ศิลปินในร่างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เนื่องจากแพรว-วรัทยา ไชยศิลป์โตมากับคุณแม่ที่ทำงานด้านการพัฒนาเยาวชน แพรวจึงคุ้นเคยกับการเห็นเด็กที่อยู่ในสภาวะที่ท้าทายในรูปแบบต่างๆมากมาย แต่เมื่อได้มีโอกาสเป็นครูสอนพิเศษสอนในช่วงเวลาสั้นๆหลังเรียนจบ แพรวกลับพบว่าเด็กนักเรียนของแพรวนั้นมาจากครอบครัวที่มีฐานะ และมีชีวิตที่แตกต่างจากเด็กๆที่คุณแม่ทำงานด้วยอย่างสิ้นเชิง “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” จึงเป็นสิ่งค้างคาอยู่ในใจแพรว จนวันหนึ่งที่แพรวบังเอิญได้มารู้จักกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงผ่านทาง Facebook แพรวจึงตัดสินใจลองดูสักตั้ง

จุดเริ่มต้นของศิลปินนักพัฒนา

เนื่องจากแพรว-วรัทยา ไชยศิลป์โตมากับคุณแม่ที่ทำงานด้านการพัฒนาเยาวชน แพรวจึงคุ้นเคยกับการเห็นเด็กที่อยู่ในสภาวะที่ท้าทายในรูปแบบต่างๆมากมาย แต่เมื่อได้มีโอกาสเป็นครูสอนพิเศษสอนในช่วงเวลาสั้นๆหลังเรียนจบ แพรวกลับพบว่าเด็กนักเรียนของแพรวนั้นมาจากครอบครัวที่มีฐานะ และมีชีวิตที่แตกต่างจากเด็กๆที่คุณแม่ทำงานด้วยอย่างสิ้นเชิง 

“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” จึงเป็นสิ่งค้างคาอยู่ในใจแพรว จนวันหนึ่งที่แพรวบังเอิญได้มารู้จักกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงผ่านทาง Facebook แพรวจึงตัดสินใจลองดูสักตั้ง 

 แม้จบจากวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันเด็กอาร์ทที่ชื่อแพรวกลับเป็นคุณครูสอนวิชาภาษาอังกฤษขวัญใจของนักเรียน ม.3 ณ โรงเรียนเวียงเชียงรุ้งวิทยาคม จังหวัดเชียงราย

แพรวเล่าว่าความรู้ทางด้านศิลปะที่ได้เรียนมานั้นมีประโยชน์มากมายกับบทบาทครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง “จริงๆวิชาศิลปะเป็นสาขาวิชาที่ต้องคิดเยอะ พูดเยอะ ต้องคอยวิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึกหลายๆอย่าง ทำงานก็ต้องเป็นผู้วิจารณ์และถูกวิจารณ์มาอย่างหนักหน่วง ทักษะเหล่านี้ เอามาใช้กับงานครูได้หมดเลย เพราะเป็นครูก็ต้องพูด ต้องสื่อสาร อาร์ทก็เป็นรูปแบบนึงของการสื่อสาร มันเอามาปรับใช้ได้จริง”

การเป็นศิลปินของแพรวยังเอื้อประโยชน์ให้แพรวสามารถช่วยงานโรงเรียน พร้อมสานความสัมพันธ์กับนักเรียนได้ในหลากหลายรูปแบบ “เราสามารถดึงเด็กๆมาช่วยกันทำงานต่าง เช่น เพ้นท์กำแพง หรือพอมีงานอาร์ทต่างๆ เด็กก็มาหาเรา”

ความฝันที่อยากจะเห็นเด็กมีความฝัน

แม้จะปฏิบัติหน้าที่มาได้เพียง 1 เทอม แต่แพรววางเป้าหมายไว้แล้วว่าในวันที่แพรวเดินออกจากโรงเรียนไปนั้น แพรวอยากเห็น “เด็กมั่นใจที่จะมีความฝัน โดยมีสังคมและผู้ปกครองที่มองมาที่เด็กเหล่านี้แล้วก็มั่นใจในตัวลูกหลานของตัวเองด้วยว่า เค้าทำได้ … ว่ามันดีกว่านี้ได้” แต่แพรวเองก็รู้ดีกว่า มันมีความลึกลับซับซ้อนเพราะมันไม่ใช่แค่เด็ก แต่มีทั้งผู้ปกครอง ทั้งชุมชน แพรวจึงจะขอเริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองทำได้ก่อน โดยแพรวกำลังมองหาโอกาสเล็กๆน้อยๆที่จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจ เช่น อยากจะดันเด็กหน้าใหม่เข้าประกวดแข่งขันต่างๆ “มันต้องมีคนเก่งซ่อนอยู่ดิวะ ไม่เก่งเดี๋ยวฝึกให้ก็ได้วะ” 

