ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 6

เครือข่ายเข้มแข็งสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน

เมื่อคนตัวเล็กๆ หลายคนที่รักและปรารถนาดีต่อชุมชนมารวมตัวกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันสร้าง จนเกิดเป็นเครือข่ายเข้มแข็งก็สามารถขับเคลื่อนพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง และสร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนได้

จุดเริ่มต้นของการเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายความร่วมมือ

“ในปีที่สองของการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เราสนใจที่จะสร้างความร่วมมือกับคนที่อยากพัฒนาการศึกษาในชุมชนคล้ายๆ กับเรา ซึ่งเราได้ใช้ประสบการณ์และทักษะช่วงที่ฝึกงานภาคฤดูร้อนกับทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในการค้นหาข้อมูลของคนทำงานในชุมชน ทำให้เราได้เจอกิจกรรมนับบึงให้ถึงร้อยของครูสัญญา มัครินทร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ การได้เข้าร่วมกิจกรรมวันนั้นทำให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายและได้รับความร่วมมือต่อมา” ครูเต๋าและครูไวท์เล่าถึงครั้งแรกที่เข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายในชุมชนจังหวัดขอนแก่น

ครูสัญญา มัครินทร์ หรือครูสอญอ คือครูที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น และได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้คนในชุมชนจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ครู ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และผู้ประกอบการ

“โครงการนับบึงให้ถึงร้อยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนที่สนใจมาคุยเรื่องขอนแก่นในมุมต่างๆ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่อยากให้เป็น เราได้เจอคนที่อยากพัฒนาเมืองขอนแก่นหลายๆ คน มารวมตัวกัน” ครูไวท์เล่า

ประโยชน์ที่เกิดจากเครือข่าย

เครือข่ายที่ประกอบด้วยผู้คนจากหลายภาคส่วนย่อมก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและองค์ความรู้ รวมถึงศาสตร์ต่างๆ ในหลายแขนง ซึ่งผู้เข้าร่วมนำไปประยุกต์ใช้ในวิชาชีพของตนได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความร่วมมือในการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ อีกด้วย

“ทั้งเครือข่ายก่อการครูขอนแก่น และกิจกรรมนับบึงให้ถึงร้อย เป็นการเปิดพื้นที่สร้างวงสนทนาในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในหลากหลายด้าน ซึ่งผู้เข้าร่วมบางส่วนที่เป็นครูในโรงเรียนต่างๆ ก็ได้นำไอเดียจากการพูดคุยและการทำเวิร์คช็อปไปใช้ในการพัฒนาแผนการสอน ลองใช้ในห้องเรียนซึ่งเป็นประโยชน์กับนักเรียน” ครูเต๋าเล่า

ครูไวท์เล่าถึงความสนับสนุนที่ได้รับในโครงการถ่ายภาพฟิล์มที่จัดขึ้นที่โรงเรียนน้ำพองศึกษาว่า “เราได้รู้จักกลุ่มสังคมที่มีคุณค่า คนที่มีพลังสร้างสรรค์เพื่อสังคม เวลาเราทำโครงการ เราก็หาความร่วมมือได้ง่าย เช่น เราจัดโครงการถ่ายภาพฟิล์มทำโปสการ์ดเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียน พอเราแจ้งไปทางเครือข่าย ร้านฟิล์มกาหลงในขอนแก่นก็มาช่วยสอนนักเรียนล้างฟิล์ม พอเราจะไปตั้งบูธกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ใหญ่ในเครือข่ายก็มาร่วมสนับสนุน การมีเครือข่ายที่ดี ทำให้เราได้รับความสนับสนุนจากหลายส่วน”

และองค์ความรู้ รวมถึงศาสตร์ต่างๆ ในหลายแขนง ซึ่งผู้เข้าร่วมนำไปประยุกต์ใช้ในวิชาชีพของตนได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความร่วมมือในการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ อีกด้วย

