10 ปีที่ได้เติมเต็มการศึกษา อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

จบไปแล้วสำหรับงาน “10 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่รวมผู้เกี่ยวข้องในทุก ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นปัจจุบัน ศิษย์เก่า ผู้บริจาค ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลอื่น ๆ ที่เดินทางมากับเรา แม้ 10 ปีที่ผ่านมาจะมีความท้าทายมากมาย แต่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ยังคงเดินหน้าต่อด้วยแรงใจจากทุกท่าน

     ความประทับใจในงานเกิดขึ้นจากทุก ๆ คนที่มารวมกัน รับชมการแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจจากนักเรียน โรงเรียนชิตใจชื่น จ. ปราจีนบุรี กำกับการแสดงโดย ครูสนุ๊ก พีรกานต์ ประสิทธินาวา ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 ฟังสุนทรพจน์ของคุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการ มูลนิธิยุวพัฒน์ ที่กล่าวถึงการเชื่อมโยงความฝัน ความหวัง และโอกาส  รวมไปถึงการพูดคุยระหว่างคุณสรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 1 กับ ดร. กาญจน์วรินทร์ ผลอนันต์ คนไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วม ทีช ฟอร์ อเมริกา นอกจากนั้นยังมีสุนทรพจน์จากคุณยุทธกฤต เฉลิมไทย ประธานบอร์ดศิษย์เก่า และจากคุณวิชิตพล ผลโภค ผู้บริหาร ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ปิดจบงานด้วยความประทับใจจากบทเพลงของคุณนภ พรชำนิ

     นี่คือภาพของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของเรา ที่ทุกฝ่ายร่วมสาน และร่วมสร้างมาด้วยกัน

     อดีตของเรา: “การถูกปฏิเสธที่ไม่เคยทำให้ยอมแพ้”

     อาจกล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คือการถูกปฏิเสธ นับตั้งแต่ ตะ วิชิตพล ผลโภค ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเรียนอยู่ที่อเมริกา และอยากทำงานร่วมกับ Teach For America หลังเรียนจบ แต่ด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง ทำให้ไม่สามารถสมัครเข้าร่วมองค์กรได้ ด้วยความเชื่อในศักยภาพของคน เขาจึงเกิดความคิดริเริ่มอยากสร้างองค์กรเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษา จนกลายเป็น ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ อย่างในทุกวันนี้

     ในส่วนของกลุ่มคนผู้อยู่เบื้องหลัง ก็ต้องเจอกับความท้าทายมากมาย ครั้งแรกที่ รศ. ลัดดา ภู่เกียรติ นำโครงการไปเสนอกับนักลงทุน ก็ต้องเจอคำถามกลับมาว่า “การันตีได้ไหมว่าภายใน 1 ปี ครูและโรงเรียนในกรุงเทพจะเปลี่ยน” แม้ รศ. ลัดดาจะตอบกลับไปว่า ความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดได้อย่างรวดเร็วทันใจ แต่คำถามนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เผชิญมาตั้งแต่ในระยะก่อตั้ง  อาจเป็นอย่างที่ เพชร พิชญุตม์ จิรภิญโญ อดีตหัวหน้าฝ่าย Talent Acquisition กล่าวไว้ ว่า  “ในปี 2013 มีคนบอกไว้ว่าองค์กรเราตั้งที่ไทยไม่ได้หรอก…เด็กจบใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำขนาดนั้น เงินเดือนสูงขนาดนั้น ไม่มีใครมาทำตำแหน่งแบบนี้” และการเดินเข้าไปคุยกับคน 50 คน มักจะโดนปฏิเสธมา 40 คน แต่การปฏิเสธเหล่านั้นกลับไม่เคยทำให้เรายอมแพ้เลย

     เราเชื่อในความเป็นไปได้ ศักยภาพของคน และเครื่องมือ และเราใช้สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้องค์กรเดินหน้ามาตลอด 

     ปัจจุบัน: “องค์กรบ่มเพาะนักเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา”

     ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกับ 106 โรงเรียนทั่วประเทศ จากกว่า 21 จังหวัด และครูผู้นำฯ ของเราได้สอนนักเรียนไปแล้วกว่า 120,000 คน  อาจกล่าวได้ว่า เราได้ขยายผลกระทบของเราจากภายในห้องเรียน ไปสู่ชุมชน และที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบของการศึกษาไทยได้จริง ๆ ศิษย์เก่าของเราเกินกว่า 50% ยังคงทำงานต่อในระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแวดวงนโยบายการศึกษา นวัตกรรมทางการศึกษา และผู้นำในโรงเรียน

     อาจเป็นอย่างที่ ส้ม อมรรัตน์ สีหะปัญญา ศิษย์เก่ารุ่นที่ 1 ซึ่งเลือกเป็นครูในระบบการศึกษาต่อ บอกไว้ ว่า  “มันเป็นเรื่องยากมากกับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ แม้จะเป็นระบบที่เล็กที่สุดที่เรากำลังอยู่ก็ตาม…เราคงต้องดูตัวเองในฐานะคนที่อยู่หน้างาน คงต้องจับสักเรื่องในการเปลี่ยน สุดท้ายต้องมีแนวร่วม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ที่จะเปลี่ยนไปด้วยกัน”

     ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ยังคงเป็นศูนย์รวมและเครือข่ายของคนที่มีใจอยากพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือข่ายศิษย์เก่าของเราที่มีสมาชิกอยู่ทั้งสิ้น 294 คน ยังคงประสานงานกันและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงมีเพื่อนร่วมทางอยู่เสมอ ศิษย์เก่าหลายคนได้ก่อตั้งองค์กรด้านการศึกษาของตนเองต่อ เช่น ยีราฟ สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ศิษย์เก่ารุ่นที่ 1 ได้ก่อตั้งมูลนิธิ “โรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School)” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นอกโรงเรียน

อนาคตของเรา: “สานต่ออนาคตเด็กไทย เพื่อให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นจริง”

     ถ้าถามว่า “เติมเต็มการศึกษา สานต่ออนาคต” มีความหมายว่าอย่างไร อาจสรุปได้ในคำพูดของ โค้ก  เทอดศักดิ์ ขจรบุญ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 ซึ่งบอกว่า

     “เติมเต็ม คือ เติมเต็มในศักยภาพที่เรามี ถ้าเรามีอะไรเราก็ทำในส่วนหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ ซึ่งผมเชื่อว่า ถึงจะเหมือนเราเป็นคนเดียวแต่มันเป็นการสานต่อจุดเล็กๆ ที่ทำให้ภาพใหญ่มันเต็ม”

     “ผมรู้สึกภูมิใจและอยากเก่งในเรื่องที่เราสนใจ และกลับมาทำให้องค์กรและครูผู้นำเก่งกว่านี้ ทำให้คนรู้ว่าองค์กรเรามีคนที่มีศักยภาพ และสามารถสร้างทักษะบางอย่างที่คนอื่นทำไม่ได้…ผมรู้สึกว่าองค์กรเรากล้าคิด กล้าฝัน และเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่ภูมิใจ”

     เปอร์ ปัณฑ์ฎาริณ ศรีจันทร์ ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 2 เสริมว่า “เติมเต็มการศึกษา อาจจะหมายถึง ทำให้เห็นความหมายของการศึกษา ว่าการศึกษามีความหมายกับชีวิตยังไง เพื่อที่จะนำการศึกษาไปต่อยอดอนาคต เพื่อที่เด็กๆจะได้มีทางเลือกมากขึ้นในอนาคตค่ะ”

     เรายังคงมองไปในอนาคตอยู่เสมอ และมุ่งมั่นว่า ในปี ค.ศ. 2026 เราจะคัดสรรครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเข้ามาร่วมกับเราได้ 300 คน และเข้าถึงนักเรียน 250,000 คน 175 โรงเรียน

     เป้าหมายนี้จะเป็นจริงได้ ด้วยการร่วมแรง และความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกคน ขอบคุณที่เชื่อในพันธกิจของเรามาเป็นเวลากว่า 10 ปี และขอบคุณที่พร้อมจะเดินทางต่อไปด้วยกัน เพื่อให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นได้จริง