ขยายเส้นขอบฟ้าของการเรียนรู้ สู่อนาคตที่กำหนดได้

“หลังจากเข้าไปคุยกับเพื่อนต่างชาติในแชท นักเรียนเริ่มเปิดใจและพยายาม เขาบอกว่าเพื่อนๆดูคุยกันสนุกมากเลย และบางคนก็เริ่มพูดว่าภาษาไม่ใช่กำแพง เขาได้มองภาษาในมุมใหม่ สร้างเพื่อนใหม่ สังคมใหม่”

ครูเดีย - ธีรนันท์ ธีรเสนี ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่น 8 ได้สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรีมา 1 ปีกว่า ในวันที่เธอใกล้จะจบจากการทำหน้าที่สอนในโรงเรียน 2 ปี เธอนึกย้อนไป และแบ่งปันคำจำกัดความประสบการณ์ใน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ไว้ด้วยประโยคสั้นๆ

     “ถ้าจะจำกัดความประสบการณ์ที่นี่ด้วยประโยคเดียว ประโยคนั้นคือ Once in a Lifetime มันเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก และคงทำได้แค่ครั้งเดียว  ให้ทำครั้งที่สองคงไม่ได้อีกแล้ว  เดียชื่นชมครูทุกคนที่อยู่ในระบบมากๆ”

     เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมี ครูเดียได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม ในชื่อ Classroom Exchange Initiative ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่ทาง Teach For All ส่งข่าวให้แก่เครือข่ายครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในประเทศต่างๆ

     “เดียได้ไปอยู่ในรายชื่ออีเมลของ Teach For All เขาส่งข่าวให้ครูผู้นำจากประเทศต่างๆที่อยากเข้าไปทำกิจกรรมด้วยไปสมัคร ก็ต้องบอกเป้าหมาย ผลลัพธ์ที่อยากทำให้เกิด”

     “ตอนนั้นเราเขียนผลลัพธ์ไปว่า อยากให้นักเรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษ ในชีวิตจริง และปลูกฝังความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) การรู้จักเพื่อนต่างชาติอาจเป็นจุดเริ่มต้น”

     เอ็ม ธนิต แคล้วโยธา  ผู้จัดการภูมิภาคสัมพันธ์ ภาคเหนือ ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Teach For All ไว้ว่า

     “Teach For All เป็นเหมือนเครือข่ายที่คอยเชื่อมโยง Teach For ของประเทศต่างๆไว้ด้วยกัน วิสัยทัศน์คือ เพื่อพัฒนาให้เด็กๆ ในโลกมีการศึกษาที่มีคุณภาพ ผ่านการสร้างเครือข่ายผู้นำ (Leader Network) และเครือข่ายความรู้ (Knowledge Partnership Network)​ ที่ช่วยให้ Teach For แต่ละประเทศทำงานได้ง่าย”

     “กิจกรรมของ Teach For All ก็จะเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากประเทศต่างๆ เป็นแหล่งรวมโอกาส การเติบโต ความเปลี่ยนแปลง คือ ทำยังไงให้การเปลี่ยนแปลงนั้นไว แข็งแรง และถูกต้อง ในเครือข่ายของ Teach For ทั้งหลาย”

     โครงการ Classroom Exchange Initiative ที่ครูเดียได้เข้าไปร่วม เป็นโครงการที่ Teach For All ได้ประสานงานให้จัดร่วมกับโรงเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยที่โรงเรียนนั้นมีศิษย์เก่าจาก Teach For Philippines ไปสอนอยู่

     “ลักษณะกิจกรรมเป็นการเขียนจดหมายแลกเปลี่ยนกัน 2 ครั้ง” ครูเดียเล่า “และมีการวีดีโอคอลกันออนไลน์อีก 1 ครั้ง รวมทั้งแลกเปลี่ยนช่องทางติดต่อกัน คุยกันต่อใน WhatsApp ทั้งหมดทำโดยใช้ภาษาอังกฤษ”

     เมื่อถามถึงความท้าทาย ครูเดียถึงกับยิ้มออกมาและเล่าถึงสิ่งเหล่านั้นด้วยความรู้สึกสนุก

     “ความท้าทายอย่างแรกเลยคือ เดียอยากชวนเด็ก ม.ปลาย ตั้งแต่ ม.4 ขึ้นไป แต่เดียสอนแต่ ม. 3 ไม่ได้สอน ม. ปลาย พอฝากครูคนอื่นๆให้ประชาสัมพันธ์ให้เด็ก ม.ปลายมาร่วม ก็ไม่มีเด็กมา”

     “สำหรับเด็ก ม.ต้น มีคนสนใจกิจกรรม แต่ด้วยความที่วัยยังค่อนข้างเด็ก ก็เลยเป็นความท้าทาย เราต้องทำยังไงให้เขากล้าลอง กล้าคุย กล้าเขียนจดหมาย เพราะปัญหาคือเขาไม่กล้า”

     เมื่อถามวิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ครูเดียแบ่งปันวิธีการแก้ปัญหาออกเป็น 2 ช่วง

     “จดหมายมีสองฉบับ ฉบับแรกเขายังไม่รู้ว่าจะเขียนยังไง เราก็ขึ้นกระดาน เขียนตัวอย่างให้เขาเลย  ซึ่งก่อนหน้านั้นเรารู้มาแล้วว่าเขาน่าจะได้เรียนเรื่องโครงสร้างการเขียนจดหมายภาษาไทยมาแล้ว เราก็เพิ่มคำศัพท์ ความรู้เกี่ยวกับมารยาทในการเขียน ให้นักเรียนไปเปลี่ยนใส่ข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง”