“ทั้งเครือข่ายก่อการครูขอนแก่น และกิจกรรมนับบึงให้ถึงร้อย เป็นการเปิดพื้นที่สร้างวงสนทนาในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในหลากหลายด้าน ซึ่งผู้เข้าร่วมบางส่วนที่เป็นครูในโรงเรียนต่างๆ ก็ได้นำไอเดียจากการพูดคุยและการทำเวิร์คช็อปไปใช้ในการพัฒนาแผนการสอน ลองใช้ในห้องเรียนซึ่งเป็นประโยชน์กับนักเรียน” ครูเต๋าเล่า

เครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ในชุมชน

เมื่อเครือข่ายในชุมชนมีความเข้มแข็งและคนในชุมชนร่วมมือกันพัฒนาองค์ความรู้ ก็เกิดเป็นห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ในชุมชนขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ ในชุมชนได้เรียนรู้รากเหง้า อัตลักษณ์ วิถีชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าใจที่มาของตนเอง รู้จักรักและหวงแหนท้องถิ่น

“หนึ่งในเวิร์คช็อปที่ทางเครือข่ายเคยจัดคือ หาแก่นของขอนแก่น ซึ่งเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณของขอนแก่นที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด มีอาจารย์จากเครือข่ายก่อการครู โรงเรียนในขอนแก่น ผู้ใหญ่จากหอการค้า เทศบาล และภาคส่วนอื่นๆ ในจังหวัดเข้าร่วมด้วย” ครูเต๋าเล่า

“ครูสัญญาซึ่งมีบ้านเกิดที่อำเภอสีชมพูก็กำลังจัดโครงการเที่ยววิถีสีชมพู ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในท้องถิ่น และพยายามให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมในชุมชน” ครูไวท์เสริม

ความสำคัญของโรงเรียนกับเครือข่ายในชุมชน

ปัจจุบัน โรงเรียนในประเทศไทยยังไม่เห็นความสำคัญของการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายในชุมชนเท่าที่ควร ด้วยระบบการศึกษาที่เหลื่อมล้ำทำให้เด็กๆ ต้องเดินทางไปเรียนหนังสือในเมืองใหญ่ นำมาซึ่งปัญหาทางสังคมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในการเดินทาง คุณภาพชีวิตที่ต่ำลงเพราะต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการเดินทางมากขึ้น ปัญหาการขาดความอบอุ่นและการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

krutao.1

“ผมรู้สึกว่าในประเทศไทย มีคนที่อยากพัฒนาประเทศเยอะมาก เท่าที่คุยกัน ทุกคนรู้ว่าปัญหาอยู่ที่การศึกษา ผมอยากให้โรงเรียนทุกโรงเรียนร่วมมือกับคนในชุมชนมากกว่านี้ เพราะทุกชุมชนมีภูมิปัญญาน่าสนใจที่สามารถสร้างเป็นการเรียนการสอนได้หลายวิชา ถ้าชุมชนเข้มแข็งเราสามารถสร้างกิจกรรมในชุมชนที่เชื่อมโยงกับโรงเรียนต่างๆ ซึ่งไม่ใช่กิจกรรมที่เหมือนกันทั้งประเทศ แต่มันเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่เป็นจุดแข็งของชุมชนซึ่งทำให้เด็กๆ ภาคภูมิใจ นำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรม สร้างโอกาสสร้างรายได้ต่อไปได้” ครูเต๋ากล่าว

kru White.1

“ถ้าเกิดว่าโรงเรียนมีส่วนร่วมกับเครือข่ายได้ มันคงเป็นภาพที่สมบูรณ์ ถ้าทุกอย่างกลับสู่ชุมชน ถ้าเกิดเรากระจายคุณภาพให้การศึกษาในชุมชนได้ดีกว่านี้ ภาพรวมการศึกษาทั้งจังหวัดทั้งประเทศน่าจะดีกว่านี้” ครูไวท์กล่าวทิ้งท้าย

บทสัมภาษณ์ ครูไวท์ (สุวิมล วัฒนาภา) และ ครูเต๋า (วราสิทธิ์ วัฒนาภา)

ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 6

โรงเรียนน้ำพองศึกษา จังหวัดขอนแก่น