกษาโดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนยากจน หรือว่าคนต่างด้าว ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย” เป็นคำตอบของหนึ่งในนักเรียนของเธอที่ให้แก่พิธีกรบนเวทีหลังการแสดง คำตอบนี้ตอกย้ำว่ากิจกรรมเล็ก ๆ นี้ได้เปลี่ยนแปลงนักเรียนของสนุ๊กไปตลอดกาล “สนุ๊กไม่ได้คิดฝันเลยว่าเขาจะพูดประโยคนี้ออกมาตอนให้สัมภาษณ์บนเวที … คำพูดนี้ทำให้สนุ๊กได้รู้ว่าเขาได้แนวคิดนี้มาจากได้เรียนรู้วิสัยทัศน์ของมูลนิธิฯ แล้วมันหล่อหลอมเขามา”

     แต่ไม่ใช่เพียงนักเรียนเท่านั้นที่ได้อะไรมากมายติดตัวกลับบ้านไป เพราะสนุ๊กเองก็ได้เติบโตในระยะเวลาอันสั้นนี้ไม่น้อยไปกว่าเด็ก ๆ ของเธอ “สนุ๊กไม่เคยทำการแสดงที่มันคล้าย ๆ ละครเวทีมาก่อน ไม่เคยตัดต่อเสียง ไม่เคยเป็นครูที่สอนการแสดงนักเรียน ซึ่งมันมากกว่าแค่บอกบท แต่มันต้องทำให้นักเรียนเข้าใจอารมณ์ของเด็กด้อยโอกาสที่มีความฝันจริง ๆ เรื่องร้องเพลงก็อีก สนุ๊กก็ไม่เคยสอนร้องเพลง ก็ต้องมาศึกษาเรื่องคีย์ต่าง ๆ”

     “แต่นอกจากเรื่องทักษะก็มีเรื่องใจของสนุ๊กเองด้วยค่ะ ช่วงนั้นก็งานเยอะมาก ต้องบริหารเวลาให้ได้ ทั้งกิจกรรมของโรงเรียน แถมประสบอุบัติเหตุจนเท้าหักด้วย ตอนแรกยังจัดการอะไรไม่ได้เลย รู้สึกท้อไปหมด แต่ก็ต้องสู้เพราะว่าเราจะมาทิ้งเด็กกลางคันไม่ได้ ต้องเป็นที่พึ่งให้นักเรียนให้ได้ ต่อให้ตอนนั้นเราจะยังไม่พร้อมก็ตาม”

     แต่ที่สำคัญเหนือทักษะอื่นใดคือบทเรียนที่ว่า “จริง ๆ การเป็นครูมันไม่ใช่แค่การสอนนักเรียนในห้องเรียน การจะเป็นครูต้องรู้จักไปถึงตัวตนของนักเรียนจริง ๆ หรือต่อให้นักเรียนยังไม่รู้จักตัวตนของเขาเอง เราก็ต้องพยายามช่วยให้เขารู้จักตัวเองให้ได้ ตอนแรกเราเข้าใจว่าเราพยายามตั้งใจสอนให้ดีที่สุด มีความสนิทสนมกับเด็กก็คงเพียงพอ แต่มุมมองความสนิทมันเปลี่ยนไป ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าถ้าเราเข้าใจตัวตนของเด็กจริง ๆ เพราะจะพบว่าเด็กทุกคนมีความฝัน และมีความคิดที่ดี เขาแค่ไม่เคยได้พูดออกมา ไม่เคยได้ส่งเสียงออกมา ไม่เคยได้มีใครรับฟัง เท่านั้นเอง”

ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเด็ก ๆ ไปกับเรา สมัครโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ ที่นี่ https://tft-fellowship.org/