     “ส่วนฉบับที่สอง นักเรียนเริ่มพึ่งพาตัวเองได้ แต่อาจจะมีติดนิดหน่อยเรื่องใกล้สอบ แต่นักเรียนก็พยายามทำกันมา ส่วนใหญ่ใช้ Google Translate ก็สามารถทำกันได้”

     เมื่อถามถึงความท้าทายอื่นๆ ครูเดียยังเล่าต่อด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

     “อีกปัญหาคือ นักเรียนบางคนไม่มีโทรศัพท์ ทำให้เข้า Meeting กับ WhatsApp ไม่ได้ ก็ใช้วิธีให้เขียนจดหมายถ่ายรูปส่ง ส่วนอีกเรื่องคือตอนฟังภาษาอังกฤษช่วงที่เข้า Meeting  นักเรียนฟังไม่ทัน ฟังไม่ออก เดียก็ใช้วิธีอัดเสียงคำแปลส่งในข้อความให้ตอนที่กำลังพูดอยู่เลย”

     การที่ครูเดียไม่ย่อท้อในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ฟีดแบคของกิจกรรมนี้ออกมาเป็นเชิงบวกอย่างมาก

     “นักเรียนมีความพยายาม เปิดใจมากขึ้น แม้ตอนแรกจะตื่นเต้น แต่ตอนนี้ก็กล้ามากขึ้น สนุกที่จะคุย”

     “เขาเล่าให้ฟังว่าเขาประทับใจเพื่อนญี่ปุ่น และรู้สึกดีกับภาษาอังกฤษ  อยากเรียนรู้และพูดคุยกับคนอื่น  มีนักเรียนมาถามว่า เทอมหน้าจะมีกิจกรรมแบบนี้อีกมั้ย เราทำแบบนี้ตลอดไปเลยจะได้มั้ย”

     “พอเก็บผลตอบรับใน Google Form ก็มีหลายคนบอกว่าอยากให้โรงเรียนผลักดันเรื่องภาษา เดียเองก็เห็นว่าโรงเรียนเรายังไม่ค่อยมีโครงการด้านนี้ ก็นำผลลัพธ์ไปต่อยอดกับโรงเรียนได้”

     กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ครูเดียจัดขึ้น แต่เธอเคยจัดกิจกรรมแนวนี้มาแล้วโดยใช้เครือข่ายส่วนตัว

     “เทอมแรกที่เดียมา เดียจัดกิจกรรม Meeting ออนไลน์ โดยใช้เครือข่ายเพื่อนที่รู้จักจากญี่ปุ่น ฟิลลิปปินส์  ให้นักเรียนมาสัมภาษณ์เพื่อน ทำตัวเป็นนักสืบ มาทายว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน โดยใช้ภาษาอังกฤษ”

     “ส่วนปีที่แล้ว มีกิจกรรมกับ Teach For Brazil เป็นการนำเสนอด้วยภาษาอังกฤษผ่านทาง WhatsApp โดยเขาจะให้โจทย์ต่างๆให้นักเรียนมานำเสนอ เช่น อาหารในโรงเรียนที่ชอบ แนะนำประเทศตัวเอง มีการถ่ายรูป บรรยายภาพ  กิจกรรมนี้จัดกับนักเรียน ม.1-4 และมีเครือข่ายเพื่อนจากหลายประเทศ รวมทั้งครูผู้นำจาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ด้วย”

     เมื่อตั้งข้อสังเกตว่า ครูเดียดูจะให้ความสำคัญกับเรื่องภาษา ครูเดียแบ่งปันว่า

     “สำหรับเดีย ภาษาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นเครื่องมือ ตัวกลาง ทำให้เราไปสู่โลกภายนอกได้อีกเยอะ  อย่างชุดข้อมูล ความรู้บางอย่างไม่มีในภาษาไทย ถ้าเรารู้ภาษา เราก็จะสามารถขยายโลกทัศน์ ไปต่อได้ในหลายๆอย่าง  มีโอกาสที่จะได้เจอเพื่อนใหม่ ชาวต่างชาติอีกเยอะ”

     สำหรับกิจกรรม Classroom Exchange Initiative เมื่อถามครูเดียว่าจะมีการจัดขึ้นอีกไหม เธอบอกว่า

     “ตอนนี้กำลังถอดบทเรียนกิจกรรมอยู่ และเรียนรู้จากปัญหา เช่น เด็กนักเรียนบางคนไม่เขียนจดหมายมา เราก็แก้ปัญหาด้วยการหาเด็กนักเรียนชั้นอื่นมาแทน กำลังเรียนรู้จากปัญหา และกำหนดกลุ่มเป้าหมายว่าใครควรได้เข้าร่วม”

     “ในส่วนของครูที่โรงเรียน ก็ชื่นชมมาว่าเดียมีกิจกรรมมาให้นักเรียนทำเยอะ ช่วยให้นักเรียนได้พัฒนามากขึ้น ก็มีการชมเชยมาด้วยค่ะ”

     การสร้างความร่วมมือกับในชุมชน โดยเฉพาะกับนักเรียนและโรงเรียนเองนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Collective Vision หรือวิสัยทัศน์ร่วม การที่ครูเดียเก็บผลตอบรับเพื่อทำงานร่วมกับโรงเรียนต่อไป จะทำให้โรงเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ดีให้แก่นักเรียนมากขึ้น  เพื่อให้งานของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน เพื่อในวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนจะได้รับการศึกษาคุณภาพอย่างเท่าเทียม