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเรียนหลายๆคนจะประทับใจในตัวแพรว “ครูรู้รึป่าวว่า เรียนกับครูอ่ะ แล้วหนูรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเก่ง” นักเรียนคนนึงบอกเธอก่อนเดินออกจากห้องเรียน ซึ่งแม้จะเป็น moment เล็กๆ แต่แพรวเล่าอย่างภาคภูมิใจ เพราะมันช่วยต่อลมหายใจให้แพรวมีแรงที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อความฝันของนักเรียนของเธอในทุกๆวัน

ประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนรู้ เติบโต พร้อมทำความรู้จักกับตัวเอง

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และแพรวได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองในหลากหลายแง่มุม จากการที่ต้องจัดการห้องเรียนที่มีสถานการณ์ไม่ซ้ำกัน และไม่คาดคิดในแต่ละวัน แพรวได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว จากการที่นักเรียนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เข้าใจในบทเรียน แพรวได้เรียนรู้ที่จะกลับมานั่งสะท้อน วิเคราะห์ พัฒนาตัวเองตลอดเวลา แต่ที่สำคัญคือแพรวได้เรียนรู้ที่จะกล้าก้าวขาออกจาก Safe Zone ของตัวเอง “ตอนแรกกลัวมากที่จะมาเป็นครู ตอนสมัครก็อิน แต่พอต้องมาจริงๆก็มีอาการกลัวและกังวลอยู่มากเหมือนกัน แต่เราก็จะไม่ค้นพบเลยว่าเราทำได้ถ้าเราหนีไปตั้งแต่แรก เพราะพอได้มาลอง ก็ปรากฏว่ามันทำได้นี่หว่า”

อีกสิ่งสำคัญที่แพรวได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองจากการเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้น คือความมั่นใจว่าอย่างไรชีวิตนี้แพรวก็อยากจะทำงานเพื่อพัฒนาเยาวชนไทย “ดีใจที่เอาตัวเองเข้ามาอยู่ที่นี่ เราเหมือนได้มาเรียน มารู้ มาเห็น ว่าสถานการณ์จริงๆมันเป็นยังไง แล้วเราหวังจะเอาประสบการณ์ 2 ปีนี้ มาพัฒนาเด็กต่อไป ในบทบาทอะไรคงยังตอบไม่ได้ในตอนนี้ แต่อยากจะเอาความรู้ทางด้านศิลปะที่ได้เรียนมาปรับใช้ร่วมกับทักษะที่ได้จากโครงการ”

จากใจรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง

ในฐานะครูผู้นำฯรุ่น 9 แพรวฝากถึงผู้ที่กำลังลังเลในการสมัครโครงการว่าอาชีพครูนั้น ไม่ใช่อาชีพที่ sexy แต่การเข้าร่วมโครงการนี้ เปิดโอกาสให้ได้ลองทำงานที่มีความหมายกับคนอื่น แต่ก็สามารถดูแลตัวเองในช่วงวัยนี้ไปพร้อมๆกันได้ “เงินเดือนที่ได้จากโครงการก็สามารถอยู่ได้ สามารถทำงานไปได้ด้วย แล้วมันก็ตอบสนองใจเราด้วย”


ส่วนในฐานะรุ่นพี่ที่คณะวิจิตรศิลป์ มช. นั้น แพรวฝากไว้ว่า “คนที่จบจากคณะนี้ไม่ได้มีอาชีพรองรับตายตัว เราถูกฝึกมาเพื่อเป็นศิลปิน แต่เราก็ได้ทักษะที่เอาไปปรับใช้ได้หลากหลาย เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวหรือรู้สึกไม่ดีที่จบอาร์ทแล้วไม่ได้อาร์ทิส เราเอาทักษะที่เรียนมาปรับใช้ และไปบวกกับทักษะอื่นๆดู แล้วจะค้นพบอะไรใหม่ๆที่มากกว่าการอยู่ใน Safe Zone”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org